- Details
- Category: CSR
- Published: Monday, 13 January 2020 15:59
- Hits: 3300
ไอวีแอลจับมือเมอร์ซี่ เซ็นเตอร์ สอนเด็กในชุมชนคลองเตยคัดแยกขยะรีไซเคิล
“สวัสดีจ้า เด็กๆ” เสียงเจี๊ยวจ๊าวของเด็กๆ และวัยรุ่น อายุระหว่าง 8-20 ปี รวมกว่า 30 คนจากโรงเรียนยานุส คอร์ซัค แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนคลองเตย เริ่มเงียบลงเมื่อได้ยินเสียงกล่าวทักทายสดใสจากครูเหมียว หรือ สยุมพร เหล่าวชิระสุวรรณ พร้อมด้วยทีมซีเอสอาร์ จากบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล ซึ่งวันนี้มารับบทคุณครูพี่เลี้ยงสอนเด็กๆ ให้รู้จักเกี่ยวกับชนิดของพลาสติก การคัดแยกขยะพลาสติก PET ใช้แล้ว เพื่อนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อย่างถูกต้อง โดยมี มาดาม เอวา ดูบันยอฟสก้า ภริยาเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปแลนด์ ประจำประเทศไทย ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนโรงเรียนยานุส คอร์ซัค แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นโรงเรียนภายใต้การดูแลของมูลนิธิเมอร์ซี่ หรือมูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล และคุณครูมาร่วมต้อนรับและทักทายอย่างเป็นกันเอง
มูลนิธิเมอร์ซี่ ได้ก่อตั้งโรงเรียนยานุส คอร์ซัค ในปี พ.ศ. 2547 เพื่อเปิดการเรียนการสอนสำหรับเด็กซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ด้อยโอกาสในชุมชนคลองเตย หลายคนไม่เคยได้เข้าโรงเรียนมาก่อน หลายคนไม่สามารถเข้าเรียนในระบบปกติได้ เนื่องจากเป็นเด็กพิเศษที่ระบบการเรียนการสอนปกติไม่สามารถดูแลช่วยเหลือเขาได้ เช่น เด็กสมาธิสั้น เด็กที่อายุเกินระดับชั้นเรียน และไม่เคยเข้าโรงเรียนมาก่อน รวมถึงเด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพ มูลนิธิฯ จึงเปิดโอกาสให้เด็กในชุมชนได้เรียนและสามารถปรับระดับการเรียน และเพิ่มทักษะพื้นฐาน เพื่อให้พวกเขาสามารถไปต่อได้ โดยใช้พื้นที่ชั้น 3 ของอาคารมูลนิธิฯ ที่คลองเตย เพื่อทำการเรียนการสอน ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนในความดูแลจำนวนประมาณ 40 คน
“โรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้ และเด็กๆ ที่นี่ มีความหมายสำหรับเรามาก ชื่อของโรงเรียนถูกตั้งตามชื่อ ดร.ยานุส คอร์ซัค แพทย์ชาวโปแลนด์ เชื้อสายยิว ท่านเป็นครูที่อุทิศตนสอนเด็กกำพร้าชาวยิว ในกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ซึ่งได้เสียชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และท่านได้กลายเป็นผู้นำต้นแบบสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าสมัยใหม่เข้ามาใช้ เน้นการสอนจริยธรรม และเน้นเรื่องสิทธิของเด็กมาตั้งแต่ตอนนั้น” มาดาม เอวา เล่า “และเมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิฯ ได้ริเริ่มโครงการ 3Rs คือ รีไซเคิล (recycle) ลดการใช้ (reduce) และการนำมาใช้ซ้ำ (reuse) เราจึงอยากให้เด็กๆ ได้มีกิจกรรมการเรียนรู้ การเวิร์คช้อป หรือการริเริ่มกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการรีไซเคิลขยะพลาสติก ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเด็กๆ ต่อไปในอนาคต” มาดามกล่าว ก่อนเฝ้ามองครูเหมียวสอนเด็กๆ ถึงประเภทของขยะในชั้นเรียน
“น้องๆ รู้มั้ยคะว่า ขยะในประเทศไทยของเรามีอะไรบ้าง” ครูเหมียวถาม เด็กๆ เซ็งแซ่ช่วยกันตอบ “เศษอาหารเหลือครับ” “เสื้อผ้าไม่ใช้แล้วค่ะ” “กระดาษและสมุดที่เขียนหมดแล้ว” และอีกมากมายที่น้องๆ ช่วยกันตอบ แต่ครูเหมียวก็สรุปให้ว่า “ขยะสามารถแยกออกได้ 4 ประเภทนะคะ หนึ่ง เป็นขยะอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายได้ เช่น เศษอาหาร เศษใบไม้ เศษหญ้า สองคือขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก แก้ว กระดาษ โลหะ อะลูมิเนียม สามคือ ขยะอันตรายหรือของเสียอันตรายจากชุมชน เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ แบตเตอรี่ กระป๋องสเปรย์ และสุดท้ายคือ ขยะทั่วไป เช่น กล่องโฟม หรือ กล่องอาหารที่ปนเปื้อนคราบอาหาร ซองขนม ซองลูกอม รวมไปถึงช้อนส้อมแก้วกาแฟพลาสติกที่เปื้อนแล้ว ซึ่งเวลาที่เราจะเลือกทิ้งในถังขยะแบบไหนให้ถูกต้อง สามารถดูได้จากสีของถัง หรือสัญลักษณ์ที่ติดไว้ที่ถังนะคะ”
