- Details
- Category: CSR
- Published: Friday, 08 February 2019 11:57
- Hits: 3358
ชุมชนคนรุ่นใหม่ Free Spirit Thailand จับมือ สสส. ชวนวัยรุ่นค้นหาตัวเองผ่านงาน Free Spirit Night 2019 นิทรรศการดนตรีและศิลปะ 'เหงา เศร้า กลัว'
กลุ่มชุมชนคนรุ่นใหม่ Free Spirit Thailand ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เว็บไซต์ความสุขประเทศไทย อุทยานการเรียนรู้นครราชสีมา และเทศบาลนครราชสีมา จัดงาน Free Spirit Night 2019 นิทรรศการดนตรีและศิลปะ ‘เหงา เศร้า กลัว’ ครั้งที่ 1 เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้วัยรุ่นไทยได้มีโอกาสรู้จักตนเอง เผชิญหน้าอารมณ์ความเหงา เศร้า กลัว ในชีวิตได้อย่างเข้าใจ สร้างสุขภาวะทางปัญญา ให้วัยรุ่นสามารถดูแลตนเองและเพื่อนใกล้ชิดได้เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ในชีวิต
ภายในงานมีการแสดงผลงานศิลปะกว่า 45 ผลงานจากศิลปินหลากหลาย เช่น Kanith / happydrawing / We Lovetinyline Yodchart Bupasiri / Nanaaa / Jung จัง / NOTE / Superfah Jellyfish / Panyavee / มุนิน / Tom Potisit / Miew8 พร้อมการแสดงดนตรีสดจาก ศรีนวลและหอป้าหน่อย วงดนตรีโฟล์คซอง แนวเพลงนอกกระแส กิจกรรมเสวนา และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย โดยได้รับเกียรติจากคุณสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา เข้าร่วมในพิธีเปิด ณ Art Gallery and Exhibition จ.นครราชสีมา
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการจัดงานครั้งนี้ว่า “ด้วยพันธกิจของสสส.ในการสร้างเสริมสุขภาวะของประชาชนทุกช่วงวัย เพื่อให้ทุกคนมีขีดความสามารถในการดูแลตนเอง คนรอบข้าง และร่วมสร้างปัจจัยแวดล้อมให้สังคมเกิดสุขภาวะ โดยมุ่งสร้างเสริมสุขภาวะครอบคลุมทั้ง 4 มิติ คือ กาย ใจ สังคม และ สุขภาวะทางปัญญา ในส่วนของการสร้างสุขภาวะทางปัญญาจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้คนได้รู้จักเข้าใจตนเองและชีวิตที่เชื่อมโยงกับสังคม
วัยรุ่นเป็นวัยที่เผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ด้วยสาเหตุจากธรรมชาติของวัยรุ่นเอง สภาพแวดล้อมรอบตัว รวมถึงอิทธิพลของสื่อทุกรูปแบบที่ส่งผลต่อมุมมองต่อโลก ทัศนคติ และพฤติกรรม หากเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่นและดึงศักยภาพด้านบวกออกมาให้มากที่สุด ผ่านการจัดปัจจัยแวดล้อมให้วัยรุ่นได้มีโอกาสได้เข้าถึงประสบการณ์ตรงในการพัฒนาจิตใจและกระตุ้นจิตสำนึกด้านบวกในรูปแบบและช่องทางต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้วัยรุ่นได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจความรู้สึกและอารมณ์ของตนเองและวิธีการจัดการความรู้สึกเหล่านั้นอย่างสร้างสรรค์ ทักษะชีวิตเหล่านี้จะนำทางให้ผ่านช่วงเวลาที่สับสน เกิดศักยภาพในการที่จะรู้จักตนเอง เข้าใจคนอื่น ดูแลทั้งตัวเอง เพื่อนๆ และคนใกล้ชิดได้ดียิ่งขึ้น เพื่อก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ที่เข้าใจโลกและพร้อมเผชิญปัญหาต่าง