- Details
- Category: กลต.
- Published: Wednesday, 08 November 2017 17:46
- Hits: 5803
ก.ล.ต.เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับระบบใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ มุ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอ และรองรับธุรกิจในอนาคต
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ จากระบบที่ให้ผู้มีใบอนุญาตทำธุรกิจตามกลุ่มประเภทธุรกิจที่สำนักงานกำหนด เป็นระบบที่ขอรับใบอนุญาตเฉพาะเท่าที่จำเป็นตามรูปแบบธุรกิจ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและรองรับธุรกิจในอนาคต
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการและร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการปรับปรุงการขอรับใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ โดยผู้ขอรับใบอนุญาตสามารถเลือกขอได้ตามรูปแบบการทำธุรกิจของตน ซึ่งจะสามารถรองรับธุรกิจหลักทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นได้ทุกประเภทในอนาคต และเปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบธุรกิจที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ลงทุนเพิ่มขึ้น อันเป็นการส่งเสริมการแข่งขันในตลาดทุน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย ease of doing business ของภาครัฐ การปรับปรุงครั้งนี้ ยังคงคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตไว้เช่นเดิม และปรับปรุงให้ค่าธรรมเนียมไม่เป็นภาระเกินควรต่อผู้ประกอบธุรกิจด้วย
แนวการปรับระบบการขอใบอนุญาตในครั้งนี้ จะเป็นการขอใบอนุญาตที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบธุรกิจที่ต้องการในคราวเดียว เช่น บริษัทต้องการประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายตราสารทุน และตราสารหนี้ บริษัทก็สามารถยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เฉพาะประเภทดังกล่าวจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ ซึ่งหากต่อไปต้องการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทอื่น ก็สามารถยื่นขอใบอนุญาตเพิ่มเติมได้ จากระบบเดิมที่เป็นการขอใบอนุญาตตามกลุ่มประเภทธุรกิจที่สำนักงานกำหนด
นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงการเก็บค่าธรรมเนียมที่ผู้ยื่นคำขอรับใบต้องชำระให้แก่สำนักงาน โดยอัตราค่าพิจารณาคำขอรับใบอนุญาต 30,000 บาท ต่อประเภทธุรกิจ ต่อการยื่นขอรับใบอนุญาตในแต่ละครั้ง และยกเลิกการเก็บค่าใบอนุญาตแรกเข้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระเกินจำเป็น โดยจะมีการเยียวยาผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจที่ชำระค่าใบอนุญาตตามกฎกระทรวงปัจจุบันตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดด้วย
ก.ล.ต. เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. http://capital.sec.or.th/webapp/phs/upload/phs1510047886hearing_071160.pdf ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือโทรศัพท์/โทรสาร ที่ โทร. 0-2033-4620 หรือ 0-2263-6050 หรือ ทาง e-mail [email protected] หรือ [email protected] จนถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2560