- Details
- Category: CSR
- Published: Monday, 21 November 2022 11:59
- Hits: 1218
มอบชีวิตใหม่โค-กระบือ พร้อมต่อยอดอาชีพให้เกษตรกร ผ่านโครงการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมไถ่ชีวิตโค-กระบือถวายเป็นพระราชกุศล
หลายคนคงเคยมีคำถามกับตัวเองว่า การร่วมไถ่ชีวิตสัตว์ใหญ่ที่มีความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมของไทยมาอย่างยาวนานอย่าง” โค กระบือ” นั้น หลังจากที่มอบชีวิตใหม่ให้กับโคกระบือแล้ว สัตว์เหล่านี้จะมีชีวิตเช่นไรต่อไป? ตัวแทนจากเกษตรกร ผู้ได้รับการมอบกระบือจาก “โครงการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมไถ่ชีวิตโค-กระบือถวายเป็นพระราชกุศล” มีคำตอบ เพราะหลายครอบครัวสามารถพลิกชีวิต สร้างรายได้ที่มั่นคงจากการเลี้ยงโคกระบือที่ได้มาจากการร่วมบริจาคไถ่ชีวิต แม้ว่าปัจจุบันจะไม่ได้เป็นแรงงานสำคัญในการเกษตรเหมือนในอดีต และกระบือมีจำนวนการเลี้ยงน้อยลงก็ตาม แต่กระบือไทยก็ถือว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงเพื่อการขยายพันธุ์ โดยมีราคาที่ค่อนข้างสูง สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน พร้อมขยายผลไปสู่การอนุรักษ์และเพาะพันธุ์กระบือให้อยู่คู่ประเทศไทยต่อไป
นางวรดา โสภาพร เกษตรกรในโครงการฟาร์มกระบือทันสมัย เจ้าของโสภาพรฟาร์ม เปิดเผยว่า ดั้งเดิมครอบครัวทำอาชีพเกษตรกร ทำนาข้าวและปลูกยางพารา โดยมีผลกระทบต่อสุขภาพจากสารพิษตกค้างจากยาฆ่าหญ้า เมื่อมีโครงการดีๆ ของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์เข้ามาก็สนใจ เนื่องจากแต่เดิมสมัยรุ่นพ่อได้เคยเลี้ยงโคกระบือมาก่อน ปัจจุบันเข้าร่วมโครงการมา 5 ปีแล้วพบว่ามาถูกทาง นอกจากโครงการจะมอบกระบือมาให้จำนวน 8 แม่ในช่วงเริ่มแรก และยังมีเจ้าหน้าที่มาติดตามคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำ รวมถึงพาไปดูงานที่ต่างๆ ให้องค์ความรู้ในการเลี้ยงและการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ จนปัจจุบันมีกระบือ จำนวน 50 ตัว ที่เมื่อขยายพันธุ์มีลูก ก็สามารถนำไปขายสร้างรายได้หมุนเวียนอย่างยั่งยืน รวมถึงมีรายได้จากการขายมูลควายเพื่อเอาไปทำเป็นปุ๋ย เดือนละกว่า 300 กระสอบ กระสอบละ 40 บาท เป็นเงินกว่า 12,000 บาทต่อเดือน นอกจากจะทำให้โรงเรือนสะอาดถูกสุขลักษณะแล้วยังสามารถสร้างได้เสริมให้ครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง ปัจจุบันได้ตัดสินใจมาทำอาชีพเลี้ยงกระบือเพื่อส่งต่อถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เป็นอาชีพที่ยั่งยืนและสามารถพลิกชีวิตจากการกู้ยืมธนาคารธกส.มาเพื่อลงทุนทำการเกษตร โดยรายได้จากการเลี้ยงกระบือสามารถทำให้มีรายได้ที่ดีขึ้นไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินอีกต่อไป
“ถ้าเราเลี้ยงเองแบบตาสีตาสาไม่มีองค์ความรู้ใดๆ ก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ ขอขอบคุณทางเจ้าหน้าที่มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์และทางปศุสัตว์ที่เข้ามาดูแลให้คำแนะนำประคับประคองคอยช่วยเหลือมาจนถึงทุกวันนี้ รู้สึกซาบซึ้งใจเป็นอย่างมาก รวมถึงขอขอบคุณท่านผู้มีจิตกุศลที่ได้ร่วมบริจาคเงินให้แก่ โครงการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ร่วมไถ่ชีวิตโค-กระบือถวายเป็นพระราชกุศล เพื่อไถ่ชีวิตโคกระบือให้แก่เกษตรกร ขอเป็นตัวแทนเกษตรกรในโครงการขอบคุณทุกท่านและขอให้กุศลผลบุญในครั้งนี้จงดลบันดาลให้ท่านและครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุขและมีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป”
นายเอกชัย สุขจันดา เกษตรกรในโครงการฟาร์มกระบือทันสมัย เจ้าของเอกศิริฟาร์ม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เปิดร้านขายของชำ แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงก็เลยมองหาลู่ทางที่จะประกอบอาชีพอื่น จนมาเจอโครงการของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์จึงสมัครเข้าร่วมโครงการ ปัจจุบันเข้าร่วมมา 5 ปีแล้ว ชีวิตเปลี่ยนแปลงดีขึ้นมาก ส่วนตัวมองว่าการเลี้ยงกระบือเมื่อเราเลี้ยงไปจะมีความผูกพัน มีค่าทางจิตใจและเรายังสามารถสร้างรายได้จากการขายมูลกระบือ รวมถึงลูกกระบือ ลูกพันธุ์ตัวไหนที่ลักษณะไม่ดีก็ขายออกไป นำเงินมาใช้จ่ายในครัวเรือนได้ โดยแรกเริ่มไม่ได้มีความรู้เรื่องการเลี้ยงกระบือมาก่อน ก็จะมีเจ้าหน้าโครงการเข้ามาให้คำแนะนำ รวมถึงมีสัตวแพทย์เข้ามาให้ความรู้ในด้านเวชภัณฑ์ สอนวิธีการฉีดยา กระบือป่วยเป็นลักษณะอย่างไร รวมถึงพื้นฐานของการดูแลกระบือให้สุขภาพแข็งแรง ตอนนี้ที่ฟาร์มผสมพันธุ์โดยการผสมเทียม ใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์ชื่อดาวรุ่ง ซี.พี. เพื่อให้ลูกพันธุ์ที่ดี ปัจจุบันที่ฟาร์มมีกระบือทั้งหมด 25 ตัว
“โครงการนี้ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับครอบครัว รวมถึงได้ร่วมกันพัฒนากระบือไทยของเรา ในอนาคตฟาร์มแห่งนี้จะพัฒนาจนมีพันธุ์เป็นของตัวเอง โดยร่วมมือกับเครือข่ายภาครัฐด้วย ซึ่งส่วนตัวมองว่าโครงการนี้ยังมีส่วนสร้างความอบอุ่นให้กับครอบครัวของเรามากยิ่งขึ้น เช่น บางทีลูกก็มาช่วยเลี้ยงกระบือเป็นการใช้เวลาว่างร่วมกัน เพราะสิ่งนี้เราทำไว้เพื่อลูกหลานของเรา ให้เค้าได้สืบทอดต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน ผมมองว่าเป็นอาชีพที่ดีที่คนไทยมักจะมองข้ามกัน สุดท้ายนี้ผมเชิญชวนคนมาร่วมบริจาคไถ่ชีวิตโคกระบือร่วมกับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อที่จะเป็นต่อยอดเป็นรายได้ที่ยั่งยืนของเกษตรกร และขอขอบคุณผู้ใจดีใจกุศลทั้งหลายที่ร่วมกันบริจาคมา ณ โอกาสนี้ด้วย”
นายสุพชัย ปัญญาเอก ผู้จัดการโครงการฟาร์มกระบือทันสมัย มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า โครงการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมไถ่ชีวิตโค-กระบือถวายเป็นพระราชกุศล เป็นโครงการต่อเนื่องที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยร่วมกับ กรมปศุสัตว์ และธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ (ธคก.) โดยแรกเริ่มมอบโค-กระบือให้เกษตรกรเพียงครอบครัวละ 1 ตัว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 - 2555 ได้ไถ่ชีวิตแม่โคและแม่กระบือพันธุ์พื้นเมือง จำนวน 2,240 