- Details
- Category: กลต.
- Published: Friday, 24 October 2014 16:16
- Hits: 3569
ก.ล.ต. ร่วมกับ นิด้า เผยผลวิจัยชี้การพัฒนาตลาดทุนเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสู่ความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย
ก.ล.ต. จัด 'SEC Working Papers Forum ครั้งที่ 4'ร่วมกับคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในหัวข้อ “แนวคิดใหม่ในการพัฒนาตลาดการเงินและสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย”
ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า งานสัมมนา SEC Working Papers Forum ครั้งที่ 4 โดย ก.ล.ต. ร่วมกับทีมวิจัยของคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นำเสนอผลงานวิจัยภายใต้หัวข้อ “แนวคิดใหม่ในการพัฒนาตลาดการเงินและสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย” ชี้ให้เห็นว่า การเพิ่มขึ้นของดัชนีหรือราคาหุ้นไม่ใช่ตัวชี้วัดหลักของการพัฒนาตลาดทุน ในขณะที่การมีธรรมาภิบาลที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นปัจจัยสำคัญที่แสดงศักยภาพในการจัดการกับความเสี่ยงในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจได้ดีกว่า นอกจากนี้ ต้องเปลี่ยนแนวคิดในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยพัฒนาสภาพแวดล้อมของตลาดเงินตลาดทุน เพื่อช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้วิจัยจาก คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างด้านความเสี่ยงและผลตอบแทนของบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการจัดอันดับธรรมาภิบาลต่างกัน โดยบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับว่ามีระดับธรรมาภิบาลสูงไม่ได้หมายความว่าจะช่วยลดความเสี่ยงของตลาด แต่จะช่วยลดความเสี่ยงอื่นๆ ได้ดีกว่าบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับว่ามีระดับธรรมาภิบาลต่ำ และเมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนการลงทุน ผลการวิจัยพบว่าราคาหุ้นของบริษัทที่มีผลการจัดอันดับธรรมมาภิบาลสูง มีความผันผวนน้อยกว่าและให้ผลตอบแทนสูงกว่า โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี การผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนมีอันดับธรรมาภิบาลที่สูงขึ้น ควรศึกษาถึงประโยชน์ที่แท้จริงที่บริษัทได้รับเนื่องจากต้องยอมรับว่าการเพิ่มระดับของการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นต้นทุนที่บริษัทต้องคำนึงถึง
ผศ.ดร.ประดิษฐ์ วิธิศุภกร ผู้วิจัยจาก คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า การศึกษาชี้ให้เห็นว่า แนวคิดเกี่ยวกับทิศทางของการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยทฤษฎีที่เน้นการตัดสินใจลงทุนโดยพิจารณาเฉพาะขนาดผลตอบแทนและความเสี่ยง ในปัจจุบันทฤษฎีนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง'เปลี่ยนแปลง'และภาคการเงินและ ก.ล.ต.จะมีบทบาทที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดความสำเร็จโดยการเพิ่มเป้าหมายและกระบวนการพัฒนาให้ครอบคลุมถึงการยกระดับความสามารถของธุรกิจและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการแข่งขัน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
หมายเหตุ: การเผยแพร่งานวิจัยเป็นการดำเนินงานตามบันทึกความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. กับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ 4 แห่ง ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างภาควิชาการกับผู้บริหารในตลาดทุน และนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตลาดทุน