- Details
- Category: CSR
- Published: Tuesday, 06 November 2018 17:08
- Hits: 3232
สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) โดยการสนับสนุนของ สสส. จัดโครงการสัปดาห์รู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล 2561 (MIDL Week 2018) ชวนภาคีเครือข่ายถกแนวทางการพัฒนาเมืองต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
วันที่ 3 – 4 พฤศจิกายน 2561 สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้จัดโครงการสัปดาห์รู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล 2561 (MIDL Week 2018) ภายใต้แนวคิด MIDL for Inclusive Cities: สร้างเมืองของทุกคน ณ โรงภาพยนตร์ปรินซ์รามา บางรัก กรุงเทพมหานคร ภายในงาน มีกิจกรรมเดินเมืองเรียนรู้ชุมชนย่านบางรัก การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงการใช้สื่อเพื่อพัฒนาและออกแบบเมืองสำหรับทุกคน การฉายภาพยนตร์สารคดีที่เกี่ยวกับเมือง และเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อวางยุทธศาสตร์การสร้างเมืองสำหรับทุกคน และเวที Talk จุดประกาย ท้าทายความคิด โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 คน
เข็มพร วิรุณาพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า เนื่องในระหว่างเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2561 องค์กร UNESCOได้กำหนดให้มีกิจกรรม Global Media and Information Literacy Week 2018 ขึ้นร่วมกันทั่วโลก ภายใต้แนวคิด Media and Information Literate Cities: Voices, Power, and Change Makers ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรู้เท่าทันสื่อ เทคโนโลยี และสารสนเทศ ในยุคดิจิทัล ถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยได้จัดกิจรรมเพื่อเผยแพร่แนวคิด การขับเคลื่อนสัปดาห์รู้เท่าทันสื่อในปีนี้ สสย. ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายจากทั่วประเทศมากถึง 9 โครงการ ทั้งศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย (Thai Civic Education Center) Documentary Club ศูนย์ออกแบบ
และพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC) อาจารย์จากหลากหลายมหาวิทยาลัยได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้แก่ กลุ่มมานีมานะ กลุ่มปันรัก กลุ่ม Inskru กลุ่ม Saturday School กลุ่มยังธน และสมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา ซึ่งแต่ละภาคีได้มีการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ของตัวเองอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาจนถึงปลายปีนี้ โดยมีรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การฉายภาพยนต์สารคดีเกี่ยวกับเมือง กิจกรรมเดินเมืองสำรวจชุมชน เวทีเสวนาสาธารณะ และการสร้างสื่อเพื่อนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเมืองและนำไปสู่การออกแบบเมืองโดยคำนึงถึงคนทุกกลุ่มในพื้นที่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการหลอมหลวมพลังชุดวิธีคิดและรูปแบบกระบวนการครั้งใหญ่ในประเด็นการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล เพื่อสร้างเมืองสำหรับทุกคน
ช่วงเปิดเวทีแลกเปลี่ยนและร่วมกันวางยุทธศาสตร์การสร้างเมืองของทุกคนโดยมีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนทั้งที่เป็นคนทำงานเชิงพื้นที่ ภาคการศึกษา กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตลอดจนตัวแทนจาก สสส. และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เข้าร่วมแลกเปลี่ยน นางสาวเข็มพร ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญว่า “การสร้างให้เห็นเป็นตัวอย่าง เป็นสื่อที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลง หากเราเปิดมุมมองให้คนเกิดความรู้สึกร่วมและสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ ก็จะช่วยให้เขาสามารถลุกขึ้นมาเป็นตัวอย่างในการเปลี่ยนแปลงเมืองได้”
ในส่วนของ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย (Thai Civic Education Center) กล่าวว่า “การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลเป็นการติดอาวุธพลเมืองที่รับผิดชอบต่อตนเอง ให้ลุกขึ้นมาทำงานร่วมกับคนอื่น และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม มองเห็นบทบาทของคนที่รับสื่อไปสู่คนสร้างสื่อที่หลากหลายเพื่อสื่อสารประเด็นและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม การมองเมืองใหม่ด้วยสายตาพลเมืองจึงเป็นการมองความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับเมือง มองเห็นช่องทางการใช้สื่อสร้างอำนาจการต่อรอง”
นอกจากนี้ อ.พสุธา โกมลมาลย์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ผู้ขับเคลื่อนโครงการพลเมืองขยับ (นคร) สกล ยังได้สะท้อนประเด็นสำคัญที่ว่า “เวลาเราพูดถึงการพัฒนาเมือง เราพูดถึงแค่ ในเมือง ในขณะที่เราทิ้งคนที่อยู่นอกเมือง เมืองจะ inclusive ได้อย่างไรถ้าการพัฒนานั้นมีคนนอกเมืองที่ไม่ได้ถูกนับอยู่ด้วย เมืองใช้เงินภาษีของประเทศในการพัฒนามากกว่าที่อื่น ในขณะที่ชนบทต้องแบกรับความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้น”
นายโตมร อภิวัทนากร หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนโครงการเมืองใจกว้าง ยังได้ร่วมสะท้อนมุมมองการวางยุทธศาสตร์สร้างเมืองของทุกคนไว้ว่า “เป็นเรื่องท้าทายของสังคมไทย การเปิดสายตามองเมืองใหม่ในฐานะพลเมือง การมองให้เห็นถึงชีวิตของผู้คนในเมืองทั้งในเชิงการใช้พื้นที่ และเรื่องราวของบุคคล ซึ่งเป็นฐานคิดสำคัญที่จะทำให้คนลุกขึ้นมาทำอะไร หรือไม่ทำอะไร เราต้องยอมรับวามีบางมุมเล็กๆในเมืองมีคนตัวเล็กอยู่ที่คนส่วนใหญ่ไม่ยอมมองเห็น นอกจากที่ว่าเราจะต้องมีตาเห็นสิ่งพวกนี้แล้ว เราต้องมีพื้นที่ปฏิบัติการให้คนมาแชร์กัน ร่วมกันหาวิธีปฏิบัติการในปัญหานั้น ๆ ร่วมกันส่งเสียงสื่อสารออกมในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมองว่าเป็นนี่คือกระบวนการที่สำคัญในการเปลี่ยนวิธีคิดของสังคม ”
ทางด้านนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า “พลังของ connectivity เป็นสิ่งที่สำคัญ เชื่อว่าเทคโนโลยีเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการกระจายอำนาจ เราสามารถนำความรู้ ความคิดเห็นไปสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ในสังคมประชาธิปไตยเทคโนโลยีคือช่องทางการสื่อสารที่สำคัญ ที่สำคัญคือเราต้องทำให้รัฐเห็นในสิ่งที่เราเชื่อ การปฏิบัติจึงจำเป็นต้องเกิดขึ้นโดยดึงเอาคนที่มีอำนาจตัดสินใจเข้ามามีส่วนร่วมด้วย”
การจัดงานในครั้งนี้ จึงถือเป็นการส่งเสียงครั้งใหญ่จากคนหลากหลายภาคส่วนทั้งผู้ขับเคลื่อนงานในพื้นที่และระดับนโยบาย ทำให้เกิดข้อเสนอและมุมมองการพัฒนาเมืองที่เล็งเห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทั้งในเชิงการสร้างการมีส่วนร่วม การเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิด และการต่อรองและเรียกร้องต่ออำนาจรัฐเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนฐานคิดของการออกแบบและพัฒนาเมืองให้เป็นพื้นที่ที่นับรวมทุกคนและไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง….
#MIDLWEEK2018 #MIDLforInclusiveCities #InclusiveCities