WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SEC TH logoบทเรียนจากผลกระทบของวิกฤติโควิดต่อตลาดทุนไทย

โดย นายพลภัทร วินัยบดี
ฝ่ายวิจัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

          สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) ยังมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องไปทั่วโลก และมีทีท่าว่าจะเป็นสภาวะที่กดดันต่อเศรษฐกิจโลกไปอีกระยะหนึ่งซึ่งผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจน คือ ผลต่อตลาดการเงินและสภาวะการลงทุนทั่วโลก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่คาดการณ์และประเมินผลกระทบล่วงหน้าได้ยากจึงทำให้เกิดความสูญเสียมากมาย หากมองในอีกมุมแล้วเหตุการณ์นี้ให้ทั้งบทเรียนและกระตุกให้ชวนคิดในหลายๆ เรื่องที่เกี่ยวกับตลาดทุนของเราครับ

 

          โอกาสในการเสริมความแข็งแรงของตลาดทุนไทย
          มูลค่าของตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกลดลงอย่างหนักนับจากวันที่ทางการจีนประกาศยกระดับมาตรการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 วันที่ 24 ม.ค. 2563 มาถึงวันที่ 20 มี.ค. ตลาดที่ปรับตัวลงรุนแรงส่วนมากเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบทางตรง คือ มีการระบาดของผู้ติดเชื้อเป็นวงกว้าง ในขณะที่ประเทศไทยแม้ว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศเหล่านี้ แต่มูลค่าของหลักทรัพย์ในตลาดกลับลดลงไปอย่างมาก ซึ่งก็เกิดจากการที่เศรษฐกิจประเทศไทยมีการพึ่งพิงอย่างมากในธุรกิจการท่องเที่ยวและการส่งออก ประกอบกับการสถานการณ์สงครามราคาน้ำมันดิบที่รุนแรงขึ้นทำให้หุ้นกลุ่มน้ำมันที่มีสัดส่วนสูงถึง 13% ของตลาดหลักทรัพย์ก็ยิ่งสร้างความกดดันต่อทิศทางของตลาด

3487 กลตข้อมูลจาก Bloomberg วันที่ 20 มี.ค. 2563

 

          แต่ในสถานการณ์นี้ก็ส่งผลให้เกิดโอกาสทางธุรกิจในบางกลุ่ม เช่น หุ้นกลุ่มสื่อสารที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ผู้ลงทุนเริ่มมองว่าจะได้รับอานิสงค์จากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) และปฏิบัติงานที่บ้าน (work from home) สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้สัดส่วนของประเภทธุรกิจสมดุลมากขึ้นก็น่าจะช่วยให้ตลาดทุนไทยมีความมั่นคงยิ่งขึ้นในอนาคต
          อย่างไรก็ดี ด้วยฐานผู้ลงทุนที่ผู้ลงทุนต่างประเทศมีบทบาทที่สูง ในขณะที่มีผู้ลงทุนสถาบันในประเทศที่ค่อนข้างน้อย ในสภาวะการลงทุนที่กดดันเช่นนี้ส่งผลให้ผู้ลงทุนหันไปถือครองเงินสดกันมากขึ้นหรือย้ายการลงทุนไปตลาดอื่น ทำให้เงินลงทุนจากไหลออกจากตลาดทุนไปอย่างมาก นับจากต้นปีมีผู้ลงทุนต่างชาติที่ขายสะสมสุทธิรวม 99,567 ล้านบาท ซึ่งก็เกิดขึ้นในตลาดตราสารหนี้เช่นเดียวกัน สังเกตได้จากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรที่ขยับขึ้น แสดงให้เห็นถึงราคาหน้าตั๋วที่ลดลงจากแรงขาย พบว่าตั้งแต่ต้นปีมานั้น กลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 91,503 ล้านบาท

          ฐานผู้ลงทุนจึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนควรนำมาคิดกันต่อว่าจะทำอย่างไรให้มีผู้ลงทุนระยะยาวในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีมาตรการชั่วคราวเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการออม (SFF) ที่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ให้ประชาชนทั่วไปที่ซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าวสามารถนำค่าซื้อไปหักลดหย่อนภาษีรายได้ประจำปีได้โดยแยกจากวงเงินหักลดหย่อนเดิม เมื่อถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มฐานผู้ลงทุนระยะยาวและผู้ลงทุนสถาบันได้

 

          อารมณ์ของตลาดที่ผันผวนรวดเร็ว มาตการดูแลและเยียวยายิ่งต้องรวดเร็วและชัดเจน
          จากความไม่แน่นอนทำให้ผู้ลงทุนมีความวิตกกังวลต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนอย่างมาก หลายประเทศต้องออกมาตรการช่วยเหลือทั้งที่เป็นมาตรการจากภาครัฐและผู้กำกับดูแลตลาดเพื่อลดผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียน รวมถึงช่วยลดความผันผวนของตลาด อีกทั้งยังช่วยสร้างความยืดหยุ่น ความคล่องตัว และลดภาระแก่ภาคธุรกิจ

          จากสถานการณ์ในครั้งนี้ทำให้เห็นได้ว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ผู้ทำหน้าที่กำกับดูแล และภาคเอกชน ต่างออกมาตรการตอบรับต่อสถานการณ์และสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุนที่รวดเร็ว ดังที่เห็นได้จากการที่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกันออกมาตรการสนับสนุนเสถียรภาพตลาดการเงินในตลาดตราสารหนี้ไทยเพื่อสร้างสภาพคล่องแบบต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในตราสารหนี้ 

          การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดย ธปท. ไปจนถึงกลไกที่ให้ธนาคารพาณิชย์เข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิดที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี สามารถนำหน่วยลงทุนดังกล่าวมาวางเป็นหลักประกันเพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท. รวมไปถึงมาตรการอื่นๆ เช่น การผ่อนผันการจัดประชุมและการส่งงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนและกองทุน รวมไปถึงมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ลงทุน เช่น ปรับปรุงเกณฑ์ short selling ที่ให้ทำได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายล่าสุด (uptick) การปรับเกณฑ์พักการซื้อขายหุ้น (circuit breaker) เป็นต้น ซึ่งก็เป็นมาตรการชั่วคราวที่ตลาดต่างประเทศใช้เช่นเดียวกัน

          มาตรการไหนจะได้ผลอย่างไรเป็นเรื่องที่น่าสนใจและต้องติดตามกันต่อไป แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดในขณะนี้คือการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่รวดเร็ว การร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานและการสื่อสารอย่างชัดเจนซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนได้เป็นอย่างดี สิ่งที่เกิดไปแล้วคงไม่อาจแก้ไขได้ ดังนั้นสิ่งที่เราจะเก็บเกี่ยวได้จากเหตุการณ์คือบทเรียน และโอกาสในการพัฒนาเพื่อสร้าง “ภูมิต้านทาน” แก่ตลาดทุนไทย ขอให้ทุกท่านผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ครับ

 

          (บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์)

 


AO3487

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!