WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

OECD เร่งประเทศในเอเชียพัฒนาความร่วมมือจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการให้ความรู้การเงินแก่ประชาชนตลอดช่วงชีวิต

       ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนา OECD-Thailand Seminar on Financial Inclusion and Financial Literacy in Asia กับ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)  ระหว่างวันที่ 16-17 ธันวาคม ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียลเต็ล กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนและผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรภาครัฐและเอกชนจาก 24 ประเทศเข้าร่วมสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์การให้ความรู้ด้านการจัดการเงิน โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาเห็นพ้องและตกลงร่วมกันว่าจะเสริมสร้างความร่วมมืออย่างเข้มแข็งเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกระดับมีทักษะและความรู้ด้านการจัดการการเงินส่วนบุคคลควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เข้าถึงบริการทางการเงิน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิ

      นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า "เป็นโอกาสที่ดีที่ OECD เลือกประเทศไทยในการจัดประชุมครั้งนี้ เพราะปัญหาการไม่รู้การจัดการเงินของประชาชนไทยอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง โดยเห็นผลได้จากการก่อหนี้ที่เกินตัว และเริ่มออมเงินเพื่อเกษียณในอายุที่มากแล้ว ในอนาคตเมื่อมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นปัญหาจะยิ่งทวีความรุนแรงต่อฐานะการเงินของประเทศ  ปัญหาการไม่รู้วิธีและไม่ตระหนักในการจัดการเงินเกิดขึ้นในประชาชนทุกระดับ และในทุกกลุ่มอาชีพ  การแก้ไขเพื่อยกระดับความรู้จึงต้องดำเนินการร่วมกันทุกองค์กร ให้เป็นนโยบายของประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เด็กและคนวัยทำงาน ซึ่งในการประชุมนี้ OECD ได้ให้ข้อเสนอแนะทางนโยบายแก่ประเทศในเอเชีย ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำมาปฏิบัติ โดย ก.ล.ต. ได้ดำเนินการในเรื่องนี้มาแล้วระยะหนึ่งและหวังเห็นทุกหน่วยงานจะเห็นความสำคัญและร่วมมือกันมากขึ้น

        ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ส่งผลให้การตัดสินใจในด้านการออมและการบริหารการใช้จ่ายไม่เป็นไปในทางที่ควรประกอบด้วย 3 ประการ ได้แก่ ความยากจน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ผู้กำกับดูแลด้านนโยบายพยายามเอาชนะให้ได้ เพราะเมื่อประชาชนยังไม่มีเงินเพียงพอที่จะใช้ในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานก็เป็นการยากที่จะหลุดพ้นจากวงจรการเป็นหนี้ ต่อมาคือ กระแสบริโภคนิยม ที่มีอิทธิพลต่อความยับยั้งชั่งใจในการใช้จ่าย โดยเฉพาะเมื่อผู้บริโภคได้รับการกระตุ้นผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ สำหรับสาเหตุประการสุดท้าย คือ การไม่เห็นความสำคัญของการจัดการการเงิน ทำให้การส่งเสริมความรู้ทางการเงินนั้นเกิดประสิทธิผลได้ไม่เต็มที่ แม้ว่าจะได้มีการจัดทำเนื้อหาขององค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์และสื่อสารผ่านช่องทางที่เข้าถึงได้ง่ายก็ตาม

        ในการสัมมนาครั้งนี้ได้มีการนำเสนอและอภิปรายร่างรายงาน นโยบายการให้ความรู้ด้านการเงินของประเทศในเอเชีย” ที่ OECD จัดทำจัดทำขึ้นจากการรวบรวมและประมวลข้อมูลที่ได้รับจากการตอบแบบสอบถามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ร่างรายงานฉบับดังกล่าวแสดงถึง ภาพรวมของทิศทางและการพัฒนานโยบายการให้ความรู้ด้านการเงินของประเทศในเอเชีย รวมทั้ง ข้อกังวลและความท้าทาย ตลอดจนการตอบสนองเชิงนโยบายและริเริ่มของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลผลสำรวจของแต่ละประเทศ ได้นำมาสู่ข้อเสนอแนะต่อผู้กำหนดนโยบายของประเทศในเอเชีย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของความริเริ่มเกี่ยวกับการส่งเสริมความรู้ด้านการเงินในประเทศของตนเอง ดังนี้ 

·       เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการวัดระดับความรู้และทัศนคติด้วยแบบสอบถามที่เป็นมาตรฐานเพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายและนโยบายที่เฉพาะเจาะจง เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบผลและความคืบหน้าระหว่างประเทศหรือภูมิภาคได้

·       กรณีสถาบันการเงินเข้ามาร่วมมีบทบาทในการให้ความรู้ทางการเงินกับประชาชน ควรติดตามดูแลในเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ด้วยการหลีกเลี่ยงการนำเสนอบริการทางการเงินของสถาบันการเงินดังกล่าวผ่านเนื้อหาหรือกิจกรรมให้ความรู้

·       ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการบรรจุหลักสูตรความรู้ด้านการเงินในโรงเรียน เพื่อปลูกฝังความรู้และสร้างวินัยทางการเงินแก่เยาวชน

·       จัดให้มีหลักสูตรเกี่ยวกับการวางแผนเกษียณและการจัดการเงินหลังเกษียณ

·       ทำการประเมินผลสำเร็จและผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นบทเรียนนำไปปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินการในอนาคต  

 

      นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาให้ความสนใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างหลากหลาย ในเรื่องการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินทางออนไลน์ ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่ OECD กำลังให้ความสนใจอยู่ในปัจจุบัน

 

     Mr. Andre' Laboul, Chair of the OECD International Network on Financial Education (INFE) กล่าวว่า การสัมมนานี้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและภูมิภาคนี้ซึ่งมีประเด็นปัญหาและเป้าหมายทำนองเดียวกัน การดำเนินการสามด้านได้แก่ การให้ความรู้การเงิน การทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินและการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หากทำร่วมกันอย่างเต็มที่จะทำให้เกิดความมั่นคงและเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติในเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายและมาตรการที่เหมาะสมและเฉพาะเจาะจง เช่น บริการการเงินสำหรับบุคคลรายย่อย และธุรกิจขนาดกลางและเล็กยุทธศาสตร์ชาติต้องจัดทำบนข้อมูลที่ได้จากการสำรวจด้วยรูปแบบที่เป็นมาตรฐานเพื่อให้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้จึงจะทำให้เกิดผล สิ่งที่จำเป็นตอนนี้คือ การให้ความรู้การเงินอย่างมีประสิทธิผล ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนวงกว้าง และเชื่อมั่นว่าการจัดงานครั้งนี้โดย ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทยจะนำไปสู่ความสำเร็จในเรื่องนี้

เอไอเอเผยผลสำรวจบ่งชี้ชนชั้นกลางชาวไทยอยากมีสุขภาพดีและวัยเกษียณที่สุขสบายมากกว่าร่ำรวย

 

กรุงเทพฯ 18 ธันวาคม 2557 - เอไอเอเผยข้อมูลใหม่ในการสำรวจเรื่องความหวังและความปรารถนาของ                  ชนชั้นกลางในประเทศไทยที่ชี้ให้เห็นว่า คนไทยให้ความสำคัญต่อเป้าหมายสูงสุดในชีวิตในเรื่องสุขภาพ ความสบายในวัยเกษียณ และความสำเร็จในอาชีพ มากกว่าความร่ำรวย

 

ผลการสำรวจเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจเรื่องความหวังและความปรารถนาของเอไอเอในภูมิภาคอาเซียนที่ให้รายละเอียดการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับทัศนคติของชนชั้นกลางที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วต่อคุณภาพชีวิต ความมั่นคงทางการเงิน การเกษียณอายุ ครอบครัวและการศึกษา ของบุคคลที่ระบุว่าตนเองเป็นชนชั้นกลางชาวไทยจำนวน 500 คน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา จากผู้ตอบแบบสำรวจรายบุคคลจำนวนทั้งหมด 3,000 คน ในตลาดภูมิภาคอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศไทย

 

มร.ซาลูน ธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอ ประเทศไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลสำรวจสำหรับประเทศไทยว่า “หนึ่งในความน่าชื่นชมมากที่สุดจากผลการสำรวจในครั้งนี้คือ แม้ว่าชีวิตผู้คนในปัจจุบันจะเป็นไปอย่างเร่งรีบ แต่ปรากฏว่าชนชั้นกลางกลับให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพดีเป็นลำดับแรกมากกว่าการเป็นคนร่ำรวย ผลการสำรวจเป็นข้อมูลเหมือนกับที่ได้รับจากชนชั้นกลางที่ตอบแบบสำรวจจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

 

“เรามีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้เห็นชนชั้นกลางชาวไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจครั้งนี้มีทัศนคติต่อชีวิตในเชิงบวก เนื่องจากพวกเขาคาดหวังว่าสถานการณ์ในชีวิตจะดีขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า”

 

ในปีนี้ เอไอเอ ได้ทำการสำรวจดัชนีชนชั้นกลาง (Middle Class Index - MCI*) ที่ใช้ประเมินความคาดหวังของผู้ตอบแบบสอบถามต่อมุมมอง 10 ประการเกี่ยวกับสถานการณ์ในชีวิต ทั้งนี้ประเทศไทยมีระดับคะแนนดัชนีชนชั้นกลาง (MCI) อยู่ที่ร้อยละ 63.3 โดยคะแนนในระดับเหนือกว่า 50 แสดงการคาดการถึงสถานการณ์ในชีวิตจะดีขึ้นมากกว่าที่จะแย่ลง

 

*กรุณาดูหมายเหตุบทบรรณาธิการ

 

คุณภาพอยู่เหนือปริมาณ

สำหรับเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ชนชั้นกลางในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเน้นเรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพเป็นลำดับแรกสูงถึงร้อยละ 62 ตามด้วยความต้องการมีชีวิตสุขสบายในยามเกษียณร้อยละ 37 มีการออมเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉินร้อยละ 36 และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานร้อยละ 36

 

ความร่ำรวยและความพอใจ

การที่ชีวิตมีความร่ำรวยขึ้นไม่ได้หมายความว่าจะมีความพอใจมากขึ้นตามไปด้วย จากรายงานพบว่าผู้ที่มีทรัพย์สินระหว่าง 400,000 – 1,999,999 บาท มีความพอใจร้อยละ 72 และตัวเลขขยับขึ้นเล็กน้อยไปอยู่ที่ร้อยละ 73 สำหรับผู้ที่มีทรัพย์สินอย่างน้อย 2,000,000 บาท

 

ความฝันและความสำเร็จ

3 ใน 4 (ร้อยละ 74) ของชนชั้นกลางคิดว่าพวกเขาจะบรรลุความฝันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ มีเพียงร้อยละ 14 เท่านั้นที่คิดว่าจะไม่สามารถบรรลุความฝันของตนเองได้

 

อุปสรรคต่อการเป็นผู้ประกอบการ

มากกว่า 1 ใน 4 (ร้อยละ 28) ต้องการเริ่มธุรกิจของตนเอง อย่างไรก็ตามเกือบ 1 ใน 3 (ร้อยละ 32) คิดว่าการเริ่มธุรกิจของตนเองจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ยากที่สุดที่จะทำได้ขณะมีชีวิตอยู่ แรงจูงใจหลักในการเริ่มธุรกิจคือเพื่อให้มีรายได้ที่สูงขึ้นร้อยละ 43 ทั้งนี้มีตัวเลข 1 ใน 4 (ร้อยละ 26) ของผู้ที่ต้องการเริ่มธุรกิจกล่าวว่าพวกเขาต้องการเป็นนายตัวเอง

 

ผู้ที่ต้องการเริ่มทำธุรกิจของตนเอง มีจำนวนถึงร้อยละ 62 ที่ขาดเงินทุนซึ่งเป็นอุปสรรคหลักขัดขวางไม่ให้ไปถึงเป้าหมาย

 

ความมั่นคงทางการเงิน

จำนวนเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 49) ของชนชั้นกลางชาวไทยคิดว่าการแสวงหาความมั่นคงทางการเงินเป็นภารกิจที่ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งมีเปอร์เซนต์สูงสุดเป็นอันดับ 2 ในการสำรวจตลาดอาเซียน

 

โดยเฉลี่ยผู้ที่ตอบแบบสอบถามเผยว่า พวกเขาต้องการมีเงินอย่างน้อย 3,600,000 บาท เพื่อให้มีความมั่นคงทางการเงินสำหรับชีวิตที่เหลืออยู่

 

ค่าใช้จ่ายที่ชนชั้นกลางชาวไทยเป็นกังวลมากที่สุด คือกรณีฉุกเฉิน (ร้อยละ 53) และสุขภาพ (ร้อยละ 48) ซึ่งเป็นตัวเลขใกล้เคียงกันมากกับผลการสำรวจตลาดอาเซียนอื่นๆ

 

 

