WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SEC copy

ก.ล.ต. สั่งพักและเพิกถอนผู้แนะนำการลงทุน 12 ราย กรณีเกี่ยวกับการให้บริการธุรกรรม SSF Block Trade

           ก.ล.ต. สั่งพักและเพิกถอนให้ความเห็นชอบผู้แนะนำการลงทุน 11 ราย กรณีปฏิบัติหน้าที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต และสนับสนุนการกระทำผิด เกี่ยวกับการให้บริการธุรกรรม SSF Block Trade ขณะกระทำผิดสังกัด บล. อาร์เอชบีและสั่งพักการให้ความเห็นชอบผู้แนะนำการลงทุน 1 ราย กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ เกี่ยวกับการให้บริการธุรกรรม SSF Block Trade ขณะกระทำผิดสังกัด บล. พาย

           สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับรายงานจากบริษัทหลักทรัพย์อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (บล. อาร์เอชบี) ในช่วงต้นปี 2564 เกี่ยวกับข้อพิรุธการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แนะนำการลงทุนสาขาแห่งหนึ่ง โดยพบว่ามีการส่งคำสั่งซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีการซื้อหรือขายในปริมาณมากในลักษณะ Block Trade (Single Stock Futures Block Trade) หรือ SSF Block Trade โดยไม่มีที่มาของคำสั่งซื้อขายจากลูกค้า เพื่อนำผลกำไรและผลขาดทุนที่เกิดขึ้นไปใส่ในบัญชีของลูกค้ารายอื่น 

           จากเหตุข้างต้น ก.ล.ต. จึงเข้าตรวจสอบการทำธุรกรรม Block Trade ของ บล. อาร์เอชบี ทำให้พบว่า ระหว่างเดือนมกราคม 2562 ถึงเดือนธันวาคม 2563 ผู้แนะนำการลงทุนของ บล. อาร์เอชบี จำนวน 6 ราย ได้แก่ (1) นายพงศ์พัทธ์ ทวีสมบูรณ์ (2) นายยศวรรษ ไพสิฐวิโรจน์ (3) นายยศพล ไพสิฐวิโรจน์ (4) นายณัฐพล เตชสิทธิชัย (5) นายธนกร จงสุขศิริโชค และ (6) นายต่อพงศ์ กฤตยาเกียรณ์ ได้ทำธุรกรรม SSF Block Trade โดยความร่วมมือหรือสนับสนุนของผู้แนะนำการลงทุนที่ทำหน้าที่ส่งคำสั่งซื้อขาย (เทรดเดอร์) จำนวน 5 ราย ได้แก่ (7) นางสาวภูริชิตา สุคนธ์ปิตุมาต (8) นายภูวิศ พงษ์เฉลิม (9) นางสาววลัยทิพย์ รุ่งโรจนาธร (10) นายโชติวิทย์ จิรธนานุวงศ์ และ (11) นางสาวกชพร อรุณทศิริ โดยใช้บัญชีเงินลงทุนของ บล. อาร์เอชบี ซื้อขายเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น และมีวัตถุประสงค์หลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์ที่มีไว้เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินหรือประโยชน์ของผู้ลงทุนหรือเป็นช่องทางให้เกิดการแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น 

           ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้แนะนำการลงทุน บล. อาร์เอชบี จำนวน 6 ราย เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยทำรายการซื้อขายโดยใช้บัญชีเงินลงทุนของบริษัทซื้อขายเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่นโดยบริษัทยินยอม และมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์และที่มีไว้เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินหรือประโยชน์ของผู้ลงทุน หรือเป็นช่องทางให้เกิดการแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน* ก.ล.ต. จึงเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุน และหรือกำหนดระยะเวลาในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในคราวต่อไป** แล้วแต่กรณี ดังนี้ 

           (1) นายพงศ์พัทธ์ ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 และนักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ขณะกระทำผิดมีฐานะเป็นผู้จัดการสาขาด้วย จึงเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ เป็นเวลา 4 ปี 12 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2566 

           (2) นายยศวรรษ ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 เพิกถอนการให้ความเห็นชอบ เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2566

           (3) นายยศพล ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 เพิกถอนการให้ความเห็นชอบ เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2566 

           (4) นายณัฐพล ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 เพิกถอนการให้ความเห็นชอบ เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2566 

           (5) นายธนกร ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 เพิกถอนการให้ความเห็นชอบ เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2566

           (6) นายต่อพงศ์ ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 เพิกถอนการให้ความเห็นชอบ เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2566

           สำหรับการกระทำของผู้แนะนำการลงทุน บล. อาร์เอชบี ที่ทำหน้าที่เทรดเดอร์ จำนวน 5 ราย เป็นการมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนผู้แนะนำการลงทุนทั้ง 6 รายข้างต้นกระทำผิด ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน*** ก.ล.ต. จึงพักการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุน และหรือกำหนดระยะเวลาในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในคราวต่อไป** เป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน แล้วแต่กรณี ดังนี้

           (7) นางสาวภูริชิตา ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 และผู้วางแผนการลงทุน นับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2566

           (8) นายภูวิศ ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 นับตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2566

           (9) นางสาววลัยทิพย์ ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 นับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2566

