- Details
- Category: CSR
- Published: Tuesday, 22 September 2020 18:48
- Hits: 22360
ทิพยประกันภัย พร้อมองค์กรภาคี นำคณะครู-อาจารย์ สัมผัสวิถีเกษตรพอเพียง ที่ จ.ปราจีนบุรี
สืบสานศาสตร์พระราชาผ่านนวัตกรรมการเรียนรู้สู่เยาวชนรุ่นใหม่
ทิพยประกันภัย ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และมูลนิธิธรรมดี นำคณะครูอาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ กว่า 40 คน ร่วมกิจกรรม “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 9” เยือนอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา และโครงการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน มูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดปราจีนบุรี พร้อมร่วมกันสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้และปลูกฝังคุณธรรม 4 ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา ให้กับเยาวชน
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทิพยประกันภัยมีความมุ่งมั่นในการสืบสานศาสตร์พระราชาผ่านการจัดกิจกรรม ‘ตามรอยพระราชา’ อย่างต่อเนื่อง โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9 “ทิพย สืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา” เยือนอ่างเก็บน้ำ นฤบดินทรจินดา โครงการปลูกผักโดยไม่ใช้ดิน มูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดปราจีนบุรี ในวันนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องด้วยเป็นอ่างเก็บน้ำสุดท้ายในพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
โดยบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับองค์กรภาคี สนับสนุนในการนำคณะครูอาจารย์จากทั่วประเทศกว่า 40 คน มาสร้างแรงบันดาลใจ ในการร่วมกันสานต่อพระราชปณิธาน เข้าใจ เข้าถึง “ศาสตร์พระราชาที่ไม่มีวันล้าสมัย” และร่วมกิจกรรมถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”
ทั้งนี้กิจกรรมทิพยตามรอยพระราชา จัดขึ้นแล้วรวม 9 ครั้ง ดังนี้ 1.ชุมชนบ้านศาลาดิน จังหวัดนครปฐม 2.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี 3.โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ โครงการหุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี 4.เขื่อนขุนด่านปราการชล ศูนย์ภูมิรักษ์ จังหวัดนครนายก 5.โครงการพัฒนาชุมชนบ้านอ่างเอ็ด จังหวัดจันทบุรี 6.มหาชีวาลัยอีสาน จังหวัดบุรีรัมย์ 7.อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 8.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และ 9.อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา และโครงการปลูกผักโดยไม่ใช้ดิน มูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดปราจีนบุรี
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าวถึงโครงการ “หนังสือเดินทางตามรอยพระราชา” ว่า “ศูนย์คุณธรรมได้จัดทำหนังสือโครงการตามรอยพระราชา ที่คัดสรร 9 เส้นทาง 81 แหล่งการเรียนรู้ เพื่อให้คณะครูอาจารย์ลงพื้นที่เรียนรู้ศึกษาศาสตร์พระราชา ลงมือทำกิจกรรมเสริมทักษะเรียนรู้และต่อยอด พร้อมสร้างความเข้าใจและเข้าถึงคุณธรรม 4.0 คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และเพื่อให้เกิดความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพัฒนา ‘ศาสตร์พระราชา’ ให้ชาวบ้านนำมาปฏิบัติจนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น
“ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 9” เยือนอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา โครงการปลูกผักโดยไม่ใช้ดิน มูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดปราจีนบุรี กิจกรรมแรกคือ นำคณะครูอาจารย์ร่วมบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระพี่นางสุพรรณกัลยา เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้กรีฑาทัพจากกรุงศรีอยุธยา เพื่อไปปราบนักพระสัฏฐาแห่งเมืองละแวก กัมพูชา เมื่อ พ.ศ. 2132 ระหว่างการเดินทางทัพได้หยุดพักทัพ ณ บริเวณเนินหอม (บริเวณที่ตั้งศาลในปัจจุบัน) และเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2514 พระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงสักการะดวงพระวิญญาณ ณ ศาลแห่งนี้ จากนั้นคณะเดินทางไปยังโครงการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน มูลนิธิชัยพัฒนา โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีพระราชกระแสให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาจัดสรรพื้นที่ที่ศาสตราจารย์ดร.มนู อมาตยกุล น้อมเกล้าฯ ถวาย จำนวน 15 ไร่ 3 งาน 30.6 ตารางวา ในตำบลบ้านพระ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาที่ดินให้เกิดประโยชน์กับชุมชน ในส่วนของสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้จัดทำโครงการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน (Hydroponics) ในพื้นที่ของมูลนิธิฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จำนวน 3 ไร่ โดยจัดทำเป็นโครงการนำร่องและแปลงสาธิตการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินต้นทุนต่ำ ด้วยการประยุกต์ใช้วัสดุในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ ไม้ยูคาลิปตัส กระเบื้องเก่า มาดัดแปลงเป็นโต๊ะปลูกผัก เพื่อผลิตผักปลอดภัยได้มาตรฐาน พร้อมทั้งขยายผลส่งเสริมให้แก่ประชาชนที่สนใจ คณะครูยังได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำในกิจกรรมแปลงร่างเมล็ดพันธุ์เป็นแปลงผักไม่ใช้ดินอีกด้วย
จากนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เดินทางสู่อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา โครงการห้วยโสมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งถือเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่แห่งสุดท้ายอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่มีน้ำใช้ในการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี รวมถึงช่วยป้องกันน้ำท่วม และรักษาระบบนิเวศในแม่น้ำปราจีนบุรีและบางปะกง อ่างเก็บน้ำแห่งนี้มีความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมระบบส่งน้ำและระบายน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 111,300 ไร่
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ฟังการบรรยายจากผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานฤบดินทรจินดา พร้อมทั้งทำกิจกรรมปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยร่วมกันปลูกต้นยางนา ต้นพะยูน จำนวน 199 ต้น ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประกอบด้วยการปลูกไม้ 3 ประเภท ได้แก่ ไม้ใช้สอยโตเร็ว ไม้เศรษฐกิจ และไม้กินได้ ซึ่งการปลูกพืชที่หลากหลายดังกล่าวจะให้ประโยชน์ 4 ประการ คือ 1) มีไม้ไว้ใช้ทำสิ่งของต่างๆ ในครัวเรือนและเป็นเชื้อเพลิง 2) สามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ของครัวเรือน ลดความเสี่ยงเรื่องราคาตกต่ำและไม่แน่นอน 3) นำมาเป็นอาหารและยาสมุนไพร 4) ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ สร้างสมดุลของระบบนิเวศ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมปล่อยปลายี่สกจำนวน 9,999 ตัว
ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด และประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า “กิจกรรมที่สำคัญ คือการถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และนอกจากนี้ผู้ร่วมกิจกรรมตามรอยพระราชาทุกคนจะได้รับชุดหนังสือภาษาอังกฤษ ‘King Bhumibol Adulyadej of Thailand’ จำนวน 3 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชจริยวัตร ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นำไปถ่ายทอดแก่นักเรียนผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้เยาวชนรุ่นหลังได้รู้จักพระองค์ท่านและสามารถสื่อสารให้ชาวต่างชาติฟังได้ว่า ทำไมคนไทยจึงรักและผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งยังให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรม”
หลังจากการลงพื้นที่เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติแล้ว คณะครูได้ทำกิจกรรมถอดบทเรียน นำโดย อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ผ่านเกมกระดานสื่อการเรียนรู้ 3 แบบ ได้แก่ “Game of Our Nation” ที่สอดแทรกคุณธรรม 4 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา “9 ตามรอยนวัตกรรมของพ่อศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล” ถอดบทเรียนและต่อยอดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมจากกิจกรรมตามรอยพระราชา และ “The King's Journey: Learn English an Example of an Invention” โดย ดร.สุมณี ปิ่นเวหาส์ กรรมการสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย เป็นการเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากหนังสือชุด King Bhumibol Adulyadej of Thailand ซึ่งคณะครูอาจารย์สามารถนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปต่อยอดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนต่อไป
สำหรับหน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจร่วมเรียนรู้นวัตกรรมศาสตร์พระราชา สามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิธรรมดี เว็บไซต์ http://www.do-d-foundation.com, Facebook: มูลนิธิธรรมดี และ LINE Official: @dfoundation
A9513
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