- Details
- Category: กลต.
- Published: Saturday, 09 March 2024 16:55
- Hits: 7211
ก.ล.ต. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 15 ราย กรณีสร้างราคาหุ้น STAR
ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 15 ราย กรณีสร้างราคาหุ้นบริษัท สตาร์ ยูนิเวอร์แซล เน็ตเวิร์ค จำกัด (มหาชน) (STAR) โดยเรียกให้ชำระเงินตามมาตรการลงโทษทางแพ่งรวม 65,170,068 บาท กำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารกับผู้กระทำความผิด 14 ราย
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในปี 2561 ช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ และช่วงกรกฎาคม -สิงหาคม กลุ่มผู้กระทำความผิด 15 ราย ได้แก่ (1) นางสาวยุวดี วชิรปภา (2) นางอนัญญา เรืองศักดิ์วิชิต (3) นางกิ่งกาญจน์ สมิตานนท์ (4) นางสาวนฤมล แมงทับ (5) บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) (บล.บียอนด์) ขณะเกิดเหตุ ใช้ชื่อบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) (6) นายโดม พรหมายน (7) นางสาวสุรัชนี ลิ่มอติบูลย์ (8) นางปิยมา ชรินธร (9) นางสาวณัฐชานันท์ สิริรุจิโยทัย (10) นายสุสิชณ์ทักษ์ อัจฉริยะสมบัติ (11) นายธนกฤต อัจฉริยะสมบัติ (12) นางสาวภัสธารีย์ วงษ์ทองหลิน (13) นายประพล มิลินทจินดา (14) นายกานต์ พรหมายน และ (15) นายพีรพันธ์ กิจพ่อค้า ซึ่งมีความสัมพันธ์กันในทางส่วนตัวหรือธุรกิจโดยตรงหรือผ่านการเชื่อมโยงกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันโดยแบ่งหน้าที่กันส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น STAR* ในลักษณะสอดรับและสนับสนุนกันผลักดันราคา จับคู่ซื้อขายระหว่างกัน หรือส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะขัดขวางการซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลอื่น ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์และส่งคำสั่งซื้อขายในลักษณะต่อเนื่องกัน โดยมุ่งหมายให้ราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด
การกระทำของบุคคลดังกล่าวข้างต้นเป็นความผิดตามมาตรา 244/3(1)(2) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 หรือประกอบมาตรา 83 และมาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 296 มาตรา 296/1 และมาตรา 296/2 และมาตรการลงโทษทางแพ่งตามมาตรา 317/4 และมาตรา 317/5 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับ** กับผู้กระทำความผิดทั้ง 15 ราย โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่
ก. ให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง ดังนี้
(1) ให้ผู้กระทำความผิด 11 ราย ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด ดังนี้ นางสาวยุวดี จำนวน 2,757,305 บาท นางอนัญญา จำนวน 9,020,802 บาท นางกิ่งกาญจน์ จำนวน 6,852,723 บาท นางสาวนฤมล จำนวน 4,825,528 บาท บล.บียอนด์ จำนวน 18,724,673 บาท นายโดม จำนวน 2,417,753 บาท นางปิยมา จำนวน 1,140,502 บาท นางสาวณัฐชานันท์ จำนวน 1,377,913 บาท นายสุสิชณ์ทักษ์ จำนวน 1,468,073 บาท นายธนกฤต จำนวน 3,461,161 บาท และนางสาวภัสธารีย์ จำนวน 9,191,315 บาท
(2) ให้ผู้กระทำความผิด 4 ราย ชำระค่าปรับทางแพ่ง และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด ดังนี้ นางสาวสุรัชนี นายประพล และนายกานต์ จำนวนรายละ 1,127,153 บาท และนายพีรพันธ์ จำนวน 550,861 บาท
ข. ห้ามผู้กระทำความผิดซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ ดังนี้
(1) ห้ามผู้กระทำผิดจำนวน 9 ราย ได้แก่ นางสาวยุวดี นางอนัญญา นางสาวนฤมล นายโดม นางสาวสุรัชนี นางปิยมา นางสาวณัฐชานันท์ นางสาวภัสธารีย์ และนายประพล ซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลารายละ 25 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ เป็นเวลารายละ 50 เดือน
(2) ห้ามผู้กระทำความผิดจำนวน 3 ราย ได้แก่ นางกิ่งกาญจน์ นายสุสิชณ์ทักษ์ และนายธนกฤต ซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลารายละ 14 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ เป็นเวลารายละ 28 เดือน
(3) ห้ามนายกานต์ซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลา 39.5 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ เป็นเวลา 79 เดือน
(4) ห้ามนายพีรพันธ์ซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลา 24 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ เป็นเวลา 48 เดือน
มาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนดตาม ข. จะมีผลเมื่อผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หรือเมื่อครบกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารตามคำสั่งของ ก.ล.ต. ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 3/2560*** แล้วแต่กรณี หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง
_________________________
หมายเหตุ:
* บริษัท สตาร์ ยูนิเวอร์แซล เน็ตเวิร์ค จำกัด (มหาชน) (STAR) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท สตาร์ สิทธิ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) (SSS)
** มาตรา 317/1 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 ให้การกระทำความผิดอาญาตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดได้
*** เฉพาะผู้กระทำความผิดรายที่เคยกระทำความผิดครั้งอื่นและอยู่ในระหว่างระยะเวลาที่ ก.ล.ต. อาจพิจารณาลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการหรือผู้บริหารตามข้อ 5(2) ประกอบข้อ 6(3) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 3/2560 เรื่อง การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท ลงวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560
อ่านรายละเอียด “การดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่ง (Civil Sanctions)” ได้ที่ https://www.sec.or.th/TH/Pages/LawandRegulations/CivilPenalty.aspx
3325