- Details
- Category: CSR
- Published: Friday, 30 September 2022 07:56
- Hits: 1138
มูลนิธิศุภนิมิตฯ จัดเวทีเสวนา รวมพลังเยาวชน ร่วมใส่ใจ โลกไร้ความรุนแรง พัฒนาทักษะชีวิตและอาชีพเพื่ออนาคตเด็กไทย
มูลนิธิศุภนิมิตฯ สานต่อ โครงการยุติความรุนแรงต่อเด็ก ปี 2565 ภายใต้แนวคิด “ละเลย เลยรุนแรง” จัดกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ จากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และ ตัวแทนผู้นำเยาวชน ในหัวข้อ“รวมพลังเยาวชน ร่วมใส่ใจ โลกไร้ความรุนแรง” เพื่อศึกษาหาแนวทางในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก การพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และการขยับสถานะทางสังคมของประชาชนกลุ่มฐานรากผ่านการแสดงความคิดเห็นของเด็กและเยาวชน
ปัญหาความรุนแรง (Violence) เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกสังคม ทุกประเทศทั่วโลกโดยผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่ มักจะเป็นเด็กและสตรี ซึ่งผลกระทบจากการกระทำรุนแรงมักก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ ตลอดจนส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน ดังนั้นทุกภาคส่วน จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการขจัดความรุนแรงต่อเด็กมากยิ่งขึ้น ทั้งในระดับบุคคล ระดับครอบครัว ระดับชุมชน และระดับสังคม มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จึงตระหนักถึงความสำคัญของการยุติความรุนแรงต่อเด็ก เนื่องจากมูลนิธิศุภนิมิตฯ เป็นองค์กรเอกชนเพื่อสาธารณกุศลที่มุ่งเน้นด้านการส่งเสริมให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งในเขตชนบทและเขตเมือง โดยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกลไกการทำงานระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับสากล จึงได้ทำการส่งเสริมและสนับสนุนเด็กและเยาวชนในทุกระดับ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้ สามารถเข้าถึงการศึกษาที่ดี มีคุณภาพชีวิต ได้รับการปกป้องคุ้มครอง ปลอดภัยจากความรุนแรงในทุกรูปแบบ ได้รับบริการด้านสุขภาพอนามัยพื้นฐานอย่างเพียงพอ มีทักษะชีวิต และทักษะอาชีพที่นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ สามารถก้าวไปสู่การขยับสถานะทางสังคมได้ รวมถึงทำงานเคียงคู่ไปกับครอบครัว และชุมชนมาอย่างยาวนานกว่า 48 ปี
ในปี พ.ศ. 2565 มูลนิธิศุภนิมิตฯ สามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนที่เป็นกลุ่มเปราะบางได้จำนวน 26,350 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 61.81 ของจำนวนเด็กเปราะบางทั้งหมด (42,633 คน) ซึ่งเป็นเด็กอายุระหว่าง 0 – 6 ปี จำนวน 2,617 คน เด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 13 – 18 ปีขึ้นไป จำนวน 5,001 คน และจากผลการประเมินการดำเนินงานของมูลนิธิประจำปี 2563 มูลนิธิศุภนิมิตฯ สามารถสร้างคุณภาพบริการด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กที่ดีขึ้นในพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศได้ถึง ร้อยละ 77 ของเยาวชนหญิงและชาย (อายุ 12 – 18 ปี) ในพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด
ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เพิ่มเติมว่า “จากการดำเนินงานที่มุ่งเน้นช่วยเหลือเด็กยากไร้เปราะบางในพื้นที่การทำงานชนบทห่างไกล และตะเข็บชายแดนกว่า 41 จังหวัดที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ ทำงานอยู่ ทำให้ทราบถึงปัญหาเรื่องของการถูกกระทำความรุนแรงต่อเด็กในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนเหล่านี้ ทำให้เรายิ่งมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการยุติความรุนแรงในทุกรูปแบบได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น เด็กและเยาวชนถือเป็นอนาคตของชาติ เป็นผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมและความอยู่รอดของชาติ และเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในอนาคตรุ่นต่อรุ่นเป็นวัฏจักร สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และสามารถเป็นตัวแทนที่จะนำพาประเทศให้ยืนหยัดบนเวทีโลกในอนาคตได้”
มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยจึงมีเป้าหมายในการสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน เพื่อส่งเสริมการยุติความรุนแรงต่อเด็ก โดยมุ่งเน้นในประเด็นการ “ละเลย เลยรุนแรง” ต่อเด็กในด้านต่างๆ ได้แก่ 1) ด้านร่างกายและจิตใจ 2) ด้านสิ่งแวดล้อมความปลอดภัย 3) ด้านการศึกษาและการวางแผนชีวิต และ 4) ด้านการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อสังคมที่สามารถนำไปสู่ การมีคุณภาพที่ชีวิตที่ดี พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมผ่านการสร้างทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ที่ส่งผลให้เกิดการขยับสถานะทางสังคมของประชาชนกลุ่มฐานราก
จึงจัดกิจกรรม โครงการยุติความรุนแรงต่อเด็ก ประจำปี พ.ศ.2565 ภายใต้แนวคิด “ละเลย เลยรุนแรง - Block Neglect, Break Violence” เพื่อรณรงค์ให้เด็ก ครอบครัว ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ร่วมถึงสาธารณะ ได้ตระหนักถึงการละเลย – Neglect ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความรุนแรง และเพื่อให้การดำเนินงานโครงการยุติความรุนแรงต่อเด็ก เป็นไปตามเป้าหมายที่รณรงค์ให้ 'เราทุกคนต้องช่วยกันยุติความรุนแรงต่อเด็ก' โดยในงานนี้มุ่งเน้นสร้างการมีส่วนร่วมของทุกๆ ภาคส่วน ผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะรูปแบบเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ ระดมความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และตัวแทนผู้นำเยาวชน ในหัวข้อ “รวมพลังเยาวชน ร่วมใส่ใจ โลกไร้ความรุนแรง”
โดยมีผู้ร่วมเสวนา ดร. สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ผศ.ดร. เรวดี ศักดิ์ดุลยธรรม ผู้ช่วยอธิการบดีและคณบดี คณะเทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ นายเทพธีระ ชัยอินคำ ผู้จัดการโครงการมูลนิธิไรท์ ทู เพลย์ ประเทศไทย คุณราตรี แฉล้มวารี หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพมหานคร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง นายณรรฐพงษ์ ผู้ภักดีวงศ์ โค้ชผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาคน (เยาวชนและผู้นำองค์กร) น.ส. วณิชชา (น้องดรีม) ผู้นำเยาวชนจากจังหวัดจันทบุรี นายลาหู่ (น้องจอห์น) ผู้นำเยาวชนจากจังหวัดเชียงใหม่
ประเด็นหารือที่เกี่ยวข้องกับโครงการ “ละเลย เลยรุนแรง” ครอบคลุมถึงด้านร่างกายและจิตใจ ด้านสิ่งแวดล้อมความปลอดภัย ด้านการศึกษาและการวางแผนชีวิต รวมถึงด้านการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อสังคม วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาแนวทางในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก การพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และการขยับสถานะทางสังคมของประชาชน กลุ่มฐานรากผ่านการแสดงความคิดเห็นของเด็กและเยาวชน สนับสนุนและเสริมสร้างให้เด็กและเยาวชน รวมถึงผู้นำเยาวชนศุภนิมิตคิดดีได้แสดงความคิดเห็น และแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กที่นำไปสู่การพัฒนาทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ นำเสนอความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนที่สามารถนาไปสู่การขับเคลื่อนในเชิงนโยบายของผู้มีส่วนได้เสียในเวทีระดับประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการยุติความรุนแรงต่อเด็กที่สอดคล้องกับงานพัฒนาเด็กและเยาวชน ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ อีกทั้งเป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์พันธกิจของมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะพันธกิจ ด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กแบบองค์รวมภายใต้แนวคิด “ละเลย เลยรุนแรง”
ในมุมมองของผู้ร่วมเสวนาแต่ละท่าน มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการหาสาเหตุของปัญหา อาทิ สภาพแวดล้อมในครอบครัว คนใกล้ตัวของเด็กที่ทำให้เกิดปัญหา การที่เยาวชนรวมตัวกันปรึกษาหารือกันเองในกลุ่มเพื่อนซึ่งอาจมีข้อผิดพลาดเนื่องจากขาดประสบการณ์ ความละเลยของครูในโรงเรียนและผู้ปกครอง ขาดการรับฟัง เกิดความไม่เข้าใจเด็ก และเด็กไม่ได้รับโอกาส เด็กไม่มีพื้นที่ในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น เป็นต้น
ซึ่งจากผลของการทำกิจกรรม จะช่วยให้ทราบถึงแนวทางในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาให้เกิดการตระหนักและแก้ไขปัญหา ที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และการขยับสถานะทางสังคมของประชาชนกลุ่มฐานราก ผ่านมุมมองจากวิทยากรแต่ละท่าน และที่สำคัญผ่านการแสดงความคิดเห็นของเด็กและเยาวชน สามารถสนับสนุนและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการแสดงศักยภาพ ความคิดเห็นและมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในด้านการยุติความรุนแรงต่อเด็กและการพัฒนาประเทศ ภายใต้แนวคิด “ละเลย เลยรุนแรง”
พร้อมคาดหวังว่า ผู้มีส่วนได้เสียรับรู้ความคิดเห็นของเด็กและเยาวชน สามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนในเชิงนโยบายทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศในอนาคตได้ รณรงค์ให้เยาวชนและสาธารณชนมีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการยุติความรุนแรงต่อเด็ก ความสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อการพัฒนาประเทศ และมีส่วนร่วมในการป้องกัน แก้ไข และเฝ้าระวังปัญหาการเพิกเฉยต่อความรุนแรง อีกทั้งมีการสนับสนุนร่วมมือระหว่างมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่ายทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ขับเคลื่อนแผนงานด้านการยุติความรุนแรงต่อเด็ก และการพัฒนาทักษะของเด็กและเยาวชน เด็กและเยาวชนได้รับการยกย่อง เชิดชู ให้กำลังใจ ในฐานะผู้มีส่วนร่วมดำเนินงานเพื่อการยุติความรุนแรงต่อเด็ก และการเป็นผู้นำเยาวชนศุภนิมิต รวมถึงได้รับประสบการณ์ที่สร้างสรรค์จากการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ซึ่งภายในงานยังได้มีพิธีมอบเกียรติบัตรสำหรับเยาวชนศุภนิมิตดีเด่นประจำปี อาทิ รางวัลเยาวชนดีเด่น การประกวดผลงานสร้างสรรค์และศิลปะ การแสดงผลงาน และเวทีเยาวชน อีกด้วย