- Details
- Category: CSR
- Published: Wednesday, 23 November 2022 18:22
- Hits: 1999
ถอดแนวคิดเยาวชนรุ่นใหม่ ‘เท่อย่างไทย’ สู่พลัง Thailand Soft Power ในโครงการ ‘เท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี’ ประจำปี 2565
การประกวดโครงการ “เท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี” ประจำปี 2565 ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 50 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พร้อมรางวัลทุนการศึกษา ได้มีการประกาศผลการตัดสินรอบชิงชนะเลิศเรียบร้อยแล้ว โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการ คือ การจุดประกายเยาวชนให้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าในเอกลักษณ์ไทย ไม่ว่าจะเป็นการพูด และมารยาทอันดีงามของไทย รูปแบบการประกวดในปีนี้จะเป็นแบบไฮบริด คือ มีการประกวดในรูปแบบออนไลน์ในรอบคัดเลือก และรูปแบบออนไซต์ในรอบชิงชนะเลิศ โดยในปีนี้มีโรงเรียนทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการมากถึง 1,276 โรงเรียน และเยาวชนกว่า 8,933 คน ซึ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าปี 2562 ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ที่มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการ 2,146 คน
นางสาวมาริสา จงคงคาวุฒิ หัวหน้ากิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เผยว่า “ทีเอ็มบีธนชาต มุ่งมั่นสานต่อกิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ผ่านโครงการไฟ-ฟ้า (fai-fah) โดยทีทีบี มุ่งจุดประกายเยาวชนและชุมชนเสริมสร้างสิ่งดีๆ คืนสู่สังคมไทย สร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายให้ผู้คน ตอกย้ำปรัชญา Make REAL Change โดยได้จัดการประกวดโครงการ “เท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี” ครั้งที่ 50 ประจำปี 2565 เพื่อเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนแสดงความสามารถของตัวเองได้อย่างเต็มที่ โดยมุ่งส่งเสริมให้เยาวชนร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ พร้อมส่งต่อสำนึกรักความเป็นไทยสู่สังคมอย่างยั่งยืนและแผ่ขยายให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล ผลักดัน Soft Power ของไทยสู่การยอมรับของเวทีโลก”
“ปีนี้ได้มีการจัดการประกวดในรูปแบบไฮบริด คือ การประกวดในรูปแบบออนไลน์ในรอบคัดเลือก เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียน และ เยาวชนทุกภาค ทุกพื้นที่ทั่วประเทศสามารถเข้าถึงการประกวดได้อย่างเท่าเทียมเป็นวงกว้าง และรูปแบบออนไซต์ในรอบชิงชนะเลิศ โดยยังคงแบ่งการประกวดออกเป็น 3 ประเภท คือ ประกวดมารยาทไทย ประกวดอ่านฟังเสียง และประกวดวาดภาพดิจิทัล การประกวดทำให้เห็นถึงมุมมองของเด็กไทยยุคใหม่ที่เติบโตท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่ยังเห็นคุณค่าของ ‘ความเป็นไทย’ นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดัน Soft Power ด้านศิลปวัฒนธรรมไทยต่อไป” นางสาวมาริสากล่าว
การเดิน ยืน นั่ง และไหว้อย่างไทย วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่กำลังจะถูกแทนที่ด้วยภาพลักษณ์แบบสากล แต่สำหรับน้องๆ ทีมชนะเลิศระดับมัธยมต้น ตัวแทนชมรมมารยาทไทย โรงเรียนจตุรมิตรวิทยา จังหวัดขอนแก่น เชื่อว่า มารยาทไทยเป็นเอกลักษณ์ที่เด็กรุ่นใหม่ต้องช่วยกันรักษา “สำหรับพวกเรามารยาทไทยสำคัญมากๆ เพราะสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ เวลาที่เราวางตัวดี ดูอ่อนน้อม เวลาเข้าหาผู้ใหญ่ก็จะเอ็นดู ต้องฝึกฝนมากๆ”
เช่นเดียวกับทีมชนะเลิศการประกวดมารยาทไทย ระดับมัธยมปลาย โรงเรียนศรียานุสรณ์ จังหวัดจันทบุรี ที่มีทั้งคนที่เคยประกวดมาแล้วหลายปีและน้องใหม่ที่เพิ่งเข้าประกวดเป็นปีแรก แต่ก็มีเป้าหมายเดียวกัน คือ แสดงพลังเท่ๆ ของคนรุ่นใหม่ผ่านมารยาทไทย “มารยาทไทยเป็นอะไรที่เท่มากสำหรับพวกเรา โดยเฉพาะการไหว้มีแค่ประเทศไทยประเทศเดียวที่มีวัฒนธรรมแบบนี้ ขนาดต่างชาติยังชื่นชม เลยอยากให้คนรุ่นเราช่วยกันรักษาวัฒนธรรมนี้เอาไว้ และคนที่มีมารยาทดี รู้จักการไหว้ที่ถูกต้อง ยังปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทำให้บุคลิกภาพดี ดูสง่า เป็นที่จดจำ อนาคตไปสมัครงานหรือไปเวทีระดับโลกจะต้องเป็นที่จดจำแน่นอน”
อีกหนึ่งเอกลักษณ์ไทยที่ต้องเร่งสร้างความตระหนักกับเยาวชนให้เห็นถึงคุณค่าคือ “การอ่านฟังเสียง” เด็กชายภูริวัชญ์ สมานรัตนเสถียร โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ รางวัลชนะเลิศประกวดอ่านฟังเสียงระดับ ระดับมัธยมต้น มองว่า “การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเป็นเรื่องที่ดี เพราะการใช้คำในปัจจุบัน บางอย่างมีความกำกวม ถ้าเราใช้คำพูดได้อย่างถูกต้อง พูดชัดถ้อยชัดคำ จะทำให้การสื่อสารเข้าใจง่ายและไม่คลาดเคลื่อนครับ ผมคิดว่าในฐานะที่ผมเป็นเยาวชน ก็ทำสิ่งนี้ต่อไปเรื่อยๆ และทำให้ดีที่สุด อย่างการฝึกอ่านออกเสียงและเรียนรู้วิธีการพูดให้ถูกต้อง คนทั่วไปอาจจะคิดว่ามันน่าเบื่อ แต่สำหรับผมคิดว่ามันน่าสนุก ได้ท้าทายตัวเอง แล้วก็ชวนเพื่อนๆ ให้มาลองทำด้วยกัน ก็จะช่วยให้วัฒนธรรมคงอยู่ต่อไปได้ครับ”
เด็กหญิงนุชวรา วัฒนศิริ โรงเรียนศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี รางวัลชนะเลิศประกวดอ่านฟังเสียงระดับมัธยมต้น เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเด็กรุ่นใหม่ที่คิดว่า “การอ่านภาษาไทยให้ชัดถ้อยชัดคำมันเท่มาก เป็นคนชอบอ่านหนังสือ ชอบเขียนไดอารี่ เลยเข้าใจว่าการใช้ภาษาให้ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ของไทย ทุกๆ ภาษามีคุณค่าในตัวเองอยู่แล้ว เวลาเห็นคนพูดชัด อ่านถูกต้อง เขียนถูกต้อง ทำให้ภาษามีคุณค่ามากยิ่งขึ้น”
นางสาวพรรธน์ชนัน ทิพชัยวรภัทร์ โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี รางวัลชนะเลิศประกวดอ่านฟังเสียง ระดับมัธยมปลาย “กว่าเธอจะคว้าถ้วยรางวัลชนะเลิศใช้เวลากว่า 4 ปี ฝึกฝน ลงแข่ง และฝึกฝนซ้ำๆ จนในที่สุดก็ทำสำเร็จ ทุกครั้งที่ฝึกอ่าน ก็พบเทคนิคใหม่ๆ อยู่เสมอ ยิ่งทำให้เราเห็นเสน่ห์ของภาษาไทย แค่เปลี่ยนจังหวะหรือเว้นวรรค อารมณ์ความรู้สึกก็เปลี่ยน อยากให้เพื่อนๆ ที่คิดว่าตัวเองมีความสามารถด้านนี้ หรืออยากลองท้าทายตัวเอง มาสมัครแข่งขันกันเยอะๆ รับรองว่าจะตกหลุมรัก”
