ปัจจุบันแม้ว่าปัญหาการศึกษาไทยจะได้รับแก้ไขไปส่วนหนึ่งแล้ว ด้วยนโยบายเรียนฟรีบ้าง เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาบ้าง แต่ก็ยังมีเด็กอีกจำนวนไม่ใช่น้อยที่ขาดโอกาสทางการศึกษา
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดพบว่าปัจจุบันคนไทยมีลูกเฉลี่ย 1.5 คนต่อครอบครัว และ มีเด็กเล็กเกือบ 5 แสนคนหรือคิดเป็นร้อยละ 20 ที่ยังไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความยากจน ปัญหาครอบครัว การจัดการศึกษาที่ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่อีกมากในหลายพื้นที่
35 ปีของการดำเนินโครงการทุนการศึกษาเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) นอกจากจะให้โอกาสทางการศึกษาแล้ว ยังมุ่งเน้นสร้างบัณฑิตคุณภาพ ที่มีความรู้ทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ เพราะผู้ได้รับทุนการศึกษาเครือเจริญโภคภัณฑ์ทุกคนจะได้ฝึกปฏิบัติงานจริงในสาขาที่เรียนในช่วงปิดภาคฤดูร้อนกับบริษัท อีกทั้งยังได้ปลูกฝังจิตสำนึกการเป็น “ผู้ให้” ไปพร้อมๆ กันด้วย
และวันนี้นิสิต นักศึกษาผู้ได้รับทุนการศึกษาซีพีได้เติบโตเป็นครู อาจารย์ นักวิชาการ ข้าราชการ ผู้บริหาร เจ้าของธุรกิจฯลฯ และได้มารวมตัวกันครั้งแรกในรอบ 35 ปี กว่า 150 คน ในงานมุทิตาจิต ศิษย์ทุนซีพีครั้งที่ 1 (2557) ร้อยชีวิต ร้อยดวงใจ ร้อยมาลัย ตอบแทนพระคุณ และเพื่อส่งต่อโอกาสดีๆ ด้านการศึกษาคืนให้กับสังคม ภายใต้แนวคิดจาก “ผู้รับ” เป็น “ผู้ให้”
รศ.ดร.เรืองศักดิ์ แก้วธรรมชัย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายแผนงานและวิชาการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หัวเรือใหญ่ในการจัดงานครั้งนี้และได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการศิษย์ทุนซีพี นักศึกษาทุนเครือเจริญโภคภัณฑ์ รุ่นที่ 11 พ.ศ. 2532 ได้รับทุนการศึกษาเครือเจริญโภคภัณฑ์ในช่วงที่เรียนอยู่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า ชีวิตในวัยเด็กฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจน พ่อแเม่เป็นเกษตรกร พี่น้อง 4 คนต้องเรียนหนังสือ ทุนซี.พี.ที่ได้รับได้ช่วยแบ่งเบาภาระ ทำให้มีเวลาทุ่มเทกับการเรียนมากขึ้น ไม่ต้องไปไปตระเวนเล่นดนตรีหารายได้พิเศษ ทำให้ผลการเรียนดีและสอบชิงทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในประเทศญี่ปุ่นได้และกลับมาเป็นอาจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นับจากวันที่ได้รับโอกาสจากซีพีได้ตั้งเข็มทิศชีวิตไว้ว่าโตขึ้นอยากเป็นครู เพราะครูคือ “ผู้ให้” ให้ความรู้ ให้อนาคตกับผู้ที่จะมาเป็นกำลังสำคัญของชาติ เหมือนที่ซีพีเคยให้โอกาส เพราะโดยส่วนตัวเชื่อมาตลอดว่า การศึกษาทำให้คนที่ไม่มีโอกาส สามารถสร้างโอกาสให้กับตนเอง ถ้าเราปล่อยให้คนที่มีความสามารถแต่ไม่มีโอกาสอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เขาก็จะกลายเป็นคนไม่ดี แล้วสร้างปัญหาต่อสังคม ต่อประเทศชาติ แต่ถ้าเราดึงเขาขึ้นมาให้โอกาสเขาได้ขึ้นมา ได้เข้าไปอยู่ในสังคมที่ดี แทนที่จะเขาไปเป็น “ผู้ทำลาย” เขาก็มาเป็น “ผู้สร้าง” “ผู้สานต่อ” คนเหล่านี้ก็จะเป็นกำลังให้กับสังคมและประเทศชาติต่อไป
การรวมตัวของศิษย์เก่าทุนซีพีจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนับหนึ่งเพื่อร่วมกันสานฝันโครงการจาก ”ผู้รับ” เป็น ”ผู้ให้” โดยเริ่มจากจุดเล็กๆแล้วค่อยๆ ขยายไปเรื่อยๆ
