- Details
- Category: กลต.
- Published: Saturday, 24 June 2017 08:25
- Hits: 9582
ก.ล.ต. สั่ง POLAR จัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ
ก.ล.ต. สั่งให้บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) (POLAR) จัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) เกี่ยวกับที่มา ความมีอยู่จริง ความครบถ้วนในการบันทึกบัญชี และการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินของหนี้สินตามที่ POLAR แจ้งไว้ในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเปิดเผยผลการตรวจสอบภายใน 30 วัน
POLAR นำส่งงบการเงินงวดสิ้นปี 2559 ต่อ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 มีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก 4,580 ล้านบาท แต่ POLAR ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 POLAR ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางว่า POLAR มีหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนแล้ว รวมทั้งสิ้น 5,718 ล้านบาท ซึ่งอาจมากกว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่
ข้อมูลหนี้สินที่ POLAR เปิดเผยในงบการเงินแตกต่างจากมูลหนี้ในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหากข้อมูลดังกล่าวไม่ถูกต้องอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถือหลักทรัพย์ หรือผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนได้
ก.ล.ต. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 58(3) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 สั่งให้ POLAR จัดทำ special audit เกี่ยวกับที่มา ความมีอยู่จริง ความครบถ้วนในการบันทึกบัญชี และการเปิดเผยข้อมูลหนี้สินที่ POLAR แจ้งไว้ในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ โดยผู้สอบบัญชีที่สังกัดสำนักงานสอบบัญชีขนาดใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่ง (big 4) และให้ส่งผลการตรวจสอบต่อ ก.ล.ต. พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 30 วันด้วย
ตลท.ให้ POLAR แจงเพิ่มกรณีฟื้นฟูกิจการภายใน 21 มิ.ย.หลังพบข้อเท็จเท็จจริงไม่สอดคล้องกัน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขอให้ บมจ.โพลาริส แคปปิตัล (POLAR) ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมกรณีบริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ โดยเผยแพร่ผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ภายในวันที่ 21 มิถุนายน 2560 เนื่องจากคำชี้แจงของบริษัทมีข้อเท็จจริงที่ไม่สอดคล้องกันและไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่บริษัทได้เคยแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ ตลท.ให้ POLAR ชี้แจงกรณีที่บริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายเนื่องจากมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขณะที่งบการเงินประจำปี 2559 (ฉบับล่าสุด) บริษัทมีหนี้สินรวม 465 ล้านบาท และมีส่วนผู้ถือหุ้น 4,580 ล้านบาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่บริษัทไม่ได้เปิดเผยข้อมูลต่อ ตลท.นั้น ทางบริษัทชี้แจงว่าเพราะยังมีความไม่แน่นอนในกระบวนการฟื้นฟูกิจการว่าศาลฯ จะมีคำสั่งเป็นประการใด และสาเหตุที่บริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากบริษัทมีภาระหนี้รวม 5,254 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัว
ตามข้อกำหนดของ ตลท.ว่าด้วยเรื่องแนวทางการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนกำหนดว่าบริษัทจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลทันทีเมื่อบริษัทจดทะเบียนหรือเจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น การที่บริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 โดยไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของ ตลท.นอกจากนี้มีข้อเท็จจริงที่ไม่สอดคล้องกันและไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่บริษัทได้เคยแจ้งต่อ ตลท.
