- Details
- Category: กลต.
- Published: Tuesday, 27 May 2014 23:22
- Hits: 4377
ก.ล.ต.เปิดเผยผลการตรวจคุณภาพงานสอบบัญชีของสำนักงานสอบบัญชี 8 แห่ง
ก.ล.ต. เผยผลการตรวจคุณภาพงานสอบบัญชีของสำนักงานสอบบัญชี 8 แห่ง ผ่านการตรวจคุณภาพทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่ยังต้องปรับปรุงข้อบกพร่องในด้านการปฏิบัติงานสอบบัญชี เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับตลาดทุนไทยมากยิ่งขึ้น
ก.ล.ต. เปิดเผยผลการตรวจคุณภาพงานสอบบัญชีประจำปี 2556 ซึ่งครอบคลุมการตรวจคุณภาพใน 6 องค์ประกอบ ในการตรวจสำนักงานสอบบัญชีจำนวน 8 แห่ง ปีแรกของรอบที่สอง (1 มกราคม 2556 -31 ธันวาคม 2558) พบว่าทุกแห่งผ่านการตรวจสอบคุณภาพ โดยได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุดด้านการตอบรับงานและการคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์กับลูกค้า (Client acceptance and continuance: A&C) เนื่องจากสำนักงานสอบบัญชีส่วนใหญ่มีกระบวนการรับงานที่คำนึงถึงปัจจัยด้านความเสี่ยงของลูกค้าและความรู้ความสามารถเฉพาะทางของกลุ่มผู้ปฏิบัติงานสอบบัญชีแล้ว ขณะที่ได้คะแนนเฉลี่ยต่ำสุดด้านการปฏิบัติงาน (Engagement performance: EP) เนื่องจากผู้สอบบัญชีและผู้สอบทานการควบคุมคุณภาพงานมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานสอบบัญชีไม่เพียงพอ และไม่ได้ปรับปรุงคู่มือการสอบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่ออกใหม่ ผลการตรวจคุณภาพงานสอบบัญชีเรียงลำดับตามคะแนนเฉลี่ยและสิ่งที่ต้องปรับปรุง สรุปได้ดังนี้
(1) การตอบรับงานและการคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์กับลูกค้า (Client acceptance and continuance: A&C)
สำนักงานสอบบัญชีบางแห่งอาจต้องปรับปรุงโดยกำหนดให้ต้องพิจารณาข้อมูลสำคัญของลูกค้าที่ต้องได้มาก่อนการอนุมัติรับงาน และประเมินความเพียงพอของทรัพยากรบุคคลทั้งในด้านความรู้ความสามารถและเวลาในการปฏิบัติงาน รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ประเมินความเสี่ยงให้การใช้ดุลยพินิจกำหนดระดับความเสี่ยงมีความเหมาะสม
(2) ทรัพยากรบุคคล (Human resources: HR) สำนักงานสอบบัญชีบางแห่งยังมีข้อบกพร่องในการจัดสรรกำลังคนไม่เหมาะสมกับปริมาณงาน และหลักเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานไม่เหมาะสม ซึ่งอาจแก้ไขได้โดยจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถให้เพียงพอเพื่อปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพได้และกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลให้สะท้อนคุณภาพการปฏิบัติงานของพนักงาน
(3) ข้อกำหนดด้านจรรยาบรรณที่เกี่ยวข้อง (Ethical requirements: ER) พบว่าสำนักงานสอบบัญชีบางแห่งปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านจรรยาบรรณยังไม่เพียงพอและเหมาะสมหลายด้าน เช่น กระบวนการตรวจสอบความเป็นอิสระไม่เพียงพอ โดยพบว่าการระบุบริษัทในเครือหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกันไม่ครบถ้วนและไม่มีกระบวนการพิจารณาความเหมาะสมของงานบริการที่ไม่ใช่การสอบบัญชี (non-audit services)ที่ให้บริการแก่ลูกค้าสอบบัญชี ซึ่งควรปรับปรุงโดยการจัดให้มีกระบวนการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว
อย่างเพียงพอว่ามีผลต่อความเป็นอิสระหรือก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือไม่
(4) การติดตามผล (Monitoring: MR) พบว่าสำนักงานสอบบัญชีบางแห่งยังมีแนวทางและขั้นตอนการติดตามผลไม่เพียงพอและเหมาะสม และไม่จัดทำแผนการดำเนินการเพื่อติดตามผลการแก้ไขข้อบกพร่องโดยอาจแก้ไขด้วยการจัดทำแนวทางและขั้นตอนการติดตามผลให้ครอบคลุมข้อกำหนดของมาตรฐานการสอบบัญชี วิเคราะห์หาสาเหตุของข้อบกพร่อง และจัดทำแผนการดำเนินการเพื่อติดตามผล
(5) ความรับผิดชอบของผู้นำต่อคุณภาพภายในสำนักงาน (Leadership responsibilities: LD) โดยภาพรวม
แม้หัวหน้าสำนักงานสอบบัญชีได้กำหนดวัฒนธรรมในองค์กรให้เรื่องคุณภาพงานสอบบัญชีเป็นสิ่งสำคัญแล้วแต่ยังพบการปฏิบัติงานสอบบัญชีที่บกพร่องหลายประเด็น แสดงให้เห็นว่าหัวหน้าสำนักงานสอบบัญชีต้องเคร่งครัดในการกำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานนำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีไปปฏิบัติอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ
(6) ด้านการปฏิบัติงาน (Engagement performance: EP) พบว่าผู้สอบบัญชีและผู้สอบทานการควบคุมคุณภาพงานยังมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานสอบบัญชีไม่เพียงพอ รวมถึงคู่มือการสอบบัญชียังไม่เพียงพอและเหมาะสมในหลายประเด็น เช่น การตรวจสอบรายการที่มีความเสี่ยงจากการทุจริต และการตรวจสอบกลุ่มกิจการซึ่งอาจแก้ไขด้วยการให้ผู้สอบบัญชีและผู้สอบทานการควบคุมคุณภาพงานมีส่วนร่วมในงานสอบบัญชีมากยิ่งขึ้น ปรับปรุงคู่มือการสอบบัญชีและแนวการสอบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐาน และฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบดังกล่าวอย่างเพียงพอ
นายธวัชชัย เกียรติกวานกุล ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับบัญชีตลาดทุน ก.ล.ต. กล่าวว่า “ผู้สอบบัญชีมีบทบาทสำคัญที่ช่วยส่งสัญญาณให้ผู้ลงทุนได้รับรู้ถึงความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในบริษัทผ่านงบการเงิน เพื่อให้ผู้ลงทุนใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน ประกอบกับบริษัทจดทะเบียนและบริษัทหลักทรัพย์มีขนาดใหญ่และมีธุรกิจซับซ้อนยิ่งขึ้น ทำให้งานสอบบัญชีจะต้องอาศัยทีมงานที่มีความรู้ความสามารถ ภายใต้ระบบการควบคุมคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ดังนั้น สำนักงานสอบบัญชีจึงควรให้ความสำคัญกับข้อบกพร่องในองค์ประกอบต่าง ๆ โดยวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้เกิดข้อบกพร่อง พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไข โดยกำหนดแผนการแก้ไขและขั้นตอนการดำเนินการอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นให้แก่ตลาดทุนไทย”