- Details
- Category: CSR
- Published: Wednesday, 10 December 2014 09:41
- Hits: 3189
ปูนอินทรี สนับสนุนค่ายอาสาฯปลูกฝังค่านิยมเสียสละ อุทิศตนเพื่อส่วนรวม
บ้านเมือง : บัณพร บัณฑิต รายงาน
"มองไปข้างหน้า คือ ความหวัง มองไป ข้างหลัง คือ ความภูมิใจ สำหรับกิจกรรมที่น้องๆ ทำปูนอินทรีขอเป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจของนักศึกษาที่มีจิตอาสาทุกคนที่ใช้เวลาว่างช่วงระหว่างปิดภาคการศึกษาให้เป็นประโยชน์ โดยใช้ความรู้ความสามารถที่มีไปสร้างประโยชน์แก่สังคม ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชนบท สร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ให้กับพื้นที่ขาดแคลน" นางสาวจันทนา สุขุมานนท์ ที่ปรึกษาบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ ปูนอินทรี กล่าวในพิธีมอบปูนซีเมนต์จำนวน 130 ตัน แก่นักศึกษาจำนวน 21 ชมรม จาก 11 สถาบันการศึกษา เพื่อใช้ในการออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท ภาคเรียนที่ 2 โดยผู้บริหารท่านนี้ยังย้ำด้วยว่า ปูนอินทรีพร้อมให้การสนับสนุนกิจกรรมดีๆเช่นนี้ตลอดเวลา เพราะถือเป็น "การปลูกฝังค่านิยมการเสียสละเพื่อส่วนรวม" ให้กับนิสิตนักศึกษาซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต
ปูนอินทรี มีนโยบายหลักในการเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบและเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม บริษัทฯ จึงมุ่งให้ความช่วยเหลือสังคมและสร้างสิ่งที่ดีให้กับชุมชนมาโดยตลอด การสนับสนุนปูนซีเมนต์ ให้กับค่ายอาสาพัฒนาชนบทของเหล่านิสิตนักศึกษาเพื่อดำเนินกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ขาดแคลน เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ปูนอินทรีได้ให้การสนับสนุนเยาวชนของชาติได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เพื่อเป็นทั้งคนเก่งและดี เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญที่สุด คือ การเสียสละอุทิศตนเพื่อส่วนรวม
นางสาวกิติ์ชญาน์ ศรีสวัสดิ์พัฒนา (หลิว) วิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยรังสิต ตัวแทนจากชมรมประชานุเคราะห์ กล่าวว่า พวกเราเป็นเด็กที่ได้รับทุนจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อได้รับโอกาสที่ดี พวกเราก็อยากแบ่งปันน้องๆ ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
สิ่งที่ท้าทายในการทำค่าย คือ การบริหารจัดการเพื่อให้ ทุกอย่างลงตัว ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะปีนี้ ไปซ่อมอาคารเรียน ที่โรงเรียนบ้านห้วยกบ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เป็นโรงเรียน ที่อยู่บนเขาเดินทางไปมาลำบากมาก ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ เพราะฉะนั้น การจะดูและสมาชิกค่ายกว่า 80 คน ให้ดีทั้งเรื่องอาหารการกิน สุขภาพอนามัย รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ที่จะไปซ่อมสร้างก็ต้อง ให้ครบถ้วน ต้องบริหารทุกอย่างให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อไม่ให้อะไรขาดแคลนและสามารถดำเนินการซ่อมแซมอาคารบนนั้นให้แล้วเสร็จทันตามกำหนดและตรงตามวัตถุประสงค์
เช่นเดียวกับ นายฉัตรดนัย อื้อศรีวงศ์ (เจ๋ง) นักศึกษาชั้น ปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวต่อเรื่องเดียวกันว่า เป็นเรื่องที่ท้าทายมากที่ต้องทำทุกอย่าง ให้แล้วเสร็จอย่างเรียบร้อยภายในระยะเวลา 10 วัน ปีนี้ไปออกค่ายที่โรงเรียนบ้านซอแบะ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ขาดแคลนมาก อาคารไม่ได้มาตรฐานแต่โรงเรียนไม่มีงบประมาณในการรื้อถอน เราต้องไปรื้อและช่วยสร้างให้ใหม่ ด้วยความไม่พร้อมของโรงเรียน เด็กๆที่เข้ามาเรียนที่นี่จึงลดลงทุกปี พวกเราหวังว่าหลังจากอาคารเรียนแล้วเสร็จ จะมีน้องๆเข้ามาเรียนเพิ่มมากขึ้น
"สิ่งที่ได้รับจากการร่วมกิจกรรมค่ายอาสา นอกจากต้องมีความรับผิดชอบ ความสามัคคีกันแล้ว ยังได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับสาขาวิชาอื่นๆ ได้นำทฤษฎีที่ร่ำเรียนมาใช้ปฏิบัติจริง ซึ่งในชีวิตการทำงานจริงเราต้องเจอแน่นอน การทำงานต้องมีการวางแผนอย่างชัดเจน เพื่อให้ทุกอย่างออกมาแล้วมีความผิดพลาดน้อยที่สุด แต่สิ่งที่ได้รับมาทั้งหมด ผมว่าคงไม่มีอะไรจะสุขใจเท่ากับการได้เป็น "ผู้ให้" บ้างนะครับ" เป็นคำกล่าวทิ้งท้ายของหนุ่มน้อยหัวใจอาสาในวันนั้น