ๆ ด้วยความมั่นคงทางอารมณ์ งานนิทรรศการครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้วัยรุ่นได้เรียนรู้และเข้าใจทั้ง 3 อารมณ์พื้นฐาน เหงา เศร้า กลัวในมิติและมุมมองใหม่ ๆ และเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้ รู้จัก ลองทำกิจกรรมใหม่ ๆ ซึ่งจะทำให้เขารู้จักตัวเองมากขึ้น สำหรับกลุ่มวัยรุ่นที่ชีวิตอาจจะไม่ได้เผชิญกับ 3 อารมณ์นี้ งานนี้ก็จะทำให้เขาได้เข้าใจมุมของคนที่ต้องเผชิญหน้ากับอารมณ์เหล่านี้ได้มากขึ้นเช่นกัน”
ธรากร กมลเปรมปิยะกุล หัวหน้าโครงการ Free Spirit กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า “วัยรุ่นเป็นช่วงเวลาของความสับสน ค้นหาตัวเอง อารมณ์ความเหงา เศร้า กลัว เป็นอารมณ์พื้นฐานที่วัยรุ่นส่วนใหญ่ต้องเผชิญ ขณะเดียวกัน วัยรุ่นเองก็สนใจในสื่อที่เป็นการใช้สมองด้านขวามากกว่างานวิชาการ ดังนั้นเราจึงเลือกใช้สื่อดนตรี ศิลปะเป็นตัวหลักที่จะมาพูดคุยสื่อสารกับวัยรุ่น การได้ชมผลงานที่ศิลปินได้ตกผลึกทั้งมุมมอง ความคิด และนำเสนอถ่ายทอดผ่านความงามของดนตรีและศิลปะ จะทำให้วัยรุ่นได้มีโอกาสใคร่ครวญ เปิดมิติและมุมมองใหม่ ๆ ในเรื่องนี้
ขณะเดียวกัน กลุ่ม Free Spirit เองก็มีเพจเฟซบุ๊ค Free Spirit Club เป็นช่องทางการสื่อสารมากว่า 1 ปี มีแฟนเพจติดตามเรื่องนี้อย่างเข้มข้น งานครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้เปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้แฟนเพจและวัยรุ่นที่สนใจเรื่องนี้ได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุยกัน ทั้งการได้เห็นผลงานจริง ๆ ของศิลปิน การได้พบปะพูดคุยกับตัวศิลปิน และรวมถึงเพื่อน ๆ ที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเดียวกัน เราเชื่อว่าการที่มีพื้นที่ให้วัยรุ่นได้สำรวจตัวเอง เรียนรู้ พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้สึกหรือความทุกข์ในใจที่เขาเผชิญ จะช่วยเยียวยา ทำให้เขารับมือและเรียนรู้ที่จะอยู่กับความทุกข์ในชีวิตได้อย่างเข้าใจมากขึ้น”
ด้าน ทอม โพธิสิทธิ์ หนึ่งในศิลปินที่นำผลงานมาร่วมแสดงในงานได้กล่าวว่า “ผมก็เคยเป็น Phobia มีอาการกลัวเครื่องบินมาก แล้วก็พยายามเยียวยาตัวเองจนมาค้นพบว่าชอบการถ่ายรูปทางอากาศ ก็เลยใช้ศิลปะการถ่ายภาพมาดูแลตัวเอง อยากฝากถึงคนที่ไม่ได้มีสภาวะอารมณ์ เหงา เศร้า กลัว ให้เข้าใจคนที่มีสภาวะทางอารมณ์นี้ อย่าไปรังเกียจ ตีตราว่าเขาผิดปกติ อยากให้ทุกคนยอมรับในความเป็นมนุษย์ของแต่ละคน”
สำหรับ เยาวชนคนรุ่นใหม่ กรรณิกา ศิรินอก และ รดารัตน์ เวสา ที่มาร่วมงานแสดงความรู้สึกของการได้มาร่วมงานนี้ว่า ปกติไม่ค่อยมีงานแบบนี้ให้กับเยาวชน อารมณ์เหงา เศร้า กลัว เป็นอารมณ์ที่คนรุ่นใหม่เจอบ่อย ส่วนใหญ่มาจากเรื่องเพื่อน เวลาที่มีอารมณ์แบบนี้ ก็จะใช้การวาดรูปช่วยเยียวยาตัวเอง การได้มาดูงานของศิลปิน รู้สึกโดนใจ ผลงานหลายชิ้นตรงกับความรู้สึกของตัวเอง ทำให้เข้าใจว่าคนอื่นก็มีอารมณ์แบบนี้เหมือนกับเรา ไม่ใช่เรารู้สึกแบบนี้อยู่คนเดียว
Click Donate Support Web