ด้าน ผศ.ดร.สุนทร กาญจนทวี หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา นักศึกษาทุนซีพี ปีการศึกษา 2525 ได้รับทุนซีพีขณะเรียนอยู่คณะทรัพยากรธรรมชาติ สาขาอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บอกในทำนองเดียวกันว่า ในอดีตครอบครัวมีอาชีพทำนา ฐานะค่อนข้างยากจน พออายุได้ 13 ปีต้องลาออกจากโรงเรียนกลางคัน เพื่อทำงานหาเงินช่วยครอบครัวแล้วกลับมาเรียนต่ออีกครั้งในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (มศ.4)
หลังเรียนจบ ได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโททางด้าน Food Process Engineering ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ตั้งใจเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด จึงเข้ารับราชการเป็นอาจารย์คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อมาได้รับทุนโคลัมโบไปศึกษาต่อปริญญาเอกทางด้าน Biotechnology ที่มหาวิทยาลัย Massey ประเทศนิวซีแลนด์ แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมาจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ นายสุทัศน์ ไกรวงษ์ Team Executive Supervision Group ธนาคารแห่งประเทศไทย นักศึกษาทุนซีพี รุ่น 1 พ.ศ. 2522 ได้รับทุนการศึกษาซีพีในช่วงที่เรียนอยู่คณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย้อนอดีตให้ฟังว่า ยังจำวันที่ได้รับทุนซีพีได้ดี ช่วงนั้นชีวิตยากลำบากมาก ด้วยความที่เป็นลูกชายคนโต แม่เป็นแม่ค้า พ่อเป็นช่าง รายได้ของครอบครัวจึงน้อยมาก แต่วัฒนธรรมที่บ้านจะมีกินหรือไม่มีกินอย่างไรขอให้ลูกได้เรียน แล้วลูก 4 คนถูกส่งให้มาเรียนที่กรุงเทพฯทั้งหมด บางวันน้องไม่ได้ไปโรงเรียนเพราะไม่มีเงิน ทุนการศึกษาซี.พี.ปีละ 5,000 บาท จึงมีความหมายมากสร้างโอกาสให้ทุกคนในครอบครัวได้เรียนหนังสือจนจบ และได้งานทำที่ดี เมื่อเราได้รับโอกาสจากซี.พี. ก็อยากส่งต่อโอกาสดี ๆให้กับสังคม สนับสนุนการศึกษาให้กับน้องๆรุ่นต่อๆไป เพราะการศึกษาเปลี่ยนชีวิตคนได้จริงๆ
ผศ.ดร.เซง เลิศมโนรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตนักศึกษาทุนซี.พี.รุ่น 16 ปี 2537 เล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า ตนเติบโตมาจากครอบครัวยากจน มีพี่น้องรวมกันถึง 8 คน ทำให้เขาเป็นความหวังของพ่อแม่ที่ต้องการให้เรียนสูงๆ ด้วยความมุ่งมั่นและมีโอกาสได้รับทุนช่วงที่เรียน มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ประสบผลสำเร็จด้านการเรียน และต่อยอดจนจบระดับปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา
วันนี้เมื่อตัวเองประสบความสำเร็จแล้ว ก็ได้พลิกบทบาทจาก “ผู้รับ” ในอดีตมาเป็น “ผู้ให้” โดยใช้ความรู้ที่ได้เรียนมา จัดทำอุปกรณ์ช่วยเหลือคนพิการและคนตาบอด เพราะโดยส่วนตัวเชื่อว่าหากเราให้สังคม สังคมก็จะให้เรากลับมา
นายวัลลภ เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หนึ่งในคณะกรรมการทุนการศึกษาเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวด้วยความปลื้มปิติว่า วันนี้อิ่มเอมใจที่เห็นศิษย์ทุนซีพีสำเร็จการศึกษา ประสบความสำเร็จในชีวิตและยังคิดให้คืนกลับสู่สังคม โครงการนี้จึงถือได้ว่าประสบความสำเร็จบรรลุเป้าหมาย
ในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา ซีพีได้สร้างคนคุณภาพกว่า 2,000 คนให้ประเทศชาติ สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมองค์กรในเรื่อง 3 ประโยชน์ นั่นคือ ประโยชน์ประเทศชาติ ประชาชน และบริษัท เพราะศิษย์ทุนการศึกษาซีพีจำนวนหนึ่งได้มาทำงานกับซีพีและบริษัทในเครือฯ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตแข่งขันได้ในตลาดโลก
|