           (10) นายโชติวิทย์ ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 ได้สิ้นสุดแล้ว เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ก.ล.ต. จึงกำหนดระยะเวลาในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในคราวต่อไป ของนายโชติวิทย์ เป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2566

           (11) นางสาวกชพร ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 3 นับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2566

           นอกจากนี้ จากตรวจสอบการทำธุรกรรม Block Trade ของ ก.ล.ต. ยังพบว่า ระหว่างเดือนมกราคม - ธันวาคม 2563 นางสาวพัชร์ศศิ ทวีภูมินันท์ (เดิมชื่อนางสาวพรพิมล ตั้งกิติเสถียร) ผู้แนะนำการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) (บล. พาย) ได้ทำธุรกรรม SSF Block Trade โดยมีวัตถุประสงค์หลีกเลี่ยงเกณฑ์ที่สำคัญเพื่อช่วยเหลือลูกค้าตนเอง โดยการเปิดและปิดฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับลูกค้าสองรายภายในวันเดียวกัน ทำให้ลูกค้าไม่ต้องวางหลักประกันตามที่ บล. พาย เรียกให้วางหลักประกัน หรือถูก บล. พาย บังคับปิดฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเมื่อไม่สามารถวางหลักประกันเพิ่มเติม 

           ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของนางสาวพัชร์ศศิ เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ โดยทำรายการซื้อขายโดยมีวัตถุประสงค์หลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์ที่สำคัญเพื่อช่วยเหลือลูกค้า ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ก.ล.ต.**** จึงพักการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 และนักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ เป็นเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2566

           สำหรับระบบงานที่เกี่ยวข้องของ บล. อาร์เอชบี และ บล. พาย นั้น ก.ล.ต. ได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับทั้งสองบริษัทแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 

           ในการพิจารณากำหนดโทษของผู้แนะนำการลงทุน ก.ล.ต. ได้นำปัจจัยดังต่อไปนี้มาใช้ประกอบการพิจารณาของ ก.ล.ต. ด้วย ได้แก่ บทบาทความเกี่ยวข้องและพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกพิจารณา การลงโทษที่บุคคลนั้นได้รับไปแล้ว ผลกระทบ ความเสียหายหรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของ ก.ล.ต. และประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดที่แสดงถึงความไม่เหมาะสมที่จะเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

           ก.ล.ต. ขอกำชับให้บริษัทหลักทรัพย์ควบคุมและกำกับดูแลผู้แนะนำการลงทุนในการทำธุรกรรม SSF Block Trade ระหว่างบัญชีเงินลงทุนของบริษัทกับบัญชีของลูกค้าที่อยู่ในความดูแลของผู้แนะนำ โดยให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัทอย่างเคร่งครัด และเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์เกี่ยวกับการทำธุรกรรม SSF Block Trade และขอย้ำให้ผู้ลงทุนไม่หลงเชื่อหรือสนับสนุนหรือช่วยเหลือให้ผู้แนะนำการลงทุนใช้บัญชีซื้อขายของผู้ลงทุนเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่น และหมั่นสอดส่องบัญชีซื้อขายเพื่อมิให้บุคคลใดเข้ามาใช้บัญชีโดยไม่ชอบ กรณีมีข้อสงสัยควรติดต่อบริษัทผู้ให้บริการ หรือสอบถามได้ที่ “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแส” โทร. 1207 หรือ เฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต.

____________________

หมายเหตุ :

* ข้อ 23(1) เป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามข้อ 31(1) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทลธ. 8/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทลธ. 48/2560 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

** หมายความว่า หากมายื่นคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในช่วงระยะเวลาที่สั่งเพิกถอนหรือสั่งพัก ก.ล.ต. จะไม่รับพิจารณาคำขอดังกล่าว

*** เป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามข้อ 31(1) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทลธ. 8/2557
เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทลธ. 48/2560 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560

**** ข้อ 23(2) เป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามข้อ 31(1) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่
ทลธ. 8/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทลธ. 48/2560 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ผู้วางแผนการลงทุน หมายถึง บุคคลที่ให้คำแนะนำการลงทุนแก่ผู้ลงทุนซึ่งสามารถวางแผนการลงทุนประกอบการให้คำแนะนำได้ ซึ่งได้แก่ การใช้ข้อมูลของลูกค้าแต่ละรายในเชิงลึก เพื่อนำมาประกอบกับการวางแผนและให้คำแนะนำการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งสอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และวัตถุประสงค์การลงทุนของลูกค้าแต่ละราย

ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 หมายถึง ผู้แนะนำการลงทุนที่ให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่ไม่มีความซับซ้อนและผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนได้ทุกประเภท เช่น หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 3 หมายถึง ผู้แนะนำการลงทุนที่ให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนได้เฉพาะที่เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมาย ว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ หมายถึง บุคคลที่ให้คำแนะนำการลงทุนแก่ผู้ลงทุนซึ่งสามารถวิเคราะห์การลงทุนประกอบการให้คำแนะนำได้ ซึ่งได้แก่ การวิเคราะห์ หรือการให้คำแนะนำเกี่ยวกับคุณค่าหรือความเหมาะสมในการซื้อขายหรือลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน

 

 

12485

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

SME 720x100 66

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

gen 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!