- Details
- Category: กลต.
- Published: Thursday, 17 November 2016 17:57
- Hits: 5772
ก.ล.ต.กล่าวโทษอดีตผู้บริหาร บล.คันทรี่กรุ๊ป กับพวกรวม 3 ราย ฐานทุจริต
ก.ล.ต. กล่าวโทษนายชูพงศ์ ธนเศรษฐกร อดีตกรรมการผู้จัดการสายวาณิชธนกิจของบริษัทหลักทรัพย์คันทรี่กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (บล.คันทรี่กรุ๊ป) กับพวก รายนายชาญชัย ผิวเหลืองสวัสดิ์ และนางอรพิมล ผิวเหลืองสวัสดิ์ รวม 3 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ฐานกระทำทุจริต
ก.ล.ต. ตรวจสอบกรณีการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนในครั้งแรก (IPO) ของบริษัท ทาคูนิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TAKUNI) และบริษัท ซีซีเอ็น-เทค จำกัด (มหาชน) (CCN) ในช่วงปลายปี 2557 พบว่า นายชูพงศ์ ซึ่งเป็นผู้บริหาร บล. คันทรี่กรุ๊ป ที่รับผิดชอบการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ของ TAKUNI และ CCN ในขณะนั้น ได้ใช้ชื่อของบุคคลอื่นในการจองและรับจัดสรรหุ้นในส่วนของผู้มีอุปการคุณของ TAKUNI และ CCN แทนตนเอง ซึ่งตามหลักเกณฑ์จะไม่อนุญาตให้มีการจำหน่ายหรือจัดสรรหลักทรัพย์ให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้กรรมการหรือผู้บริหารใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการจัดสรรหลักทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้เกี่ยวข้อง
การที่นายชูพงศ์นำชื่อของบุคคลอื่นมารับจัดสรรหุ้นเพื่อตนเอง และได้รับผลประโยชน์ไปรวมเป็นเงินกว่า 42 ล้านบาท จึงถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยมีนายชาญชัย และนางอรพิมล เป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุน
การกระทำของนายชูพงศ์ นายชาญชัย และนางอรพิมล เป็นความผิดตามมาตรา 311 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ) นอกจากนี้ บล. คันทรี่กรุ๊ป เป็นบริษัทจดทะเบียน นายชูพงศ์จึงมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตามมาตรา 89/7 ซึ่งมีระวางโทษตามมาตรา 281/2 วรรค 2 แห่งกฎหมายฉบับเดียวกัน ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย ก.ล.ต. จึงได้กล่าวโทษผู้กระทำผิดทั้ง 3 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ
นอกจากนี้ การถูกกล่าวโทษเนื่องจากการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว ทำให้นายชูพงศ์เข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจให้เป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน และมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ หรือบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษ
ทั้งนี้ การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลยุติธรรม