- Details
- Category: CSR
- Published: Wednesday, 29 October 2014 18:00
- Hits: 3150
สถานประกอบการซีพีเอฟ 27 แห่ง รับรางวัล CSR-DIW ตอกย้ำองค์กรที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันการที่โรงงานต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบรั้วโรงงาน เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืนนั้น แต่ละโรงงานจะต้องมีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคม นอกจากนี้การสร้างสรรค์โครงการใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนก็นับเป็นแนวทางที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงงานและชุมชน ทั้งยังเป็นการพัฒนาชุมชนโดยรอบให้เติบโตไปพร้อม ๆ กัน ดังเช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ที่สถานประกอบการ 27 แห่ง สามารถคว้าโล่รางวัล CSR-DIW ประจำปี 2557 ประเภท CSR-DIW Continuous Award จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 เพื่อตอกย้ำการเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและกรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดตั้งโครงการ CSR-DIW ขึ้นเพื่อส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมนำมาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าด้วยการแสดงความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคมไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสู่มาตรฐาน ISO 26000 และได้รับการยอมรับจากสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมให้โรงงานที่ได้รับรางวัลแล้วมีการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง เกิดความร่วมมือกันขององค์กรในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ความชำนาญ สามารถดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมโดยใช้เวลาและทรัพยากรน้อยที่สุด
ด้าน นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในปีนี้สถานประกอบการซีพีเอฟสามารถคว้ารางวัล CSR-DIW Continuous Award จำนวน 27 แห่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นในการดำเนินงานเราจะให้ความสำคัญทั้งกระบวนการภายใน และกระบวนการภายนอก โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ซีพีเอฟได้รับรางวัลนี้อย่างต่อเนื่อง คือ แต่ละสถานประกอบการของเราจะมีการดำเนินงานครบทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ การกำกับดูแลองค์กร แรงงาน สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การปฏิบัติที่เป็นธรรม ผู้บริโภค และการมีส่วนร่วมกับสังคมและชุมชน ทำให้ได้รับพิจารณาจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมตลอดมา นอกจากนี้เรายังคำนึงถึงการผลิตตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิตเพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากที่สุด เกิดของเสียและมลพิษน้อยที่สุด ซึ่งจะส่งผลดีต่อชุมชนรอบข้าง ทำให้โรงงานสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน
โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำซีพีเอฟมหาชัย จังหวัด สมุทรสาคร เป็นหนึ่งในสถานประกอบการที่สามารถคว้ารางวัล CSR-DIW Continuous Award มาได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 นายสมเกียรติ เจริญสุข เล่าว่า โรงงานมีความตั้งใจที่ต้องการดูแลชุมชนรอบข้างให้อยู่เย็นเป็นสุข จึงมีโครงการที่ทำร่วมกับชุมชนหลายโครงการโดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่บริเวณรอบโรงงานในรัศมี 5 กิโลเมตร และเนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นเขตน้ำเค็ม และมีการขึ้นลงของน้ำอยู่เป็นประจำ จึงทำ'โครงการสอนน้องเลี้ยงปลาดุก' ซึ่งอยู่ภายใต้ 'โครงการ ซีพีเอฟ...อิ่มสุขปลูกอนาคต'โดยเริ่มจากโรงเรียนเกตุวดีศรีวรารามเป็นแห่งแรก และได้ขยายกิจกรรมจนครบ 5 โรงเรียนที่อยู่รอบ ๆ โรงงานของเรา ซึ่งแนวคิดในการริเริ่มโครงการ คือ ต้องการนำความถนัดทางด้านอาชีพของซีพีเอฟมาถ่ายทอดให้น้อง ๆ ระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษา โดยนำผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงปลาดุกมาสอนตามหลักทางวิชาการ ตั้งแต่การสร้างบ่อ การดูแล ตลอดจนการให้อาหารและอาหารเสริม นอกจากนี้ยังมีทีมติดตามนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว นำความรู้การเลี้ยงปลาดุกที่ติดตัวนี้ไปประกอบอาชีพ ซึ่งโครงการนี้ได้รับความสนใจจากผู้ว่าราชการจังหวัดหลาย ๆ ท่านแวะเวียนมาเยี่ยมชม โดยซีพีเอฟวางแผนสอนการนำปลาดุกมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าในปีหน้า
ทางด้านโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำซีพีเอฟบ้านพรุ จังหวัด สงขลา ได้เริ่มต้น 'โครงการซีพีเอฟสานฝันอาหารกลางวันเพื่อน้อง'ซึ่งอยู่ภายใต้ 'โครงการ ซีพีเอฟ...อิ่มสุขปลูกอนาคต' โดยเรามาสานฝันองค์ความรู้ในการผลิตอาหารกลางวันให้นักเรียน มาสอนให้นักเรียนรู้จักการปลูกผักและจัดรูปทรงให้เป็นเลขาคณิต ซึ่งน้อง ๆ จะได้ทั้งดูแลแปลงผักและมีความรู้ในเรื่องรูปทรงเลขาคณิตต่างๆ ไปพร้อม ๆกัน ซึ่งปรากฎผลตอบรับในเชิงบวก นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพให้กับตนเองและยังนำไปถ่ายทอดให้กับญาติพี่น้อง เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายในชุมชน เป็นการสร้างรายได้ให้กับครอบครัว กิจกรรมนี้ยังสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมทั้งเครือข่ายผู้ปกครอง กลุ่มนักเรียน และซีพีเอฟ เราภูมิใจที่ได้ทำประโยชน์ให้กับชุมชนมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 นายปรีชา นิ่มกาญจนา กล่าว
ซีพีเอฟ เชื่อว่า โรงงานเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ทุกๆ ที่ที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ เราควรให้กลับคืนสู่สังคม ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญา 3 ประโยชน์ คือ จะต้องเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และบริษัท ถ้าทุกโรงงานในประเทศไทยช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ จะก่อให้เกิดพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงช่วยทำให้ชุมชนและประเทศชาติพัฒนาอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กับโรงงานได้ในที่สุด