WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SEC news

ISSB กับกติกาสากลด้านความยั่งยืน....ที่ผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนทั่วโลกรอคอย

โดย นางสาวสิรีฒร ศิวิลัย

ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายผู้ประกอบธุรกิจ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

 

          ISSB คือใคร ออกมาตรฐานอะไร และทำไม IOSCO ซึ่งเป็นองค์กร ก.ล.ต. นานาชาติ ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงประกาศให้การยอมรับ (endorse) มาตรฐานดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566[1] 

ผู้เขียนขอชวนมาทำความรู้จักกับกติกาใหม่ที่จะเป็นตัวเร่งเปลี่ยนโลกให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น ซึ่งถูกพัฒนามาเพื่อตอบโจทย์ผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนทั่วโลก เริ่มจากบริษัทที่จะมีมาตรฐานในการรายงานข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่สอดคล้องกับความคาดหวังของผู้ลงทุนและผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เป็นต้น ที่ต้องการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของบริษัทที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ เพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุน ส่งเสริมบทบาทหน้าที่การจัดสรรเงินลงทุนเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

          ISSB คือใคร ออกมาตรฐานอะไร และมีประโยชน์อย่างไร 

          ‘ISSB’ หรือ International Sustainability Standards Board เป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของ International Financial Reporting Standards (IFRS) Foundation โดยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ได้ออกมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืนของบริษัทจำนวน 2 ชุด ได้แก่ IFRS S1 และ IFRS S2 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันในระดับสากล (global baseline) สอดคล้องกับกรอบคำแนะนำของคณะทำงานเพื่อพัฒนากรอบการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures : TCFD) และมาตรฐานบัญชี International Accounting Standards Board (IASB) ถือเป็นมาตรฐานสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาในปัจจุบันที่หน่วยงานระดับสากลต่างมีหลักการและแนวปฏิบัติด้านการวัดและเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืนของบริษัทแตกต่างกัน โดยการวัดผลและการเปิดเผยข้อมูลยังคงไม่สะท้อนถึงผลกระทบจากโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านความยั่งยืนต่อสถานะทางการเงินของบริษัท เปรียบเสมือนมีไม้บรรทัดหลายอันในการวัดและแสดงผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทที่ไม่สามารถเปรียบเทียบและเชื่อมโยงข้อมูลได้ 

          ดังนั้น IFRS S1 และ IFRS S2 จึงยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทให้มีความครบถ้วนน่าเชื่อถือ จัดทำในรูปแบบภาษาบัญชีที่ผู้จัดทำรายงานทางการเงินคุ้นเคย ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้รายงานสามารถเปรียบเทียบข้อมูลด้านความยั่งยืนระหว่างบริษัททั้งในประเทศ ต่างประเทศ และต่างกลุ่มอุตสาหกรรมได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น ถือเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุน

 

          IFRS S1 และ IFRS S2 แตกต่างกันอย่างไร และผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางจะได้รับประโยชน์อะไรจากกติกาใหม่นี้

          IFRS S1 กำหนดหลักเกณฑ์ทั่วไปสำหรับบริษัทในการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ที่เกิดจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) 

          IFRS S2 กำหนดหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทด้านโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) รวมถึงตัวชี้วัดตามกลุ่มอุตสาหกรรม (industry-based metrics) ที่บริษัทใช้ในการประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้าน climate change เพื่อให้ผู้ใช้รายงานนำข้อมูลของแต่ละบริษัทไปเปรียบเทียบได้อย่างเหมาะสม 

ทั้งนี้ หลักการสำคัญภายใต้ IFRS S1 และ IFRS S2 คือ การเปิดเผยโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน และ climate change ที่อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ (material) ต่อข้อมูลทางการเงินของบริษัท ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและต้นทุนของเงินทุน ทั้งในระยะสั้น กลาง ยาว โดยที่บริษัทต้องระบุงบการเงินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลภายใต้ IFRS S1 และ IFRS S2 ด้วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้ข้อมูลเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนกับสถานะทางการเงินของบริษัทได้อย่างชัดเจน สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของบริษัทในการรับมือกับโอกาสและความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยด้านความยั่งยืนที่อาจส่งผลกระทบต่ความสามารถในการทำกำไร การแข่งขัน และความอยู่รอดของบริษัทได้ดีกว่ารูปแบบการรายงานข้อมูลของบริษัทในปัจจุบัน

          ดังนั้น มาตรฐาน IFRS S1 และ IFRS S2 จะส่งผลให้ 1.นักวิเคราะห์การลงทุน มีข้อมูลที่จะช่วยในการประเมินและจัดทำบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้อย่างครอบคลุม มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนมากยิ่งขึ้น และ 2.ผู้จัดการกองทุน มีข้อมูลประกอบการพิจารณาการบริหารจัดการความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีสำหรับผู้ลงทุนในระยะยาวต่อไป