ความท้าทายยามเกษียณ

การออมสำหรับการเกษียณอายุเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากสำหรับชนชั้นกลางชาวไทย ร้อยละ 23 ที่ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญกับการออมสำหรับชีวิตที่สะดวกสบายในยามเกษียณ และถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ยากที่สุดที่จะทำได้

 

ตัวเลขเงินออมโดยเฉลี่ยที่ชนชั้นกลางชาวไทยต้องการในยามเกษียณเท่ากับ 7,600,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามน้อยกว่าครึ่ง (ร้อยละ 47) ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อมั่นว่า ครอบครัวของพวกเขาจะมีเงินเพียงพอสำหรับใช้ชีวิตให้สบายในยามเกษียณ ซึ่งคิดเป็นจำนวนเปอร์เซนต์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยจากผลการสำรวจตลาดอาเซียนอื่นๆ ที่มีถึงร้อยละ 56

 

การดูแลผู้สูงอายุ

ยังมีการยืนกรานว่าลูกๆ ควรจะดูแลพ่อแม่ที่อยู่ในวัยชรา โดย 3 ใน (ร้อยละ 75) ของคนไทยคิดว่าลูกๆ ควรรับผิดชอบดูแลพ่อแม่ที่อยู่ในวัยเกษียณ ซึ่งเป็นเปอร์เซนต์ตัวเลขที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงยังมีตัวเลขอีกร้อยละ 83 ของผู้ที่กำลังจะเกษียณอายุ หรือมีอายุมากกว่า 55 ปี

 

นอกจากนั้นพบว่าร้อยละ 71 ของชนชั้นกลางชาวไทยยังดูแลพ่อแม่ตนเอง หรือพ่อแม่ของคู่สมรสด้วย โดยเป็นเปอร์เซนต์ตัวเลขสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน

 

“ในฐานะผู้ให้บริการประกันชีวิตชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เอไอเอยังคงเดินหน้าสร้างองค์ความรู้ สำหรับ           ชนชั้นกลางในประเทศไทยและในภูมิภาคที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วยการให้บริการผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาและครอบครัวในทุกช่วงชีวิต” มร.ธรรม กล่าวสรุป

 

สำหรับปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่เอไอเอได้มีการสำรวจการประเมินชนชั้นกลางในเรื่องความหวังและความปรารถนา ซึ่งทำการสำรวจในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2557 โดย อิพซอสส์ (Ipsos) เอเจนซี่สำรวจและวิจัยตลาดฝรั่งเศสระดับโลก ส่วนการสำรวจปีแรกทำขึ้นในปี 2556 ที่เน้นเรื่องคนชั้นกลางในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไต้หวัน

 

-          จบ   -

 

 

หมายเหตุบทบรรณาธิการ

เกี่ยวกับการสำรวจของเอไอเอเรื่องความหวังและความปรารถนาของชนชั้นกลาง

การสำรวจของเอไอเอเรื่องความหวังและความปรารถนาชนของชั้นกลางเป็นการสำรวจที่ดำเนินการโดยกลุ่มบริษัทเอไอเอ เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกลุ่มชนชั้นกลางที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคเอเชีย ครอบคลุม 4 เรื่อง ได้แก่ คุณภาพชีวิต ความมั่นคงทางการเงิน การเกษียณอายุ และครอบครัวและการศึกษา โดยในปี 2557 ได้มีการสำรวจด้วยการสัมภาษณ์บุคคลที่ระบุตัวเองว่าเป็นชนชั้นกลางจากตลาดอาเชียน 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ประเทศไทย และเวียดนาม จำนวน 3,000 คน ทั้งทางออนไลน์และสัมภาษณ์แบบรายบุคคลเป็นเวลากว่า 4 สัปดาห์ (10 กรกฎาคม-12 สิงหาคม) แบ่งเป็นประเทศละ 500 คน ในการสัมภาษณ์แบ่งเป็นสัมภาษณ์ออนไลน์ 400 คน โดยเป็นผู้ที่มีอายุระหว่าง 25-49 ปี และอีก 100 คน เป็นการสัมภาษณ์แบบรายบุคคลกับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปในลักษณะการสุ่มตัวอย่าง ทั้งนี้การสำรวจจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2556 ในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไต้หวัน โดยสามารถคลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ asiamiddleclass.aia.com

 

