- Details
- Category: CSR
- Published: Saturday, 13 May 2023 01:50
- Hits: 1590
บีเอเอสเอฟ จับมือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเทศบาลนครนนทบุรี ร่วมลงนามเซ็นสัญญา ในโครงการ ‘จัดการขยะอินทรีย์ด้วยถุงพลาสติกชีวภาพ ecovio® ที่ผ่านการรับรองว่าย่อยสลายได้ทางชีวภาพ’
บีเอเอสเอฟ ประเทศไทย จับมือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิทยาศาสตร์ และเทศบาลนครนนทบุรี ร่วมลงนามเซ็นสัญญาร่วมกันในโครงการ “จัดการขยะอินทรีย์เพื่อทำปุ๋ยหมักจากการแยกขยะเศษอาหารด้วยถุงพลาสติกชีวภาพ” เพื่อเป็นโครงการนำร่องสำหรับการศึกษาและพัฒนารูปแบบการจัดการขยะอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับทุกครัวเรือนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ซึ่งถุงพลาสติกชีวภาพดังกล่าวผลิตจากเม็ดพลาสติกชีวภาพ ecovio® ของบีเอเอสเอฟที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพและผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากลทั่วโลก โดยขยะอาหารสามารถย่อยสลายไปพร้อมกับถุงขยะอินทรีย์ด้วยการหมักกลายเป็นปุ๋ยหมักหรือสารอินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อดิน ซึ่งเป็นการจัดการขยะอาหารอย่างยั่งยืนแทนวิธีการฝังกลบแบบเดิม ทั้งนี้ โครงการนี้จะช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการจัดการขยะของประเทศไทยระหว่างปี 2565-2570
มร. คูเปอร์ ลี Director of Sales Management, Specialty Polymers, Asia Pacific, BASF กล่าวว่า “เพื่อตอบรับกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของบีเอเอสเอฟ เรามีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโซลูชั่นใหม่ๆ ที่จะมีส่วนช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่สิ่งแวดล้อมและโลกของเรา ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการแบ่งปันประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับการใช้ถุงพลาสติกชีวภาพในการบริหารจัดการขยะอินทรีย์ รวมทั้ง การสนับสนุนเงินทุนสำหรับการนำไปใช้ในโครงการนี้ และการมอบถุงขยะอินทรีย์ดังกล่าวที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกชีวภาพ ecovio® ของบีเอเอสเอฟ ที่ไม่เพียงแต่จะช่วยให้การคัดแยกขยะเศษอาหารเป็นไปได้อย่างสะดวก สะอาด ถูกสุขอนามัย แต่ยังสามารถคืนคุณค่าให้กับขยะอาหารให้กลับมามีประโยชน์ด้วยการเป็นสารอาหารที่ดีให้กับดินและพืชได้อีกครั้ง โดยจากผลสำรวจได้ระบุว่าในประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยสูงถึง 25 ล้านตันต่อปี และ 64% มาจากขยะอาหาร ทั้งนี้ บีเอเอสเอฟ มุ่งหวังว่าการสนับสนุนด้านนวัตกรรมเคมีที่ทันสมัย และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในครั้งนี้ จะสามารถขับเคลื่อนไปสู่การต่อยอดเพื่อการจัดการขยะอาหารได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสูงสุด”
ศาสตราจารย์ ดร. พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นโครงการสืบเนื่องมาจากโครงการ “นครนนท์โมเดลเพื่อการจัดการขยะอาหารอย่างยั่งยืน” ที่ทางจุฬาฯ โดยคณะวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมมือกับเทศบาลนนทบุรี มาก่อนหน้านี้ ซึ่งนับว่าเป็นการทำงานเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน โดยทางจุฬาฯ เองก็มีโครงการ Chula Zero Waste ที่เป็นโครงการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายภายในมหาวิทยาลัยอย่างเป็นระบบและยั่งยืน รวมทั้งเป็นความมุ่งมั่นของเราในการปลูกฝังจิตสำนึกให้นิสิตและบุคคลากรให้มีความรู้และความเข้าใจ เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและความเป็นพลเมืองโลก สำหรับเป้าหมายของโครงการนี้เพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะอาหารของเทศบาลนนทบุรีที่ยังไม่มีระบบจัดการและคัดแยกขยะมูลฝอยที่เหมาะสม ซึ่งทางจุฬาฯเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการโครงการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ โดยได้ทำงานกับทุกภาคส่วน รวมทั้งช่วยสร้างความตระหนักและความร่วมมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในการคัดแยกขยะอินทรีย์ระดับครัวเรือน เพื่อให้การจัดการขยะอาหารอย่างยั่งยืน
นางสุรภี รุ้งโรจน์ รองนายกเทศมนตรี นครนนทบุรี กล่าวว่า “นนทบุรีเป็นจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของจำนวนขยะที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน และหากไม่มีการบริหารจัดการอย่างเคร่งครัดแล้ว ปัญหาที่เกิดจากปริมาณขยะล้นและขยะเป็นพิษก็จะตามมาอย่างมากมาย อาทิ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ความสกปรก เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคต่างๆ และหากถูกทิ้งไว้นานก็จะกลายเป็นก๊าซที่มีอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งปัจจุบันนั้นยังไม่มีระบบจัดการและคัดแยกขยะที่เหมาะสม การจัดการขยะปัจจุบันยังใช้วิธีการฝังกลบซึ่งอาจจะใช้พื้นที่ต่อได้อีกเพียง 2-3 ปีเท่านั้น ดังนั้น ทางจังหวัดนนทบุรี โดยหน่วยเทศบาลนครนนทบุรี จึงได้ริเริ่มโครงการ “นครนนท์โมเดล” ขึ้นมา โดยได้เลือกทดลองปฏิบัติงานครั้งนี้ ให้เป็นโครงการนำร่องที่หมู่บ้านฟลอรา วงศ์สว่าง ที่มีลูกบ้านอยู่ประมาณ 130 ครัวเรือน โดยมีอาสาสมัครประมาณ 40 ครัวเรือน เข้าร่วมโครงการนี้ในการคัดแยกขยะเศษอาหารด้วยการใช้ถุงขยะที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ พร้อมทั้งเรียนรู้การคัดแยกขยะเศษอาหารอย่างถูกวิธีเพื่อให้เทศบาลสามารถรวบรวมและนำไปกำจัดด้วยกระบวนการหมักได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
A5444