- Details
- Category: CSR
- Published: Saturday, 13 May 2023 23:41
- Hits: 1713
SBTi ประกาศรับรองเครือซีพีตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระยะสั้นภายในปี พ.ศ. 2573 อิงหลักวิทยาศาสตร์ตรงตามมาตรฐานสากล ตอกย้ำความมุ่งมั่นสู่องค์กร Net Zero Emissions
นายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า โครงการริเริ่มเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อิงกับหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets Initiative) หรือ SBTi ได้ตรวจสอบและประกาศให้การรับรองเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระยะสั้นภายในปี พ.ศ. 2573 ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะองค์กรที่มีการกำหนดเป้าหมายสอดคล้องกับเกณฑ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานสากลที่ SBTi กำหนด โดยเครือซีพีได้รับการรับรองเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี พ.ศ. 2573 ทั้งทางตรง (Scope 1) และทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Scope 2) ลงร้อยละ 42 ของปริมาณการปล่อยทั้งหมด รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร (Scope 3) ลงร้อยละ 25 นอกจากนี้ทางทีมผู้เชี่ยวชาญของ SBTi ยังได้มีการตรวจสอบการจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเครือซีพี ว่าเครือฯ มีการจัดทำบัญชีที่ครอบคลุมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างถูกต้อง น่าเชื่อถือเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล และยังพบว่าเครือฯ ต้องให้ความสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม โดยร่วมมือกับคู่ค้าและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่คุณค่าของเครือฯ เพื่อร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด
“การได้รับรองเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระยะสั้นที่อิงกับหลักวิทยาศาสตร์จาก SBTi นับเป็นสิ่งสะท้อนความมุ่งมั่นของกลุ่มธุรกิจในเครือซีพีที่พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกลงครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2573 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)ภายในปี พ.ศ. 2593 เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียลให้ได้ ซึ่งถือเป็นวาระเร่งด่วนที่เราไม่สามารถทำเพียงลำพังได้ ต้องอาศัยความร่วมมือเชื่อมโยงทุกคนต้องช่วยกัน”
นายสมเจตนา กล่าวต่ออีกว่า เครือซีพีได้วางแนวทางสำคัญ 5 ด้านเพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกในปี พ.ศ. 2573 คือ 1.การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน (Sustainable Energy) คือ การอนุรักษ์และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียน 2. การดำเนินงานที่ยั่งยืน (Sustainable Operation) คือ การใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต ขนส่งและโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ การลดของเสียไปสู่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ และการทำความเย็นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 3.เกษตรกรรมที่ยั่งยืน (Sustainable Agriculture) คือ การใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิต ลดการปล่อยและเพิ่มการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในการเกษตรกรรม รวมถึงการใช้และผลิตพลังงานหมุนเวียนจากของเสียการเกษตร 4.การจัดหาวัตถุดิบและการผลิตสินค้าและบริการที่ยั่งยืน (Sustainable Consumption) คือ การจัดหาวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้า หรือการจัดหาสินค้าเพื่อจัดจำหน่าย จากแหล่งผลิตที่ยั่งยืน รวมถึงการผลิตสินค้าและบริการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนของการใช้งาน และ 5.การกำจัดคาร์บอน (Carbon Removal) ทั้งด้วยวิธีทางธรรมชาติอย่างการปลูกและอนุรักษ์ต้นไม้ ป่าไม้ และวิธีทางวิศวกรรม
สำหรับ SBTi เป็นโครงการที่ก่อตั้งเพื่อช่วยให้องค์กรธุรกิจทั่วโลกเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการตั้งเป้าหมายและดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อิงกับหลักวิทยาศาสตร์ โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันระหว่างองค์กร CDP ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระหว่างประเทศซึ่งสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลสิ่งแวดล้อม องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature Inc.), สถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute) และข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact)
A5511