- Details
- Category: CSR
- Published: Thursday, 09 December 2021 23:26
- Hits: 7264
สมาคมประกันวินาศภัยไทยมุ่งเปลี่ยน ‘ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นทุ่งกุลายิ้มได้’
ขยายพื้นที่โครงการธนาคารน้ำใต้ดินแก้ภัยน้ำท่วม-น้ำแล้ง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1.6 แสนไร่ในปี 2564
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการกองทุนประกันภัยพืชผล และคณะผู้บริหารสมาคมฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามและตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานโครงการธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้รวม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหนองฮี และอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นโครงการที่สมาคมฯ ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบกับปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถประกอบอาชีพได้โดยไม่ต้องประสบกับภัยแล้งหรือน้ำท่วมซ้ำซาก และเพื่อเป็นต้นแบบการทำธนาคารน้ำใต้ดินที่สมบูรณ์แบบของไทย
“โครงการธนาคารน้ำใต้ดินนี้ สมาคมฯ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 ภายใต้ความร่วมมือของ สถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ โดยพระนิเทศศาสนคุณ (หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ) ได้จัดทำโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชน เพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืน (ธนาคารน้ำใต้ดิน) ณ ตำบลดูกอึ่งและตำบลเด่นราษฎร์ อำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด หรือโครงการ “หนองฮีโมเดล” ซึ่งถือเป็นโครงการแรกที่สมาคมฯ ได้ริเริ่มดำเนินการในพื้นที่รวม 30 หมู่บ้าน ประชากร 3,408 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 78,913 ไร่ ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จและส่งมอบธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 3,095 บ่อ ให้กับจังหวัดร้อยเอ็ดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2563 เพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ของชุมชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
ในปี 2564 คณะกรรมการกองทุนประกันภัยพืชผล สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อขยายพื้นที่ในการดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินเพิ่มเติมให้ครอบคลุมพื้นที่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ โดยคัดเลือกอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพื้นที่เป้าหมายดำเนินงานภายใต้ “โครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชน เพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืน (ธนาคารน้ำใต้ดิน) ในพื้นที่ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด” ครอบคลุมพื้นที่ 88,862 ไร่ รวม 21 หมู่บ้าน จำนวน 3,286 ครัวเรือน ให้ได้รับประโยชน์ต่อไป
สำหรับพื้นที่ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด สมาคมฯ ได้สนับสนุนการขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดินในรูปแบบต่างๆ ประกอบด้วย 1. บ่อปิดโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ขนาด 1x1x1.5 เมตร จำนวน 2,100 บ่อ 2. บ่อเปิด ขนาด 10x10x7-12 เมตร จำนวน 35 บ่อ 3. บ่อเปิด ขนาด 40x40x7-12 เมตร จำนวน 26 บ่อ 4. บ่อเปิดแบบเจาะเพื่อป้องกันนำ้ล้นตลิ่งตามริมลำน้ำเสียว ขนาด 0.6x12 เมตร จำนวน 291 บ่อ 5. บ่อทูอินวัน เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตร จำนวน 21 บ่อ รวมทั้งหมด 2,473 บ่อ โดยใช้งบประมาณจากกองทุนประกันภัยพืชผล จำนวน 23,285,500 บาท และมอบหมายให้สถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณเป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคมจนเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนี้สมาคมฯ จะได้ดำเนินการส่งมอบโครงการให้กับทางรัฐบาลเพื่อศึกษาและขยายผลต่อยอดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการแหล่งน้ำตามระบบธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
นายอานนท์ วังวสุ กล่าวปิดท้ายว่า “ปัจจุบันการเกิดภัยธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งหรือภัยน้ำท่วม ล้วนส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกระบวนการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร รวมถึงการขาดรายได้จากการประกอบอาชีพ ถึงแม้การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ จะมีบทบาทสำคัญในการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ประกันภัยก็ถือเป็นการช่วยบรรเทาความเสียหายที่ปลายเหตุ สมาคมฯ จึงได้เข้ามาดำเนินโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนเพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืนในรูปแบบของการสร้างเครือข่ายระบบธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อให้ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่สามารถต่อยอดใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า ซึ่งผลจากการดำเนินงานธนาคารน้ำใต้ดินทั้ง 2 โครงการสามารถครอบคลุมพื้นที่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้รวม 2 อำเภอ 3 ตำบล พื้นที่รวมกว่า 167,775 ไร่ ผมเชื่อมั่นว่า โครงการธนาคารน้ำใต้ดินของสมาคมฯ จะสามารถช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม และช่วยเหลือประชาชนรวมถึงเกษตรกรที่ประสบปัญหาทางการเกษตร เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืนตามเจตนารมณ์ของสมาคมฯ ในการเปลี่ยนให้พื้นที่ “ทุ่งกุลาร้องไห้เป็น ทุ่งกุลายิ้มได้” ต่อไป”
A12329