- Details
- Category: กลต.
- Published: Tuesday, 15 May 2018 09:42
- Hits: 2551
พรก.เงินดิจิทัลประกาศในราชกิจจาฯแล้ว เปิดทางก.ล.ต. ควบคุมคริปโตและโทเค็น ออก ICO ต้องขออนุญาตล่วงหน้า ซื้อขายเสียภาษี 15% โดยมีผลบังคับวันที่ 14 พ.ค.นี้
คลอดแล้วพรก.ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 โดยเฉพาะหมวด 3 ควบคุมการออกโทเค็นไว้โดยเฉพาะ การเสนอขายต้องมีหนังสือชี้ชวนตามที่ก.ล.ต. กำหนด โดยผู้ออกโทเค็นต้องเป็น บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนเท่านั้น หากฝ่าฝืนหรือไม่ทำตามข้อบังคับมีโทษทั้งจำและปรับ ให้อำนาจ คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการการซื้อขายแลกเปลี่ยน กำกับดูแล ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษทั้งแพ่งและอาญา
ผู้สื่อข่าว ‘คอหุ้น’รายงานว่าเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชกําหนด(พ.ร.ก.)การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 โดยมีสาระสำคัญคือ ให้มีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก เงินส่วนแบ่งของกําไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือ ครอบครองโทเคนดิจิทัล และ ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้
นอกจากนี้แล้วในหมวด 3 การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ยังควบคุมการออกโทเค็นโดยต้องได้รับการอนุญาตจากกลต.เท่านั้น และต้องมีหนังสือชี้ชวนตามที่ก.ล.ต. กำหนด โดยผู้ออกโทเค็นต้องเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนเท่านั้น
โดยพรก.ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีทั้งหมด 100 มาตรา และหากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษทั้งจำ และปรับ
อาทิ มาตรา 57 ผู้ใดเสนอขายโทเคนดิจิทัลโดยฝ่าฝืนหรือไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่เสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามที่กำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับเป็นเงินไม่เกิน 2 เท่าของราคาขายโทเคนดิจิทัลทั้งหมดที่เสนอขาย แต่ทั้งนี้เงินค่าปรับต้องไม่น้อยกว่า 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 59 ผู้ใดแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกแจ้งในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล และร่างหนังสือชี้ชวน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับเป็นเงินไม่เกิน 2 เท่าของราคาขายโทเคนดิจิทัลทั้งหมดที่เสนอขาย แต่ทั้งนี้เงินค่าปรับต้องไม่น้อยกว่า 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 60 ผู้ใดเสนอขายโทเคนดิจิทัลโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามมาตรา 19 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 65 หากผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลที่มีหน้าที่หรือส่งข้อมูลตามมาตรา 25 อันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 13 พ.ค. 2561 เผยแพร่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เพื่อให้การกำกับและการควบคุมการดำเนินกิจกรรมและการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทำให้การดำเนินกิจกรรมและการประกอบธุรกิจดังกล่าว มีความโปร่งใส อันจะเป็นประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศและการคุ้มครองผู้ลงทุนและประชาชนที่เกี่ยวข้อง
โดยใน พ.ร.ก. ดังกล่าว ให้ความหมายคำว่า 'คริปโทเคอร์เรนซี' คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีความประสงค์จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าบริการ หรือ สิทธิอื่นใด หรือ แลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และให้หมายรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
พร้อมกันนี้ ยังให้ความหมายคำว่า 'โทเคนดิจิทัล' คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใดๆ 2) กำหนดสิทธิในการได้มา ซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และให้หมายรวมถึงหน่วยแสดงสิทธิอื่นตามคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
ส่วนคำว่า 'สินทรัพย์ดิจิทัล' หมายถึง คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล และ 'ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล' หมายถึง การประกอบธุรกิจตามประเภทต่างๆ ได้แก่ 1) ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 2) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 3) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล และ4) กิจการอื่นที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต.
