- Details
- Category: กลต.
- Published: Thursday, 04 April 2024 12:59
- Hits: 6786
ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์ตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน เปิดโอกาส SME – Startup เข้าถึงแหล่งทุนและมีส่วนร่วมพัฒนาด้านความยั่งยืน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน เพื่อรองรับการออกและเสนอขายผ่านช่องทางคราวด์ฟันดิงและการเสนอขายในวงจำกัด สำหรับ SME และ Startup ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านความยั่งยืน รวมทั้งยกระดับการเปิดเผยข้อมูลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567
ตามที่ ก.ล.ต. มีแนวคิดในการปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน* เพื่อเปิดโอกาสให้กิจการทุกขนาด รวมทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) สามารถระดมทุนผ่านตราสารประเภทนี้ได้ ผ่านช่องทางคราวด์ฟันดิง (crowdfunding) และการเสนอขายในวงจำกัด เพื่อส่งเสริมให้ SME และ Startup สามารถเร่งปรับตัวและมีส่วนร่วมกับการพัฒนาธุรกิจในมิติความยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญต่อกลยุทธ์และการประกอบธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยงด้านความยั่งยืน ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และมีส่วนร่วมในการผลักดันให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยได้นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณายกร่างประกาศและเปิดรับฟังความเห็นต่อร่างประกาศไปเมื่อเดือนธันวาคม 2566 นั้น
ก.ล.ต. จึงออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 โดยมีสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
(1) ขยายเกณฑ์การเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพสำหรับบริษัทจำกัด (PP-SME)** ให้รองรับการออกและเสนอขายตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (green bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (social bond) หรือตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond)
(2) ขยายเกณฑ์การเสนอขายหุ้นกู้ผ่าน crowdfunding ให้รองรับการออกและเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนทุกประเภท
ทั้งนี้ ผู้ออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน ยังมีหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลและการรายงานข้อมูลต่อผู้ลงทุนในส่วนที่เกี่ยวกับด้านความยั่งยืน เช่น วัตถุประสงค์การใช้เงินด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม การคัดเลือกโครงการ การรายงานความคืบหน้าโครงการ การกำหนดเป้าหมายของธุรกิจที่สอดรับกับด้านความยั่งยืน และการรายงานผลความคืบหน้าตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่กำหนดไว้ เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน ตลอดจนเพิ่มความน่าเชื่อถือในการออกตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดคู่มือสำหรับการออกและเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน และประกาศ
ที่เกี่ยวข้องได้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/LawandRegulations/ResourceCenter-SustainabilityBond.aspx
________________________
หมายเหตุ:
* ตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน ประกอบด้วยตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (green bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (social bond) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability-linked bond: SLB)
** PP-SME หมายถึง การเสนอขายหลักทรัพย์ต่อบุคคลในวงจำกัด (PP) ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่เป็นบริษัทจำกัด
4141