ดังนั้น ตลท.จึงขอให้บริษัทชี้แจงเพิ่มเติมและเผยแพร่ผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ภายในวันที่ 21 มิถุนายน 2560
สำหรับ สรุปลำดับเหตุการณ์สำคัญตามที่บริษัทชี้แจงได้ ดังนี้ วันที่ 3 พฤษภาคม 2560 คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติงบการเงินปี 2559 ,วันที่ 8 พฤษภาคม 2560 คณะกรรมการบริษัทเชิญที่ปรึกษากฏหมายและทนายความของบริษัทเข้าร่วมประชุม ให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ตามที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและการต่อสู้คดีกับบุคคลที่ฟ้องร้องบริษัทจำนวน 3 ราย ตามข้อ 1-3 รวมทั้งนำส่งงบการเงินปี 2559 เผยแพร่ผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ และวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 บริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลฯ โดยระบุหนี้ที่บุคคลทั้ง 3 รายฟ้องดำเนินคดีเป็นส่วนหนึ่งของหนี้ที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ
ทั้งนี้ สรุปข้อมูลที่โจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ได้ดังนี้ คดีดำที่ 343/2560 โจทก์ คือ บริษัท ซิมบา อินเตอร์ จำกัด ฟ้องค่าเสียหายจากการวางแผนโครงการพังงา มูลหนี้ 503 ล้านบาท โดยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง วันที่ 2 พฤษภาคม 2560 , คดีดำที่ 2082/2560 โจทก์ คือ บริษัท ยูไนเต็ด เทรดดิ้ง กรุ๊ป จำกัด ฟ้องค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์จากการยกเลิกการลงทุนโครงการพังงา มูลหนี้ 2,772 ล้านบาท โดยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง วันที่ 21 พฤษภาคม 2560 และคดีดำที่ 2127/2560 โจทก์ คือ นายกำแหง หุ่นหิรัณย์สาย ฟ้องเรียกให้ชำระหนี้และค่าเสียหายจากการยกเลิกการจำหน่ายหุ้นบริษัท แพลทตินั่ม ออโต้ เซอร์วิส จำกัด มูลหนี้ 345 ล้านบาท โดยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง วันที่ 30 พฤษภาคม 2560 รวมมูลค่าทั้งสิ้น 3,620 ล้านบาท
ตลท.ขอให้บริษัทชี้แจงเพิ่มเติมดังนี้ 1. เหตุใดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 จึงสามารถนำมูลหนี้ที่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องในวันที่ 21 และ 30 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่บริษัทไปยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 มาใช้ในการพิจารณาว่าบริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัวและใช้เป็นข้อมูลในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการผ่านศาลฯได้
2.กรณีที่บริษัทแจ้งว่านายกำแหง หุ่นหิรัณย์สาย ฟ้องให้บริษัทชำระหนี้และค่าเสียหายจากการยกเลิกการจำหน่ายหุ้นบริษัท แพลทตินั่ม ออโต้ เซอร์วิส จำกัด 345 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้อีกจำนวนหนึ่งที่มีผลทำให้บริษัทพิจารณาว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวและยื่นฟื้นฟูกิจการผ่านศาลฯนั้น ในขณะที่บริษัทได้เคยแจ้งสารสนเทศต่อ ตลท.ดังนี้ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 คณะกรรมการบริษัทมีมติขายหุ้นบริษัท แพลทตินั่ม ออโต้ เซอร์วิส จำกัด ทั้งหมดให้นายกำแหง หุ่นหิรัณย์สาย ในราคา 105 ล้านบาท และวันที่ 21 ธันวาคม 2559 คณะกรรมการบริษัทมีมติยกเลิกการจำหน่ายหุ้นดังกล่าว เนื่องจากผู้ซื้อ ไม่มีความประสงค์ที่จะเข้าซื้อหุ้นอีกต่อไป ดังนั้น จึงขอให้บริษัทอธิบายว่าเหตุใดการที่ผู้ซื้อ (นายกำแหง) ซึ่งเป็นผู้ขอยกเลิกการซื้อหุ้นเอง จึงฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกการจำหน่ายหุ้นดังกล่าว
3.คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้นอย่างไร จึงพิจารณาหนี้ที่เกิดจากการเรียกร้องค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์เป็นภาระหนี้ทั้งจำนวนของบริษัท จนเป็นเหตุให้บริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัว และยื่นขอฟื้นฟูกิจการผ่านศาลฯ
4. ขอให้สรุปข้อมูลของแต่ละคดีที่โจทก์ทั้ง 3 ราย ฟ้องร้องดังนี้ ได้แก่ รายละเอียดของโจทก์แต่ละราย เช่น วันที่จัดตั้งบริษัท ทุนจดทะเบียน ผู้ถือหุ้นและกรรมการ การประกอบธุรกิจ เป็นต้น ,ลักษณะการทำธุรกรรมระหว่างบริษัทและโจทก์โดยละเอียด พร้อมระบุวันที่เกิดรายการ และสถานะปัจจุบันของโครงการพังงา , สรุปคำฟ้องของโจทก์แต่ละราย
อินโฟเควสท์