- Details
- Published: Monday, 05 August 2024 19:44
- Hits: 7594
ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือ EXIM BANK แลกเปลี่ยนข้อมูล ESG ส่งเสริมสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมุ่งพัฒนาทุกภาคส่วนให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน โดยมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ภายใต้โครงการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูล ESG เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนระบบนิเวศสำหรับการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) รวมถึงข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ผ่านระบบ ESG Data Platform และสนับสนุนระบบ SET Carbon สำหรับลูกค้าของธนาคารให้มีการดำเนินงานตามเป้าหมายความยั่งยืน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ และ EXIM BANK จะร่วมกันพัฒนาสินเชื่อจากการใช้ข้อมูลด้าน ESG ประกอบการพิจารณา ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 และเริ่มให้บริการในปี 2568
ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เล็งเห็นถึงความต้องการข้อมูลด้าน ESG ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มผู้ลงทุน และสถาบันการเงินที่นำข้อมูล ESG ไปใช้ประกอบการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินการลงทุนเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เร่งพัฒนาเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มรองรับข้อมูล ESG ซึ่งปัจจุบันมีระบบจัดการข้อมูลด้าน ESG เช่น ระบบ SET ESG Data Platform ที่ให้บริการข้อมูลตั้งแต่ปี 2566 โดยรวบรวมข้อมูลด้าน ESG ของ บจ. กว่า 700 บริษัท
อีกทั้ง พัฒนาระบบ SET Carbon ที่อยู่ระหว่างการทดลองใช้ระบบโดย บจ. นำร่องในปี 2567 และจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2568 ซึ่งจะช่วยให้ บจ. และบริษัทในห่วงโซ่อุปทานสามารถจัดทำและทวนสอบข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพบนระบบงานเดียว
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนและนำข้อมูลไปใช้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้ข้อมูล ESG เพื่อการระดมทุนและการลงทุน ความร่วมมือกับ EXIM BANK ครั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อมั่นว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเครื่องมือทางการเงินมากยิ่งขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาระบบนิเวศทางการเงินที่ยั่งยืนของประเทศไทย
ดร. รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ภาคการเงินการธนาคารมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างสมดุล ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกในปัจจุบัน ธนาคารทั่วโลกโดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Banks) มีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวและเติบโตได้มากถึง 1 ใน 3 ของมูลค่า Climate Finance ของโลก
EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาสีเขียวของประเทศไทย (Green Development Bank) ได้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินสีเขียว (Greenovation) ที่สนับสนุนโครงการหรือธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในครั้งนี้นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยใช้ฐานข้อมูลที่ได้มาตรฐานสากลมาเป็น Input ในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเงินการธนาคารของไทยไปสู่ความยั่งยืน ช่วยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG) มากยิ่งขึ้น
ข้อมูลด้าน ESG จากตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยให้ธนาคารดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจได้รับการส่งเสริมให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์และสิทธิประโยชน์ทางการเงินต่างๆ ตลอดจนการเข้าร่วมอยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของการส่งออกสีเขียว (Green Export Supply Chain) สามารถพัฒนาการจัดทำรายงานและวางแผนเพื่อการจัดการก๊าซเรือนกระจกได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ พร้อมปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านสิ่งแวดล้อม และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ EXIM BANK จะเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินการและเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการเงินลงทุนในการสนับสนุนเป้าหมายด้านความยั่งยืน และร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงิน บริการ รวมถึงสิทธิประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้เสีย นอกจากนี้ จะต่อยอดและพัฒนาระบบนิเวศด้านความยั่งยืนเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถดำเนินงาน ปรับปรุง พัฒนา หรือวางแผนการจัดการด้านการลงทุนในกิจการ เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและเป้าหมายทางธุรกิจ โดยเฉพาะแนวทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายพัฒนาบริการด้านความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โทร 0 2009 9894 หรือ 0 2009 9887 หรือฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร 0 2169 9999
8119