- Details
- Category: CSR
- Published: Sunday, 07 December 2014 20:06
- Hits: 3624
IRPC ชูต้นแบบจัดการน้ำเขตอุตฯ หวังเพิ่มคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย
บ้านเมือง : IRPC โชว์ต้นแบบความสำเร็จการจัดการน้ำในเขตประกอบการอุตสาหกรรม จ.ระยอง สู่โครงการ ‘สร้างคลอง สร้างคน’พัฒนาแหล่งน้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวบ้านหนองยาง จ.บุรีรัมย์ รับมือภัยแล้งรุนแรงปี 58 พร้อมมุ่งพัฒนาการศึกษาโรงเรียนในพื้นที่ผ่านโครงการ 1 ช่วย 9 ของ สมศ.
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า ‘โครงการสร้างคลอง สร้างคน’ เป็นโครงการจัดการแหล่งน้ำในพื้นที่บ้านหนองยาง ต.ลำไทรโยง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ที่ได้ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิเพื่อการศึกษาและประชาสงเคราะห์ มาตั้งแต่ มี.ค.-มิ.ย.57 โครงการแล้วเสร็จและประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ทำให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนดีขึ้น ได้มีแหล่งน้ำสำหรับทำน้ำประปาและสำรองใช้เพื่อการเกษตร เพื่อรับมือกับภัยแล้งใน 2558 ที่มีแนวโน้มว่าอาจเกิดขึ้น
บริษัทไออาร์พีซีฯ ได้นำองค์ความรู้ของพนักงาน ผนวกกับนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำในชุมชนรอบเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จังหวัดระยอง (4 ตำบล 1 เทศบาลเมือง) ที่ประสบความสำเร็จมาเป็นต้นแบบดำเนินการ พร้อมกับสนับสนุนงบประมาณให้กับมูลนิธิเพื่อการศึกษาและประชาสงเคราะห์ซึ่งมีประสบการณ์ในการพัฒนาชุมชนอยู่แล้ว โดยการขุดลอกอ่างเก็บน้ำ 5 อ่าง พื้นที่รวม 18 ไร่ ให้ลึกลง 4 เมตร และปรับให้เชื่อมกัน โดยน้ำจะไหลเข้าอ่างที่ 1, 2 และ 4 เพื่อพักให้ตกตะกอน แล้วมีทางน้ำล้นและท่อผ่านไปยังอ่าง 3 และ 5 ตามลำดับก่อนสูบไปทำน้ำประปา
ส่วนผลของความสำเร็จโครงการ ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มจาก 41,000 ลูกบาศก์เมตร เป็น 91,000 ลูกบาศก์เมตร ชุมชนได้รับประโยชน์จากการได้ใช้น้ำประปาและน้ำสำหรับการเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 350 ครัวเรือน เป็น 440 ครัวเรือน รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากการทำสวนครัว ครัวเรือนละ 30,000 บาทต่อปี รวมทั้งหมู่บ้าน 6 ล้านบาทต่อปี ดินที่ได้จากการขุดลอกส่วนหนึ่งนำไปขายให้เกษตรกรในราคาถูกจำนวน 47,300 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นเงิน 1.3 ล้านบาท (ราคาตลาด 3.2 ล้านบาท) และอีกส่วนหนึ่งจำนวน 7,000 ลูกบาศก์เมตร นำไปถมสถานที่เตรียมการสร้างศูนย์ต้อนรับนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศป่าดอนโจร ป่าชุมชนของหมู่บ้านเนื้อที่ 2,800 ไร่ ที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว เมื่อปี 2553
"โครงการ ‘สร้างคลอง สร้างคน’นั้นอยู่ภายใต้เจตนารมณ์และนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่มุ่งเน้นหลักการดูแลรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งในพื้นที่การผลิตและในสังคมไทยโดยรวม สร้างความพึงพอใจ ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย รวมถึงสร้างจิตสำนึกให้พนักงานในเรื่องการเผื่อแผ่ความรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานสู่ชุมชนและสังคมด้วยความห่วงใย แบ่งปัน และใส่ใจ ผ่านกิจกรรม และโครงการต่างๆ ซึ่งยังจะช่วยต่อยอดให้เกิดการเรียนรู้ วิจัย และพัฒนาร่วมกันอีกด้วย"
นอกเหนือจากโครงการจัดการน้ำเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่แล้ว บริษัทฯ ยังถือโอกาสนำกองกำลังอาสา ซ่อม เสริม เติม สุข โดยนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี จ.ระยอง เข้าปรับปรุงพื้นที่อาคารเรียน และซ่อมแซมระบบไฟฟ้า ภายใต้โครงการ ‘๑ ช่วย ๙’ของบริษัทฯ ให้กับโรงเรียนบ้านหนองทองลิ่ม และโรงเรียนบ้านหนองยาง จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 28 พ.ย.-2 ธ.ค.57 เพื่อพัฒนาและยกระดับด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมของโรงเรียน เพื่อสร้างความสุข ความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นให้กับคณะครู นักเรียน และผู้ปกครองในปีใหม่นี้
ทั้งนี้ โครงการ '๑ ช่วย ๙' เป็นโครงการของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและหน่วยงานเอกชน ในการช่วยกันพัฒนายกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนต่างๆ โดย IRPC เป็นหนึ่งในเก้าหน่วยงานภาคเอกชน ที่มีภารกิจสนับสนุนโรงเรียน 9 แห่ง ให้มีมาตรฐานการศึกษาที่ดีขึ้นตามเกณฑ์ของ สมศ. โดยใช้ศักยภาพของพนักงานและองค์ความรู้ของ IRPC ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบริษัทฯ และกลุ่ม ปตท. ในการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสบนพื้นฐานของการพัฒนา ช่วยเหลือ และรับผิดชอบต่อสังคมในมิติต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษา
สำหรับ โครงการที่ IRPC ดำเนินการโดยออกแบบร่วมกันกับโรงเรียนในโครงการ จะเน้นการพัฒนาใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.สาระความรู้วิชาการ (ค่ายวิชาการ) 2.การส่งเสริมจริยธรรม (ค่ายจริยธรรม) 3.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (IRPC กองกำลังอาสา ซ่อม เสริม เติม สุข) 3.บทบาทของโรงเรียนในการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม (สร้างแหล่งเรียนรู้เพื่อบริการชุมชน)
อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการ CSR ในรูปแบบต่างๆ ของ IRPC เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี และเอื้อประโยชน์ทั้งต่อองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย อันจะทำให้องค์กร ชุมชน และสังคมสามารถเติบโตพัฒนาควบคู่กันไปได้อย่างยั่งยืนและมีความสุข