- Details
- Published: Thursday, 11 July 2024 18:14
- Hits: 8539
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในเกณฑ์ ‘ทรงตัว’ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 นักลงทุนคาดหวังปัจจัยหนุนจากผลประกอบการบจ. และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัจจัยฉุดคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และเงินทุนไหลออก
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนกรกฎาคม 2567 (สำรวจระหว่างวันที่ 20-30 มิถุนายน 2567) พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 82.89 ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” นักลงทุนมองว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ รองลงมาคือการไหลออกของเงินทุน และสถานการณ์การเมืองในประเทศ
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนมิถุนายน 2567 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
● ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กันยายน 2567) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (ช่วงค่าดัชนี 80-119) ที่ระดับ 82.89
● ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล และกลุ่มนักลงทุนสถาบันอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา”
● หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON)
● หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP)
● ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน
● ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ
“ผลสำรวจ ณ เดือนมิถุนายน 2567 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนทุกกลุ่มปรับลดลง โดยกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับลด 3.3% มาอยู่ที่ระดับ 93.65 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลด 42.9% มาอยู่ที่ระดับ 57.14 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 10.0% มาอยู่ที่ระดับ 110.00 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับลด 25.0% อยู่ที่ระดับ 75.00
ในช่วงครึ่งแรกของเดือนมิถุนายน 2567 SET index ปรับตัวลดลงจากความกังวลทั้งจากปัจจัยทางการเมือง อาทิ คดีของนายกรัฐมนตรีและพรรคก้าวไกลที่อยู่ในกระบวนการศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศทั้งภาคการผลิตและภาคการส่งออกที่ยังฟื้นตัวได้ช้า ส่งผลให้ดัชนีหลุดกรอบ 1,300 ในช่วงกลางเดือน อย่างไรก็ตาม ดัชนีปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังของเดือนโดยได้แรงหนุนจากมาตรการภาครัฐ อาทิ การปรับเงื่อนไขกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) และเตรียมฟื้นกองทุนรวมวายุภักษ์ โดย SET Index ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 ปิดที่ 1,300.96 ปรับตัวลดลง 3.3% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ 45,238 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิกว่า 34,342 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 115,983 ล้านบาท
ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ แนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางในแต่ละประเทศจากการที่อัตราเงินเฟ้อโลกชะลอตัวลง อีกทั้งต้องจับตามองการเลือกตั้งในสหรัฐและสภายุโรป และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ มาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะช่วยกระตุ้นการส่งออกและการบริโภคในประเทศ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐซึ่งจะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 และติดตามผลของมาตรการกระตุ้นตลาดทุนผ่านกองทุน ThaiESG และผลของมาตรการฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุนซึ่งคาดหวังว่าจะช่วยลดแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติและอาจทำให้ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัว”
7347