ตัว เพื่อมอบให้เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในชนบท 197 หมู่บ้าน ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี มุกดาหาร อำนาจเจริญ นครพนม บึงกาฬ หนองคาย เลย และสงขลา รวม 11 จังหวัด จำนวน 2,240 ครอบครัว ต่อมามีการประเมินผลโครงการเมื่อครบ 10 ปี พบว่าเกษตรกรมีการขายโคกระบือไปจำนวนมาก ไม่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน ทางโครงการจึงปรับรูปแบบมาเป็นโครงการใหม่ภายใต้ชื่อ “ฟาร์มกระบือทันสมัย (Buffalo Modern Farm)” ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันเพื่อผลักดันให้เป็นการอนุรักษ์เชิงธุรกิจที่เกษตรกรสามารถสร้างอาชีพและสร้างรายได้ด้วยตัวเอง เป็นโครงการที่ปรับเปลี่ยนการบริหารและการจัดการจากเลี้ยงฝูงเล็ก 2 - 3 ตัว เป็นการเลี้ยงฝูงใหญ่ 20 - 30 ตัว ทำเป็นฟาร์มกระบือทันสมัย โดยโครงการจะมอบกระบือที่ไถ่ชิวิตเป็นกระบือแม่พันธุ์สุขภาพดีแข็งแรงพร้อมให้ลูกจำนวน 8 ตัว ให้แก่เกษตรกรที่มีความพร้อมในการเลี้ยงและขยายพันธุ์กระบือ ซึ่งจะมีทีมงานและกรมปศุสัตว์เข้าไปดูแลให้คำแนะนำในการเลี้ยง การฉีดวัคซีน ให้องค์ความรู้ต่างๆ เป็นพี่เลี้ยงให้แก่เกษตรกร จนทำให้เกษตรกรสามารถสร้างอาชีพและรายได้จากการเลี้ยงกระบือได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้โครงการฯ ยังให้ความสำคัญในเรื่องของการอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์กระบือไทย เกษตรกรจัดทำข้อมูลพันธุ์ประวัติสัตว์ทุกตัว และโครงการฯ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จะมาช่วยกันในการพัฒนาควายไทยให้มีสายพันธุ์ดีขึ้น มีการเก็บข้อมูลสัดส่วนเรื่องการถ่ายทอดพันธุกรรมและคัดเลือกตัวที่ดีที่สุดของฟาร์มเอาไว้เพื่อจะผสมตัวอื่นๆ ในคอกเพื่อยกระดับสายเลือดพันธุกรรมให้มันดีขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวของโครงการ เพื่ออนุรักษ์ควายไทยให้อยู่คู่ประเทศไทยสืบไป
สำหรับปี 2565 ทางโครงการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมไถ่ชีวิตโค-กระบือถวายเป็นพระราชกุศล จะจัดพิธีไถ่ชีวิตและมอบโคกระบือที่จังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 15 ธันวาคม จำนวน 111 ตัว ส่งมอบให้แก่เกษตรกรทั้งหมด 15 ราย จึงขอเชิญชวนท่านผู้ที่มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเพื่อไถ่ชีวิตโคกระบือ ได้ที่มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ฯ โดยสามารถโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ (กองทุนไถ่ชีวิตโค-กระบือ)” ธนาคารกรุงเทพ เลขที่บัญชี 133 – 4 – 89508 – 1 ธนาคารกสิกรไทย เลขที่บัญชี 001 – 2 – 83260 – 7 ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 168 – 2 -03977 – 2 ขอใบเสร็จรับเงิน กรุณาส่งหลักฐานการบริจาคพร้อม ชื่อ-นามสกุล เบอร์ติดต่อและที่อยู่สำหรับส่งใบเสร็จฯ มาที่ สำนักบริหารโครงการพิเศษ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด อาคาร ซี.พี.ทาวเวอร์ ชั้น 12 หรือ E-mail : [email protected] สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0-2766-8311
A11931