- Details
-
Category: กลต.
-
Published: Friday, 10 April 2015 09:48
-
Hits: 2390
ก.ล.ต. ประกาศใช้เกณฑ์อนุญาตให้บริษัทต่างประเทศเสนอขายหุ้นต่อประชาชน
ก.ล.ต. ประกาศหลักเกณฑ์อนุญาตให้บริษัทต่างประเทศออกและเสนอขายหุ้นต่อประชาชนในประเทศไทย (primary listing)
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ขณะนี้ ก.ล.ต. ประกาศหลักเกณฑ์ primary listing โดยการกำกับดูแลบริษัทต่างประเทศ จะใช้มาตรฐานเดียวกับกรณีบริษัทไทยที่ระดมทุนในประเทศ แต่จะมีข้อกำหนดเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญ อาทิ
- การเสนอขายหุ้นต่อประชาชนในวงกว้างต้องนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย
- การเปรียบเทียบกฎหมายพื้นฐานในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ถือหุ้น (regulatory mapping) ทั้งนี้ ในกรณีที่กฎหมายต่างประเทศข้างต้นไม่เข้มงวดเท่ากฎหมายไทยในเรื่องใด ๆ จะต้องจัดให้มีกลไกคุ้มครองผู้ถือหุ้นในเรื่องนั้น ๆ ให้เทียบเคียงได้กับกฎหมายไทยด้วย
- การให้ความช่วยเหลือด้านการตรวจสอบและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายหลักทรัพย์ (enforcement) จากหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนต่างประเทศ
- การมีกรรมการสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในไทยอย่างน้อย 2 คน โดยอย่างน้อย 1 คน ต้องทำหน้าที่เป็นกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ
- การจัดทำงบการเงินซึ่งอนุญาตให้ทำตามมาตรฐานการบัญชีไทยหรือสากลตามที่กำหนดได้
- การมีที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ดูแลและให้คำแนะนำเป็นเวลา 3 ปี
- การเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้น (แบบ filing) เช่น สิทธิและความคุ้มครองผู้ลงทุน ข้อจำกัดและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เช่น การฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมาย ข้อจำกัดเกี่ยวกับการส่งเงินออกนอกประเทศ
สำหรับกรณีบริษัทต่างประเทศที่มาเสนอขายหุ้นต่อประชาชนผ่านการจัดตั้งholding company ในประเทศไทยโดยลักษณะเสมือนบริษัทต่างประเทศจะมาเสนอขายหุ้นต่อประชาชนในไทยทางอ้อมผ่าน holding company ก็จะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ primary listing นี้เช่นกัน อย่างไรก็ดี หากเป็นกรณี holding company ที่จัดตั้งในไทยและเป็นบริษัท
ของคนไทย แต่ไปลงทุนในบริษัทย่อยที่เป็นธุรกิจหลักซึ่งจัดตั้งในต่างประเทศ จะนำหลักเกณฑ์ข้างต้นมาใช้บางส่วน เช่น การทำ regulatory mapping เป็นต้น
“การเปิดให้มีหุ้นของบริษัทต่างประเทศจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็นการสนับสนุนการเชื่อมโยงตลาดทุนไทยกับภูมิภาคและตลาดโลก ส่งผลให้ทั้งผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะทำให้ตลาดทุนไทยเติบโต มีขนาดใหญ่และน่าสนใจยิ่งขึ้นแล้ว ยังส่งเสริมการระดมทุนของคนไทยที่ทำธุรกิจอยู่ใน
ต่างประเทศ และกิจการจากประเทศที่ต้องการเงินทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้สามารถเติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย” นายวรพล กล่าว