“ทำไมขยะมันช่างมากมายขนาดนี้นะ อีกหน่อยผู้คนจะอยู่กันได้อย่างไร เราจะมีวิธีอะไรช่วยได้นะ” หนึ่งในตัวการ์ตูนชุด “ผจญภัยโลกพลาสติก” ที่ครูเหมียวนำมาเป็นเครื่องมือการเรียนการสอน บ่นออกมาเป็นตัวหนังสือว่า “วิธีที่ดีที่สุดที่เราสามารถช่วยโลกได้ด้วย ก็คือการทิ้งให้ถูกที่ และคัดแยกขยะยังไงล่ะ”
ครูเหมียว บอกว่า “ถ้าบ้านหลังหนึ่งมีสมาชิก 4 คน เราจะสร้างขยะพลาสติกประมาณ 4 ขีดต่อวัน ดังนั้น บ้านแต่ละหลังจะสร้างขยะพลาสติกประมาณ 12 กิโลต่อเดือน ดังนั้น ถ้าเราคัดแยกขยะพลาสติกออกมาเรายังสามารถเอาไปขายและนำเงินไปกินขนมได้อีกนะคะ ส่วนขยะพลาสติกที่แยกออกมายังสามารถนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อให้เป็นผลิตเส้นใยพอลีเอสเตอร์ และเม็ด rPET สำหรับผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อีกด้วยนะ” ครูเหมียวยังคงสอนเรื่องการรีไซเคิลอย่างสนุกสนาน และให้น้องๆ ได้มีส่วนร่วมในการเรียนอย่างตื่นเต้นต่อไปอีกจนจบชั่วโมงเรียน
ซึ่งก่อนจากกันวันนี้ ครูเหมียว ยังได้มอบสื่อการเรียนการสอน และถังขยะรีไซเคิลให้กับโรงเรียนเพื่อการคัดแยกขยะ พร้อมบอกกับเราว่า “ทุกครั้งที่ได้สอนเด็กๆ เราจะมีความหวังในอนาคตของการรีไซเคิลมาก เพราะที่ไอวีแอล เราเชื่อว่าการรีไซเคิลคือแนวทางที่ยั่งยืนในการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว สิ่งที่เรากำลังทำในวันนี้ คือ การให้ความสำคัญกับการศึกษาและการให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการส่งเสริมให้ความรู้เรื่องการรีไซเคิล เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนเข้าใจเรื่องการรีไซเคิล PET และร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วันนี้ต่อเนื่องไปในระยะยาว และสามารถส่งต่อจิตสำนึกที่ดีไปยังรุ่นต่อๆ ไปในอีก 30 ปีข้างหน้า ดังนั้น เราจึงมุ่งหวังให้น้องๆ เห็นความสำคัญของการแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล สามารถนำไปปรับใช้ได้จริงทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน รวมทั้งยังสามารถบอกต่อกับคนในครอบครัว และคนใกล้ตัว เพื่อช่วยขยายผลให้เกิดวามตระหนัก เข้าใจ และร่วมใจกันปฏิบัติต่อไปในวงกว้าง”
“เราต้องขอขอบคุณทีมงานของไอวีแอลที่มาให้ความรู้ด้านการคัดแยกขยะรีไซเคิลกับเด็กๆ และพวกเรา ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ไอวีแอลมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจรีไซเคิล และกำลังดำเนินโครงการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องรีไซเคิล ซึ่งเรามองว่านี่เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์มาก ทางไอวีแอลมีความพร้อมทั้งทีมผู้สอนที่มีความรู้ในเรื่องการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง ตลอดจนมีเทคนิค และคู่มือการเรียนการสอนที่มีรูปแบบเป็นการ์ตูน และมีเนื้อหาสนุกสนาน เข้าใจได้ง่าย และเหมาะกับเด็กๆ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ขยะพลาสติกก็มีมูลค่า และสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และชุมชนได้ หากรู้วิธีจัดเก็บที่ถูกต้อง และมีส่วนช่วยในการลดขยะในสิ่งแวดล้อม และชุมชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเด็ก และชุมชนคลองเตยที่เค้าอยู่อาศัยได้อย่างยั่งยืน” มาดาม เอวา กล่าวส่งท้าย
AO1162
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web