- Details
- Category: CSR
- Published: Sunday, 08 July 2018 20:39
- Hits: 2400
ธ.ก.ส. จัดมหกรรม ช็อป ชิม แชร์ สุดยอดเนื้อไทย ในงาน Thai Premium Beef Festival 2018
ธ.ก.ส. เปิดงานตลาดประชารัฐ ของดีวิถีชุมชน ธ.ก.ส. Thai Premium Beef Festival 2018 โชว์ศักยภาพการผลิตโคเนื้อของประเทศไทยและการแปรรูปโคเนื้อที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด นำผลิตภัณฑ์โคเนื้อเกรดพรีเมี่ยม จากผู้ประกอบการและสหกรณ์ผู้ผลิตชั้นนำ มาจัดจำหน่ายตรงสู่ผู้บริโภค พร้อมร่วมช็อป ชิม แชร์ เมนูเนื้อคุณภาพ จากเชฟและร้านอาหารชื่อดังในระหว่างวันที่ 6-8 กรกฎาคม 2561 นี้ ณ ตลาดบองมาร์เช่ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
นายประสิทธิ์ อำภรณ์ กรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และนายมรกต พิธรัตน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ร่วมเปิดงาน "ตลาดประชารัฐของดีวิถีชุมชน ธ.ก.ส. Thai Premium Beef Festival 2018" พร้อมมอบสินเชื่อแฟรนไชส์ให้กับผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนด้านการตลาดให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อคุณภาพจากทั่วทุกภูมิภาค โดยภายในงานมีการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์โคเนื้อคุณภาพเกรดพรีเมี่ยมจากสหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการลูกค้า ธ.ก.ส. ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารและเครื่องใช้จากเนื้อและหนังโคคุณภาพ ช็อป ชิม แชร์ เมนูเนื้อคุณภาพ จากเชฟชื่อดังของเมืองไทย ในระหว่างวันที่ 6-8 กรกฎาคม 2561 ณ ตลาดบองมาร์เช่ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
นายมรกต พิธรัตน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และเกษตรกร ผู้เลี้ยงโคขุนคุณภาพทั้งประเทศ จัดงาน “ตลาดประชารัฐ ของดีวิถีชุมชน ธ.ก.ส. Thai Premium Beef Festival 2018” ระหว่างวันที่ 6 – 8 กรกฎาคม 2561 ณ ตลาดบองมาร์เช่ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เพื่อสนับสนุนด้านการตลาดโคเนื้อคุณภาพของประเทศไทย สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนว่าโคเนื้อของไทยมีคุณภาพทัดเทียมกับเนื้อนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งนอกจาก เป็นการส่งเสริมการบริโภคโคเนื้อที่ผลิตในประเทศไทยเพื่อทดแทนการนำเข้าแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคในประเทศได้มีช่องทางในการจำหน่ายสินค้า มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงการสนับสนุนให้เกษตรกรได้ปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขัน อันเนื่องมาจากมาตรการเปิดเสรีการค้า (FTA) ในปี 2563 ที่ส่งผลให้ภาษีนำเข้าโคเนื้อเป็นศูนย์
ภายในงานจะมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์โคเนื้อคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม จากสหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโคเนื้อในประเทศ จำนวน 9 สหกรณ์ เช่น สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลาง โพนยางคำ จำกัด KU Beef Max Beef เป็นต้น การช็อป ชิม แชร์ เมนูเนื้อคุณภาพ จากเชฟชื่อดังของเมืองไทย เชฟเอียน เชฟพล และเชฟเฟิร์ส และร้านอาหารหลากหลายประเภท ในรูปแบบ Street food ที่พร้อมเสิร์ฟอาหารแสนอร่อยที่ทำจากเนื้อ มาบริการให้กับผู้เข้าชมงาน กิจกรรมการจับคู่ทางธุรกิจ ( Business matching) ระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อกับผู้ประกอบการ การต่อยอดธุรกิจแฟรนไชส์โดยการสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ย 0% ระยะเวลา 6 เดือน ให้เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการประกอบอาชีพสร้างรายได้ และการแสดงนิทรรศการของส่วนงานเครือข่าย
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อประมาณ 800,000 ราย จำนวนโคเนื้อ 4.4 ล้านตัว โดย ธ.ก.ส. ได้อำนวยสินเชื่อแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อจำนวน 682,529 ราย จำนวนเงิน 81,273 ล้านบาท และยังได้ดูแลเกษตรกรที่มีอาชีพเชื่อมโยงในห่วงโซ่การเลี้ยงโคเนื้อ ได้แก่ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้ปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง และปลูกหญ้าเนเปียร์อีกกว่า 100,000 ราย จำนวนเงินให้สินเชื่อกว่า 10,000 ล้านบาท ในส่วนของการเลี้ยงโคขุนคุณภาพ ธ.ก.ส. ได้อำนวยสินเชื่อแก่เกษตรกรจำนวน 173,588 ราย (เป็นเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย 52,000 ราย) จำนวนสินเชื่อ 17,885 ล้านบาท
นอกจากนี้ เพื่อช่วยเหลือสหกรณ์ผู้ผลิตโคเนื้อคุณภาพและเกษตรกรที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต ธ.ก.ส.ได้ร่วมกับเครือข่ายเข้าไปพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยที่เลี้ยงโคเนื้อคุณภาพ การเชื่อมโยงด้านการตลาด เพื่อให้สามารถจำหน่ายเนื้อได้ทั้งชิ้นส่วนหลักและชิ้นส่วนรอง การจัดทำตราสินค้าโคเนื้อคุณภาพ ( A-Beef) การเชื่อมโยงสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) เช่น สกต.สกลนคร จำกัด ให้เป็นจุดรวบรวมกระจายสินค้า (HUB) และจุดตัดแต่งเนื้อ รวมถึงเป็นผู้แทนการทำแฟรนไชส์ A-Beef ซึ่งช่วยสร้างอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ที่สนใจ ให้มีรายได้เฉลี่ยเดือนละกว่า 30,000 บาท
“การจัดงานในครั้งนี้ ธ.ก.ส.มุ่งหวังให้เกษตรกรไทยและเครือข่ายสหกรณ์ ที่ผลิตเนื้อไทยที่มีคุณภาพทัดเทียมต่างประเทศ ได้นำเนื้อโคจากแหล่งผลิตชั้นนำทั่วประเทศมาเปิดตัว เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้จักและหันมาบริโภคเนื้อไทยเพิ่มขึ้น อันเป็นการสนับสนุนเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยให้หลุดพ้นจากความยากจน สร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน”