- Details
- Category: กลต.
- Published: Monday, 29 January 2018 17:13
- Hits: 4377
ก.ล.ต.หนุนให้มีผู้ให้บริการวางแผนทางการเงิน ใช้ฟินเทคตอบโจทย์การลงทุนที่ประชาชนเข้าถึงได้ พร้อมเผยแนวทางการกำกับดูแลไอซีโอที่เป็นหลักทรัพย์
ก.ล.ต. สนับสนุนให้มีผู้ให้บริการวางแผนทางการเงิน (wealth advisor) ที่มีคุณภาพ ประชาชนเข้าถึงได้ ส่งเสริมการใช้ฟินเทคเป็นเครื่องมือช่วยวางแผนทางการเงิน และเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดแนวทางการกำกับดูแลไอซีโอที่เป็นหลักทรัพย์
นางณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า "ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการมีผู้ให้บริการวางแผนทางการเงินสำหรับประชาชน ต้องการให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงินให้เป็นทักษะชีวิต เนื่องจากสภาพปัจจุบันที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแต่มีเงินไม่พอใช้ในวัยเกษียณ อีกทั้งผลตอบแทนจากการลงทุนของผู้ลงทุนยังไปไม่ถึงเป้าหมายหรือไม่เพียงพอต่อความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินในระยะยาว ก.ล.ต. จึงเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์หลักของปีนี้ สนับสนุนผู้ให้บริการด้านการให้คำแนะนำและวางแผนทางการเงินที่ประชาชนเข้าถึงได้และมีคุณภาพ ส่งเสริมการใช้ฟินเทคเพื่อตอบโจทย์และเป็นเครื่องมือช่วยวางแผนทางการเงิน รวมถึงสร้างความตระหนักแก่ประชาชนจนนำไปสู่การปฏิบัติจริง
สำหรับ การสนับสนุนให้เกิดผู้ให้บริการด้านการให้คำแนะนำและวางแผนทางการเงิน ก.ล.ต. จะแก้เกณฑ์เพื่อดึงดูดและลดอุปสรรคแก่ผู้ประกอบการทั้งรายปัจจุบันและรายใหม่ เพื่อให้มีบริการด้านการให้คำแนะนำและวางแผนทางการเงินมากขึ้น เบื้องต้นเห็นว่า ผู้ให้บริการวางแผนทางการเงินอย่างครบวงจร จะประกอบด้วย 5 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่
(1) การสำรวจและรู้จักตัวตนของลูกค้า และการตรวจสุขภาพทางการเงิน โดยให้ลูกค้าทำแบบทดสอบความเสี่ยงที่ยอมรับได้และระบุเป้าหมายที่ต้องการ
(2) การกำหนดแผนจัดสรรการลงทุนตามความเสี่ยงที่รับได้และเป้าหมายที่ลูกค้ากำหนด
(3) การลงทุนให้เป็นไปตามแผนจัดสรรการลงทุน โดยคัดเลือกตราสารที่เหมาะสม
(4) การติดตามและปรับสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงและเป้าหมายการลงทุน
และ (5) การรายงานภาพรวมการลงทุนของลูกค้า ซึ่งหากผู้ประกอบธุรกิจสามารถให้บริการได้ครบทั้ง 5 ส่วนดังกล่าว น่าจะช่วยตอบโจทย์แก่ประชาชนในการวางแผนทางการเงินในระยะยาว เพื่อสุขภาพทางการเงินที่ดีได้"
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า "ผลการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลไอซีโอที่เป็นหลักทรัพย์ ภายหลังให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านหลากหลายช่องทางเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน โดยสิ้นสุดระยะเวลารับฟังความคิดเห็นไปเมื่อ 22 มกราคมที่ผ่านมานั้น ผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการกำกับดูแลไอซีโอที่เป็นหลักทรัพย์โดย ก.ล.ต. ซึ่งจะเริ่มจากการทดลองเปิดช่องทางไอซีโอที่มีลักษณะเป็น'ส่วนแบ่งร่วมลงทุน' ซึ่งไม่ใช่หลักทรัพย์ที่มีอยู่แล้วอย่างหุ้นหรือตราสารหนี้ รวมทั้งเห็นด้วยกับการกำหนดให้ต้องระดมทุนดังกล่าวผ่าน ไอซีโอ พอร์ทัล ที่ ก.ล.ต. ยอมรับ โดยเปิดให้เสนอขายไอซีโอต่อผู้ลงทุนสถาบัน กิจการร่วมลงทุน นิติบุคคลร่วมลงทุน และผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ส่วนกรณีผู้ลงทุนรายย่อย ก.ล.ต.ได้รับความเห็นหลากหลายเกี่ยวกับความเหมาะสมของการจำกัดวงเงินลงทุนใน ICO ซึ่ง ก.ล.ต. จะนำความเห็นจากทุกฝ่ายมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป"
ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะนำเสนอผลการรับฟังความเห็นนี้ต่อคณะกรรมการกำกับตลาดทุนและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางในการกำกับดูแลที่ชัดเจนภายในไตรมาส 1 นี้
"ก.ล.ต. ขอย้ำว่า เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการกำกับดูแลไอซีโอ ตลอดจนไอซีโอส่วนใหญ่เป็นธุรกรรมข้ามประเทศ ประชาชนจึงมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความคุ้มครองและการเยียวยาตามกฎหมาย นอกจากนี้ ประชาชนควรทำความเข้าใจลักษณะโครงการที่มาระดมทุนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน และควรตระหนักว่า การลงทุนในไอซีโอเป็นการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพซึ่งแม้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงหากโครงการประสบความสำเร็จ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเสียเงินลงทุนทั้งจำนวนได้เช่นกัน และยังอาจมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาและการขาดสภาพคล่องของดิจิทัลโทเคน ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ รวมทั้งการถูกฉ้อโกงหรือหลอกลวงจากผู้มีเจตนาทุจริตด้วย" นายรพีกล่าว
ก.ล.ต.รอ ธปท.-คลัง-ปปง.ร่วมเคาะเกณฑ์กำกับ ICO คาดสรุปนโยบายหลักใน ก.พ.61
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า แนวทางกำกับดูแลการระดมทุนในรูปแบบใหม่ประเภท Iinitial Coin Offering (ICO) คาดว่าจะสรุปทิศทางที่ชัดเจนได้ภายในเดือน ก.พ.61 หลังจากหน่วยที่เกี่ยวข้อง คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), กระทรวงการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ที่กำหนดประชุมหารือร่วมกันในเร็ว ๆ นี้ เพราะจำเป็นต้องตกผลึกนโยบายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งหากเห็นชอบร่วมกันที่จะมีการกำกับดูแล ก.ล.ต.ก็คาดว่าจะสามารถออกหลักเกณฑ์ได้ภายในไตรมาส 2/61
"ถ้าไม่มีการกำกับ ทุกคนก็จะมีคำถามว่าแล้วถ้าถูกหลอกจะทำอย่างไร ตอนนี้เราเดินหน้าไปก่อนในแนวทางที่อยู่ตรงกลาง คือ กำกับดูแล แต่ไม่ได้ควบคุมหรือห้าม หรือปล่อยเต็มที่ แต่ที่สุดก็ต้องรอทุกฝ่ายเคาะว่าจะเอาอย่างไร จะกำกับดูแลหรือไม่ เราทำคนเดียวไม่ได้ เพราะ ICO ผูกกับ Cryptocurrency อย่าง Bitcoin คือแยกกันได้แต่ผิดวัตถุประสงค์ ไม่มีประโยชน์...แบงก์ชาติทราบดีที่สุดเรื่องนี้ (Cryptocurrency) เขาศึกษามานานแล้ว"นายรพี กล่าว
นายรพี กล่าวว่า สกุลเงินดิจิตัล (Cryptocurrency) ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฏหมาย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฏหมายรองรับ แต่ก็ไม่ได้ผิดกฏหมาย เพราะเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับความยินยอมทั้งฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากความผันผวน ซึ่งหลักการดูแลสกุลเงินดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการออกหลักเกณฑ์เรื่อง ICO ที่มักจะนิยมระดมทุนด้วย Cryptocurrency
