- Details
- Category: กลต.
- Published: Thursday, 13 September 2018 17:55
- Hits: 9339
ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์ตราสารหนี้ แนะผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลและความเสี่ยงก่อนลงทุน
ก.ล.ต. ปรับปรุงเกณฑ์ตราสารหนี้ แนะผู้ลงทุนคำนึงถึงความเสี่ยงให้รอบด้านก่อนลงทุนในตราสารหนี้ โดยต้องรู้จักผู้ออกตราสารหนี้ ลักษณะของตราสาร สภาพคล่องและผลตอบแทน รวมถึงต้องศึกษาสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ พร้อมเปิดเผยว่า ตลาดตราสารหนี้ปรับตัวในทิศทางที่ดีภายหลังการปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลการออกและเสนอขายตราสารหนี้ซึ่งเน้นการคุ้มครองผู้ลงทุน โดยเพิ่มมาตรฐานการทำหน้าที่ของตัวกลาง การมีข้อมูลสำคัญและการเตือน และปรับการกำกับดูแลให้เหมาะสมตามประเภทผู้ลงทุน
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ปัจจุบันตราสารหนี้เป็นทางเลือกในการลงทุนที่ได้รับความนิยม แต่การลงทุนตราสารหนี้โดยตรงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้ลงทุนต้องพิจารณาหลายด้าน เช่น ต้องรู้จักผู้ออกตราสารหนี้ ทั้งฐานะและความสามารถในการจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ต้องทราบลักษณะและเงื่อนไขของตราสารหนี้ที่ปัจจุบันมีหลายประเภท ความเสี่ยงกับผลตอบแทนสะท้อนกันพอควรหรือไม่ และถ้าจะขายคืนก่อนครบกำหนดในตลาดรองจะทำได้สะดวกหรือไม่ หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้จะสามารถติดต่อใครได้บ้าง การเข้าใจตราสารหนี้ที่จะลงทุนจึงเป็นเรื่องจำเป็น”
ในช่วงก่อนหน้านี้พบว่า ผู้ลงทุนในตราสารหนี้มักคำนึงถึงผลตอบแทนโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงในการลงทุนเท่าที่ควร ขณะที่ตัวกลางก็ไม่ได้ให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนที่เพียงพอ ก.ล.ต. จึงประกาศใช้เกณฑ์ตราสารหนี้ใหม่ซึ่งมีผลเมื่อต้นไตรมาส 2/2561 เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้ลงทุนเพิ่มขึ้นในหลายด้าน ทั้งการจำกัดไม่ให้ใช้ตั๋วเงินเป็นตราสารที่ใช้ระดมทุนในวงกว้าง การแยกการกำกับดูแลการเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ออกจากการเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน การเพิ่มมาตรฐานการทำหน้าที่ของตัวกลาง และให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนรายใหญ่มากขึ้น ซึ่งต่อมาพบว่า ตลาดมีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดี โดยมีการออกตราสารหนี้ที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น การออกตั๋วเงินมีปริมาณลดลง รวมทั้งการออกตราสารหนี้เสนอขายแก่ผู้ลงทุนเฉพาะเจาะจงไม่เกิน 10 ราย ซึ่งเดิมมักถูกใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน และในด้านธุรกิจกองทุนรวม พบว่า กองทุนรวมมีการลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้เสี่ยงสูง รวมทั้งจำนวนกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เสนอขายต่อ
ผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย มีจำนวนลดลงเช่นเดียวกัน
“การปรับปรุงเกณฑ์เพื่อยกระดับความคุ้มครองผุ้ลงทุนเป็นเพียงมาตรการส่วนหนึ่ง ซึ่งผู้ลงทุนยังจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้านและเข้าใจความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับปัจจุบันตราสารหนี้มีลักษณะหลากหลาย ทั้งข้อจำกัดและเงื่อนไขการให้ผลตอบแทนที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น หุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน ซึ่งหากผู้ลงทุนไม่เข้าใจหรือไม่มี
ความพร้อม การลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหมาะสมมากกว่า” นายรพีกล่าว
Click Donate Support Web