- Details
- Category: CSR
- Published: Friday, 05 April 2019 15:41
- Hits: 1751
ความสุขของ 'การบริจาคโลหิต'
ความสุขของแต่ละคนเป็นเหมือนของล้ำค่าที่ใครก็อยากได้ บางคนอาจมีความสุขกับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว แต่กับบางคนอาจรู้สึกว่าความสุขนั้นอยู่ไกลตัวเหลือเกิน ลองมาค้นหาวิธีที่จะทำให้ตัวเองรู้สึกมีความสุขแบบที่ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องวิ่งไล่ตาม เพราะความสุขไม่ใช่สิ่งของที่จะต้อง ‘มี’แต่คือสิ่งที่จะต้อง ‘รู้สึก’
เช่นเดียวกับ 'การบริจาคโลหิต' หนึ่งในความสุขที่เกิดขึ้นจากความรู้สึก 'ให้' โดยไม่ต้องการผลตอบแทน การให้ที่ไม่ต้องเสียทรัพย์สิน การให้ที่ทำให้รู้สึกว่า’ฉันมีความสุข’’ชีวิตฉันมีคุณค่า มีความหมาย’ และยังเกิดประโยชน์กับผู้คนมากมาย โดยไม่ต้องมีเรื่องความทุกข์ ความไม่พึงพอใจ มาปะปนกับความสุขที่กำลังเบ่งบานอยู่ในหัวใจ
“ในทุกวันนี้ ความต้องการรับบริจาคโลหิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จะด้วยอุบัติเหตุ หรือความเจ็บป่วยอะไรก็ตาม การบริจาคโลหิตได้อย่างทันท่วงที สามารถช่วยต่อชีวิตคนได้ ผมว่านั่นคือความสุขที่เกิดจากการให้ที่ดีที่สุด”
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) หัวเรือใหญ่ของ LPN บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้แบรนด์ ‘ลุมพินี’ควบคู่ไปกับแนวคิด ‘ชุมชนน่าอยู่’ ได้สรุปสิ่งที่คิดในการสร้างความสุขให้กับผู้คนด้วยการให้ ตลอดจนยืนยันแนวทางที่บริษัททำมาตลอดยี่สิบกว่าปี นั่นคือการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแบบนอกกระบวนการ (CESR Out Process) ด้วยการสนับสนุนการบริจาคโลหิต โดยการดำเนินงานจัดหาและเพิ่มปริมาณโลหิตสำรองให้เพียงพอต่อการรักษาพยาบาล
“ตั้งแต่ปี 2539 ที่บริษัทได้ร่วมจัดกิจกรรมบริจาคโลหิต กับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ผมมองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และอยากเห็นทุกคนเปลี่ยนแปลงความคิด หลายคนที่เข้าใจผิดมาตลอดว่าการบริจาคโลหิตเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรค ภูมิคุ้มกันลดลง และอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลียนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะทุกขั้นตอนของการบริจาคโลหิตมีความสะอาดและปลอดภัยสูงสุดตามหลักสากล”
จากการจัดกิจกรรมบริจาคโลหิตร่วมกับศูนย์บริการโลหิตฯ ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปี 2561 ที่ผ่านมา มีปริมาณโลหิตที่ได้รับ รวมทั้งสิ้น 41,835 ยูนิต (1 ยูนิต สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วย อย่างน้อย 3 ชีวิต) คิดเป็น 14,642,250 ซี.ซี. เท่ากับช่วยชีวิตคนได้ 125,505 คน ซึ่งในปี 2562 นี้ บริษัทได้ตั้งเป้าให้ได้ปริมาณโลหิตเพิ่มขึ้นอีก 1.3 ล้าน ซี.ซี. โดยรณรงค์ให้ทั้งพนักงาน ผู้พักอาศัยในคอนโดลุมพินี และประชาชนทั่วไป ร่วมบริจาคโลหิตที่คอนโดลุมพินี ที่เป็นหน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ ควบคู่กับการให้ความรู้เรื่องการเตรียมตัวก่อน และหลังบริจาคโลหิต เพื่อให้ผู้บริจาคสามารถบริจาคโลหิตได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น ยังได้สนับสนุนการจัดสร้างรถรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ขนาด 8 เตียงพร้อมอุปกรณ์ จำนวน 1 คัน เพื่อใช้ในกิจการรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ของศูนย์บริการโลหิตฯ และยังร่วมทดลองเปิดหน่วยรับบริจาคโลหิตช่วงเวลากลางคืน ในโครงการ ‘LUMPINI Blood Drive Night Shift’ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริจาคที่ไม่สะดวกช่วงเวลากลางวัน สามารถบริจาคช่วงเวลาเย็นได้ และเป็นการเพิ่มปริมาณโลหิตสำรองอีกด้วย ขณะเดียวกัน ได้สนับสนุนการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมหลักของศูนย์บริการโลหิตฯ ในการเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันบริจาคโลหิตในช่วงเทศกาลที่มีความต้องการใช้โลหิตเป็นจำนวนมากมาอย่างต่อเนื่องทุกปีใน 2 โครงการหลัก คือ โครงการ’แล้งนี้ไม่แล้งน้ำใจ ด้วยการให้โลหิต’ และ ‘วันผู้บริจาคโลหิตโลก’
“การบริจาคโลหิต หนึ่งรูปแบบความสุขที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง นอกจากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์แล้ว ต้องบอกว่ายังมีประโยชน์ต่อร่างกายของผู้บริจาคเองด้วย เพราะเมื่อมีการบริจาคเลือดออกไป ภายในร่างกายจะถูกกระตุ้นให้มีการสร้างเม็ดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน ส่งผลให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น และในเดือนเมษายนนี้ เดือนที่ขาดแคลนเลือดมากที่สุด เพราะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นสูงสุด เราทุกคนสามารถร่วมกันสร้างความสุขจากการเป็น งผู้ให้ง ด้วยการชวนกันมาบริจาคโลหิต เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้กับอีกหลายชีวิต”นายโอภาส กล่าวทิ้งท้าย
ล้อมกรอบ (ข้อมูล S&E)
จากการสำรวจมากว่า 20 ปี ตลอดการจัดกิจกรรมบริจาคโลหิต กับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย พบว่า 5 อันดับปัญหาที่ทำให้คนบริจาคโลหิตไม่ได้ มีดังนี้
1. โลหิตจาง (ความเข้มข้นของโลหิตต่ำกว่าเกณฑ์)
2. คุณสมบัติของผู้บริจาคโลหิตไม่ครบถ้วน
3. โรคประจำตัวต่างๆ
4. อยู่ระหว่างรับประทานยาต่างๆ ที่ใช้รักษาโรค
5. พฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ (เจาะหู สัก ฝังเข็ม หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์)
Click Donate Support Web