การระดมทุนในรูปแบบ ICO ส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนของธุรกิจสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลักในธุรกิจ โดยจะมีการออกเหรียญหรือโทเคนตอบแทนส่วนของนักลงทุนเพื่อประโยชน์ตามที่ตกลงกันใน white paper และส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อนทำให้ไม่มี Track Record แสดงผลการดำเนินงานในอดีตมาอ้างอิง ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก โดยธุรกิจที่ระดมทุนด้วย ICO ราว 95% ล้มเหลว จะมีเพียงราว 5% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ แต่นักลงทุนให้ความสนใจที่ศักยภาพการเติบโตสูง หากประสบความสำเร็จก็๋มีโอกาสที่จะทำเงินและให้ผลตอบแทนค่อนข้างมาก
ก.ล.ต.จึงได้กำหนดรูปแบบเบื้องต้นของการกำกับดูแลการระดมทุนด้วย ICO ในลักษณะเป็นกลาง คือ ไม่ได้ห้ามทำธุรกรรมดังกล่าว และไม่ได้ปล่อยอิสระเต็มที่ จะแต่จะเน้นการวางหลักเกณฑ์กำกับ ICO ที่เป็นหลักทรัพย์ (Securites) ที่เข้ามาระดมทุนในประเทศ และตัวกลางที่ทำหน้าที่นำเสนอ ICO คือ Portal แต่ละราย รวมถึงจำกัดลักษณะของนักลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อย
ปัจจุบันมีผู้แสดงความสนใจที่จะทำหน้าที่ ICO Protal มาแล้วราว 5 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ บางรายก็เป็นบริษัทหลักทรัพย์ ขณะที่มีผู้ประกอบการที่สนใจระดมทุนด้วย ICO สอบถามเข้ามาแล้วมากกว่า 15 ราย
นายรพี กล่าวว่า การระดมทุนแบบ ICO อยู่ใน Versual Space และไม่ผ่านตัวกลาง อย่างที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ไม่มี Underwriter ทำให้ไม่มีต้นทุนเหล่านี้ แต่จะเป็นการนำเสนอ white paper คล้ายหนังสือชี้ชวนให้นักลงทุนที่สนใจทราบข้อมูลในการระดมทุน โดยไม่มีการกำหนดการให้ข้อมูลขั้นต่ำที่ต้องเปิดเผยหรือรูปแบบการเปิดเผย ดังนั้น ผู้ลงทุนจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจด้วยตัวเอง
สำนักงาน ก.ล.ต.มีแนวทางเข้ามากำกับดูแลการระดมทุนแบบ ICO เฉพาะประเภทที่เป็นหลักทรัพย์ ซึ่งให้ผลตอบแทนต่อนักลงทุนแบบส่วนแบ่งรายได้และกำไร โดยจะให้มีการระดมทุนผ่าน portal ที่ ก.ล.ต.ยอมรับ จำกัดประเภทผู้ลงทุน และจำกัดวงเงินลงทุน ซึ่ง Portal จะมีหน้าที่เสมือน FA เป็นตัวช่วยกรองบริษัทที่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดแรก ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถตอบสนองข้อกังวลของ ก.ล.ต.ได้ เช่น ตรวจสอบการระดมทุนว่าตรงกับ white paper
หลังการปิดรับฟังความคิดเห็น (hearing) ในเรื่องนี้ระหว่างวันที่ 27 ต.ค.60-22 ม.ค.61 ปรากฏว่า นักลงทุนมีความคิดเห็นว่าเห็นด้วยที่ ก.ล.ต. จะเข้ามาร่วมกับ ICO portal เพื่อคัดกรอง ICO ที่มีพฤติกรรมหลอกลวง ฉ้อโกง และทำ KYC เพื่อรู้จักตัวตนของบริษัทที่จะระดมทุน โดย portal ต้องให้ข้อมูลต่อ ก.ล.ต. และกำหนดข้อมูลใน white paper ให้ชัดเจนคล้ายการการนำเสนอ IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่นักลงทุนยังมีความคิดเห็นแตกต่างในการจำกัดวงเงินลงทุนในผู้ลงทุนรายย่อย และจำกัดวงเงินเสนอขายของ ICO ที่เป็นหลักทรัพย์ ความมีตัวตนของผู้ออก ICO และเส้นทางการโอนเงิน
อินโฟเควส