- Details
- Category: CSR
- Published: Monday, 05 May 2014 22:52
- Hits: 3784
ดีแทคเปิดตัวกิจกรรม'เพิ่มพูนความรู้ให้สังคมไทยกับวิกิพีเดีย' ตั้งเป้าเพิ่มบทความภาษาไทยบนวิกิพีเดีย 10%ภายในปีนี้
ดีแทคสานต่อโครงการ 100,000 ชั่วโมง ร่วมกันทำดี โดยร่วมกับวิกิพีเดีย ประเทศไทย จัดกิจกรรม'เพิ่มพูนความรู้ให้สังคมไทยกับวิกิพีเดีย'เพื่อต่อยอดคลังความรู้ของสารานุกรมเสรีภาษาไทยให้มีเนื้อหาที่มีคุณภาพทัดเทียมกับวิกิพีเดียในภาษาของประเทศที่พัฒนาแล้ว
นางสาวณัฐวรรณ ศศิพิบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา ดีแทคประสบความสำเร็จในการรณรงค์ให้พนักงาน 5,000 คน สสละเวลาคนละ 25 ชั่วโมงในการแสดงจิตอาสา ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ไปพร้อมๆ กันกับบริษัท โดยสามารถรวมระยะเวลาทำความดีร่วมกันได้ 100,000 ชั่วโมง ตามเป้าหมายที่วางไว้ สำหรับปี 2557 ดีแทคยังคงดำเนินโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง โดยได้เปิดตัวกิจกรรม ‘เพิ่มพูนความรู้ให้สังคมไทยกับวิกิพีเดีย’ เชิญชวนให้พนักงานร่วมกันแปลบทความภาษาอังกฤษที่มีอยู่ในวิกิพีเดียให้เป็นภาษาไทย
“เป็นโอกาสอันดีที่ดีแทคได้ทำงานร่วมกับองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรเช่นวิกิพีเดีย การส่งเสริมให้พนักงานเข้ามาแปลบทความจะเป็นวิถีทางอันทรงคุณค่าในการช่วยกันถ่ายทอดทักษะความสามารถด้านภาษาอังกฤษที่มีอยู่ เพื่อแบ่งปันความรู้ และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทย ทั้งนี้ ดีแทคได้ตั้งเป้าที่จะรณรงค์ให้พนักงานจำนวน 500 คน เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งจะช่วยสร้างสรรค์บทความภาษาไทยใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกกว่า 5,000 เรื่อง โดยมีจำนวนชั่วโมงอาสารวมทั้งสิ้นกว่า 10,000 ชั่วโมง”นางสาวณัฐวรรณกล่าวเพิ่มเติม
ดร.ทวีธรรม ลิมปานุภาพ ผู้ประสานงานกลุ่มอาสาสมัครวิกิมีเดียในประเทศไทย กล่าวว่า วิกิพีเดียภาษาไทย เป็นหนึ่งในเว็บที่มีผู้เข้าชมมากที่สุด 10 อันดับแรกของประเทศ อย่างไรก็ดี วิกิพีเดียภาษาไทยมีจำนวนบทความจำกัด ไม่ถึง 90,000 บทความ ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับบทความภาษาอังกฤษซึ่งมีอยู่มากกว่า 4,000,000 บทความ นอกจากนี้ บทความส่วนใหญ่ยังค่อนข้างสั้นและมีข้อมูลไม่ครบถ้วน
“กิจกรรม'เพิ่มพูนความรู้ให้สังคมไทยกับวิกิพีเดีย'ของดีแทคเข้ามาช่วยแก้ไขวิกฤตนี้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากจำนวนอาสาสมัครที่มีอยู่ในปัจจุบันมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรไทยที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ กิจกรรมนี้จะเป็นตัวอย่างให้องค์กรอื่นเห็นคุณค่าและหันมาร่วมมือกันทำงานอาสาสมัครออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญให้วิกิพีเดียภาษาไทยสามารถบริหารเนื้อหาให้มีคุณภาพทัดเทียมกับวิกิพีเดียในภาษาของประเทศที่พัฒนาแล้วได้ในที่สุด” ดร.ทวีธรรมกล่าว