เกี่ยวกับดัชนีชนชั้นกลางของเอไอเอ

ดัชนีชนชั้นกลางของเอไอเอเป็นการสรุปคะแนนผู้ตอบแบบสอบถามที่คิดว่ามุมมองชีวิต 10 ประการ ของพวกเขาในอีก    12 เดือนข้างหน้าเมื่อมีการสำรวจ จะดีขึ้น เหมือนเดิม หรือแย่กว่าเดิม ดัชนีระบุว่าผู้ตอบแบบสำรวจที่มีอายุมากกว่า 50 ปีคาดว่าชีวิตจะดีขึ้น ขณะที่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี คาดว่าชีวิตพวกเขาจะแย่ลง

 

มุมมอง 10 ประการ ประกอบด้วย จำนวนเงินที่มีสำหรับใช้จ่าย จำนวนเงินออมที่มีอยู่ ชีวิตครอบครัว เวลาสำหรับการพักผ่อน ชีวิตโรแมนติก บ้านและคุณภาพชีวิต สภาพแวดล้อมที่ผู้ตอบแบบสอบถามอาศัยอยู่ สุขภาพและความสุขในชีวิต อาชีพ/ธุรกิจ และมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ของผู้ตอบแบบสอบถาม

 

ดัชนีชนชั้นกลางคำนวณจาก = (P1 *1) + (P2 *0.5) + (P3 *0) โดย P1 หมายถึงเปอร์เซนต์ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เชื่อว่าสถานการณ์ของพวกเขาจะดีขึ้น ขณะที่ P2 หมายถึงเปอร์เซนต์ของผู้ที่เชื่อว่าสถานการณ์จะเหมือนเดิม และ P3 หมายถึงเปอร์เซนต์ของผู้ที่คิดว่าสถานการณ์จะแย่ลงกว่าเดิม

 

เกี่ยวกับกลุ่มบริษัทเอไอเอ

กลุ่มบริษัทเอไอเอ และบริษัทในเครือ (รวมเรียกว่า เอไอเอ หรือ กลุ่มบริษัทเอไอเอ) เป็นกลุ่มบริษัทประกันชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และมีการบริหารจัดการอย่างอิสระ มีบริษัทในเครือและสำนักงานสาขาใน 17 ประเทศทั่วเอเชียแปซิฟิค ทั้งในประเทศฮ่องกง ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน เวียดนาม นิวซีแลนด์ มาเก๊า และบรูไน และเป็นผู้ถือหุ้น 97% ในบริษัทในเครือในประเทศศรีลังกา ถือหุ้นร่วมทุน 26% ในประเทศอินเดีย และมีสำนักงานตัวแทนในประเทศเมียนมาร์

 

 

 

 

เอไอเอเริ่มต้นธุรกิจครั้งแรกในเมืองเซี่ยงไฮ้เมื่อกว่า 90 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นผู้นำตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น) ในด้านเบี้ยประกันภัยรับจากธุรกิจประกันชีวิตและเป็นผู้นำตลาดโดยส่วนใหญ่ในภูมิภาคโดยมีสินทรัพย์รวม ณ 31 พฤษภาคม 2557 ที่ 159 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

 

กลุ่มบริษัทเอไอเอนำเสนอผลิตภัณฑ์ในการออมเงินและความคุ้มครองชีวิตแก่ลูกค้าบุคคลผ่านผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย ทั้งการประกันชีวิต การประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ และการวางแผนการออม นอกจากนี้ กลุ่มบริษัท         เอไอเอยังให้บริการลูกค้าองค์กรผ่านผลิตภัณฑ์สวัสดิการพนักงาน ประกันสินเชื่อ และให้บริการเป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพผ่านเครือข่ายตัวแทนฯและพนักงานทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค โดยเอไอเอมีลูกค้าที่ถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตรายบุคคลที่มีผลบังคับมากกว่า 28 ล้านกรมธรรม์ และเป็นสมาชิกกรมธรรม์ประกันกลุ่มมากกว่า 16 ล้านคน

 

กลุ่มบริษัทเอไอเอจดทะเบียนในกระดานหุ้นหลักของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ภายใต้รหัสหลักทรัพย์ 1299 สำหรับ American Depositary Receipts (ระดับ 1) มีการซื้อขายหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ (Over-the-Counter) ภายใต้สัญลักษณ์ AAGIY

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ :

 

ฝ่ายสื่อสารองค์กร เอไอเอ ประเทศไทย

เจตนา เกรียงศักดิ์โอภาส โทร.02-638 7367  E-mail: [email protected]

ศิรินพร ชัยศิริมิตร โทร. 02-638 6539/092-415 0606 E-mail: [email protected]

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!