 

          แนวทางการนำ IFRS S1 และ IFRS S2 ไปใช้ในแต่ละประเทศ

          แม้ ISSB จะประกาศให้เริ่มใช้ IFRS S1 และ IFRS S2 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป แต่กำหนดการบังคับใช้
ในแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันได้ โดย IOSCO ให้ ก.ล.ต. แต่ละประเทศพิจารณาแนวทางการนำมาตรฐานดังกล่าวไปบังคับใช้โดยคำนึงถึงบริบทของประเทศนั้นๆ[2] อย่างไรก็ดี ISSB ยังคงผลักดันให้มี ‘Assurance Standards’ ภายในสิ้นปี 2567 เพื่อให้มีมาตรฐานสากลในการตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของบริษัท สร้างความโปร่งใส และเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนที่จะใช้ข้อมูลดังกล่าวต่อไป[3]

          นอกจากนี้ ISSB อยู่ระหว่างการจัดทำ Adoption Guide’ เพื่อช่วยให้แต่ละประเทศในการออกหลักเกณฑ์รองรับ IFRS S1 และ IFRS S2 โดยจะร่วมกับ IOSCO ในการเสริมสร้างขีดความสามารถ (capacity building) ของบริษัท ในการปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าวด้วย[4]

 

          อนาคตประเทศไทย

          “ตลาดทุนไทย” เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของบริษัทตาม IFRS S1 และ IFRS S2 จะเป็นประโยชน์อย่างมากและเป็นตัวช่วยอันทรงพลังสำหรับผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุน โดยเมื่อบริษัทพร้อมที่จะปฏิบัติตามกติกาใหม่นี้แล้ว ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางก็ต้องพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน 

          ก.ล.ต. จึงได้ออกคู่มือเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศสำหรับผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุน ที่สอดคล้องกับกรอบคำแนะนำของ TCFD ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของ IFRS S1 และ IFRS S2 รวมทั้งได้สนับสนุน CFA Institute ในการจัดทำ Guidance For Integrating ESG Information into Equity Analysis and Research Reports[5] เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางมีแนวปฏิบัติที่ดีในการผนวกปัจจัยด้าน ESG และ climate change ในการวิเคราะห์หลักทรัพย์และบริหารจัดการลงทุน 

          ดังนั้น นักวิเคราะห์การลงทุนและผู้จัดการกองทุนจึงควร ‘ตื่นตัว’ โดยเริ่มทำความคุ้นชินกับการผนวกความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน รวมถึง climate change เข้าไปในการวิเคราะห์หลักทรัพย์และบริหารจัดการลงทุน ตามแนวปฏิบัติที่ดีในคู่มือข้างต้นเพื่อเรียนรู้และเข้าใจกระบวนการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวางแผนการดำเนินการในอนาคต เพื่อพัฒนากระบวนการดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้น พร้อมที่จะก้าวให้ทันกับกติกาใหม่ของสากลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตต่อไป

 

 

[1] ที่มา IOSCO endorses the ISSB’s Sustainability-related Financial Disclosures Standards เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566

[2] ภายใต้ 3 หลักการที่สำคัญ ได้แก่ ‘Interoperability’ ‘Proportionality’ และ ‘Flexibility’ กล่าวคือ หลักเกณฑ์รองรับภายในประเทศจะต้องเทียบเคียง IFRS S1 และ IFRS S2 โดยที่แต่ละประเทศสามารถกำหนดขอบเขตการบังคับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเองได้ เช่น อาจพิจารณาเริ่มจากบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพก่อน เป็นต้น นอกจากนี้ แต่ละประเทศสามารถพิจารณาองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องและขยายระยะเวลาการเปิดเผยข้อมูลบางส่วนได้ (transition relief) อาทิ การพิจารณาขยายระยะเวลาการเปิดเผยข้อมูลการปล่อย GHG scope 3 ที่ต้องใช้ทักษะในการเก็บข้อมูลนี้ออกไปมากกว่า 1 ปี เพื่อให้บริษัทมีระยะเวลาเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะที่จำเป็น [ที่มา ถ้อยแถลงของ Mr. Jean-Paul Servais, Chair IOSCO Board เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 (Keynote Eurofi 2023 Stockholm.pdf (fsma.be)]

[3] ที่มา IOSCO sets out key considerations to promote an effective global assurance framework for sustainability-related corporate reporting

[4] ที่มา IFRS - Cover note: Adoption Guide overview

[5] ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับคู่มือเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศสำหรับผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุน (คู่มือฯ) และเทปบันทึกการจัดอบรมคู่มือฯ ได้ที่ Thai Climate-related Risk Management for Asset Managers (sec.or.th) และ Guidance For Integrating ESG Information into Equity Analysis and Research Reports ได้ผ่านเว็บไซต์ของ CFA Institute และ ก.ล.ต.

 

 

A81046

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!