ด้านเด็กหนุ่มลูกครึ่งไทย-อเมริกัน นายทรอย วินน์ ฮอร์ตัน โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ รางวัลชนะเลิศการประกวดอ่านฟังเสียง ระดับมัธยมปลาย พูดด้วยความมั่นใจว่าชอบภาษาไทยมาตั้งแต่เด็ก แม้ว่าจะพูดได้สองภาษา แต่กลับรู้สึกตกหลุมรักภาษาไทยมากกว่า “ผมรักความเป็นไทย มันมีเสน่ห์ และมีประวัติศาสตร์ที่ผมอยากให้คนรุ่นผมหรือน้องๆ ภูมิใจ ส่วนตัวมองว่าเท่นะ ยิ่งถ้าพูดถูกต้อง ทำให้ดูเป็นคนที่มีบุคลิกภาพดี เวลาที่ผมคุยแชต ผมจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่พิมพ์ว่ามันถูกต้องหรือเปล่า ถูกต้องหมายถึงพิมพ์ถูกและเลือกใช้คำได้ถูกด้วย”
สำหรับการประกวดวาดภาพดิจิทัล ที่เริ่มจัดให้มีการประกวดครั้งแรกในปี 2021 เนื่องจากต้องการเชื่อมต่อกับรุ่นใหม่ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะในรูปแบบและวิธีการใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับยุคปัจจุบันและสะท้อนให้เห็นถึงความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ความเป็นไทย ภายใต้หัวข้อ “Thailand Soft Power ปลุกพลังความเป็นไทย ให้ก้าวไกลสู่สากล” เด็กหญิงปวริศา อนันตศิริ โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ จังหวัดกาญจนบุรี รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จากผลงานวาดภาพดิจิทัล ‘สุดเท่เสน่ห์ไทย’ ต้องการนำเสนอ Soft Power ผ่านโซเชียลมีเดียจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยใช้แสงให้เป็นจุดเด่น สื่อถึงการท่องเที่ยวในเวลากลางคืน (Night Life) และ สตรีทฟู้ด (Street Food) ตลอด 24 ชั่วโมงเป็นจุดเด่นของเมืองไทย สำหรับการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยสามารถทำได้หลายวิธี ส่วนตัวคิดว่าการวาดรูปที่สื่อถึงความเป็นไทยและโพสต์รูปลงในโซเชียลมีเดีย เนื่องจากจะอยู่ในนั้นตลอดไปและเพื่อนๆ จะได้เห็น ที่สำคัญทุกคนจากทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้”
ด้านนายจิรายุ ทองจันทร์ โรงเรียนศรีสงครามวิทยา จังหวัดเลย รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มองว่า ‘Soft Power’ คือสิ่งที่ช่วยผลักดันประเทศไทยให้ก้าวหน้านำไปสู่คอนเซปต์ของผลงาน ‘เยาวชนรวมพลัง’ “ผมมองว่าตอนนี้ประเทศไทยมีเยาวชนที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศเยอะมากๆ เช่น มิลลิ ที่เอาข้าวเหนียวมะม่วงไปโชว์บนเวทีระดับโลก และ Soft Power ของไทยก็มีหลายอย่างที่มีชื่อเสียง การอนุรักษ์วัฒนธรรมไม่ใช่เรื่องล้าสมัย อยู่ที่ว่าเราจะนำเสนออย่างไร ส่วนตัวก็เลือกนำเสนอผ่านภาพวาดดิจิทัล หาวิธีเล่าเรื่องให้แปลกใหม่จะทำให้ดูน่าสนใจมากขึ้น”
เหล่านี้ คือ มุมมองของเด็กรุ่นใหม่ที่เชื่อว่า ‘เท่อย่างไทยๆ ก็เป็น Soft Power ได้’ ไม่ว่าจะเป็นใคร มีความสามารถด้านไหนก็ช่วยกันอนุรักษ์ความเป็นไทยตามแต่วิธีการของตัวเอง ก็สามารถที่จะรักษาคุณค่าความเป็นไทย ด้วยการสืบต่อคุณค่าของมารยาทไทย สืบสานความงดงามด้านภาษา และสร้างความเท่อย่างไทยด้วยวิธีการใหม่ๆ ได้นั่นเอง
สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืนโดยทีทีบีด้านการจุดประกายความเป็นไทยได้ที่ www.เท่อย่างไทย.com และกิจกรรมสังคมอื่นๆ ได้ที่ www.ttbfoundation.org
A111013