นอกจากนี้ ใน พ.ร.ก. ดังกล่าวยังให้อำนาจ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศกำหนดในหลายเรื่อง อาทิ หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินไทย, หลักเกณฑ์และวิธีการการซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือได้รับฝากไว้กับผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล, การกำกับและควบคุมการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลและการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงการเลิกประกอบธุรกิจ การเพิกถอนการอนุญาตประกอบธุรกิจ และการห้ามการทำธุรกรรม เป็นต้น
สำหรับ การกำหนดโทษ กฎหมายระบุโทษทางอาญา ในกรณีต่างๆ อาทิ การเสนอขายโทเคนดิจิทัลโดยฝ่าฝืนหรือไม่ได้รับอนุญาต หรือ เสนอขายโดยไม่กระทำผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลตามที่กฎหมายกำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกิน 2 เท่าของราคาขายของโทเคนดิจิทัลทั้งหมด ซึ่งผู้นั้นได้เสนอขาย แต่ทั้งนี้ เงินค่าปรับต้องไม่น้อยกว่า 500,000 บาท หรือทั้งจับทั้งปรับ หรือผู้ใดเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน ก่อนที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนที่ยื่นไว้ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. มีผลบังคับใช้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกิน 1 เท่าของราคาขายของโทเคนดิจิทัลทั้งหมด ซึ่งผู้นั้นได้เสนอขาย แต่ทั้งนี้ เงินค่าปรับต้องไม่น้อยกว่า 300,000 บาท หรือทั้งจับทั้งปรับ เป็นต้น
พร้อมกันนี้ ยังมีมาตรการลงโทษทางแพ่ง อาทิ จ่ายค่าปรับ จ่ายเงินชดใช้เท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิด ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งต้องไม่เกิน 10 ปี
สำหรับ ผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้ประกอบธุรกิจอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ และเป็นธุรกิจที่้ต้องขออนุญาตตามพระราชกำหนดนี้ หากจะดำเนินกิจการต่อไป ให้ยื่นคำขออนุญาตตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ก. นี้ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.ก นี้มีผลบังคับใช้ และเมื่อได้ยื่นคำขออนุญาตแล้ว ให้ดำเนินกิจการต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งไม่อนุญาต
ทั้งนี้ พ.ร.ก. นี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือ ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 2561 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ราชกิจจาฯ เผยแพร่ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) ให้จัดเก็บ 'ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา' ร้อยละ 15 กรณีมีเงินได้จากส่วนแบ่งกำไรการถือหรือครอบครอง หรือเงินได้จากการโอนโทเคนดิิจิทัล - คริปโทเคอร์เรนซี
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ 'พระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2561' ลงวันที่ 13 พ.ค. 2561 ระบุว่า เพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินได้พึงประเมินที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล หรือการโอนคริปโทเคอร์เรนซี หรือ โทเคนดิจิทัล ซึ่งการตราพระราชกำหนดนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
โดยระบุในมาตรา 3 ให้เพิ่มข้อความดังนี้ ใน (4) มาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร
(ช) เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล
(ฌ) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
มาตรา 4 ให้เพิ่มข้อความดังนี้ ของ (2) ในมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร
(ฉ) ในกรณีเงินได้พึงประเมินมาตรา 40 (4) (ช) และ (ฌ) ให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้
โดยในหมายเหตุของกฎหมายฉบับนี้ ระบุว่า เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ก. เนื่องจากปัจจุบันได้มีการถือ หรือครอบครองโทเคนดิจิทัล หรือ การซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี หรือ โทเคนดิจิทัล ซึ่งเงินได้จากกรณีดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี แต่โดยที่ยังไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อการจัดเก็บภาษีเงินได้จากคริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัลเป็นการเฉพาะ เป็นเหตุให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ครบถ้วน
ทั้งนี้ พระราชกำหนดฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 2561 เป็นต้นไป
ดาวน์โหลด ฉบับเต็ม ราชกิจจาฯ
พระราชกําหนด(พ.ร.ก.)การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
พระราชกําหนด(พ.ร.ก.)แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19)