- Details
- Category: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
- Published: Friday, 22 December 2023 17:42
- Hits: 4350
แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ กระทรวงการคลังร่วมกับ ธปท. เสนอแนวทางส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัญหาหนี้สินของประชาชนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัจจุบันลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบยังคงเผชิญปัญหาหนี้เรื้อรัง โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ซึ่งประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน และมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ตามกำหนด ทำให้กลายเป็นหนี้เสียจนเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้
อีกทั้ง ลูกหนี้บางรายจำเป็นต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง และมีการทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือผ่อนปรนภาระหนี้ และบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติในวันที่ 19 ธันวาคม 2566 เห็นชอบและรับทราบความคืบหน้าแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ ประกอบด้วยแนวทางแก้ไขหนี้ในระบบ แนวทางการแก้ไขหนี้นอกระบบ
รวมทั้งปรับโครงสร้างระบบการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งสอดคล้องกับที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายเศรษฐา ทวีสิน) ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชนอย่างจริงจังและครอบคลุมทุกกลุ่มลูกหนี้ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. แนวทางแก้ไขหนี้ในระบบ ครอบคลุมลูกหนี้ทุกประเภท โดยแบ่งการช่วยเหลือตามคุณลักษณะและปัญหาของลูกหนี้ของลูกหนี้ ได้แก่
1.1 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 กลายเป็นหนี้เสียและมีประวัติค้างอยู่ในเครดิตบูโร ทำให้ขอสินเชื่อได้ยากขึ้น จะได้รับความช่วยเหลือผ่านมาตรการต่าง ๆ ดังนี้ 1) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ตามโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 (โครงการฯ) ของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
โดยหากธนาคารได้ติดตามให้ลูกหนี้ NPLs รหัส 21 ของโครงการฯ ชำระหนี้ตามสมควรแล้ว ธนาคารจะนำงบประมาณที่ได้รับชดเชยความเสียหายจากรัฐบาลมาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้เพื่อไม่ให้เป็น NPLs หรือหมดสิ้นภาระหนี้ที่เกิดจากโครงการฯ ต่อไป 2) มาตรการช่วยเหลือพักหนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19
โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions: SFIs) ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ซึ่งหากลูกหนี้ SMEs สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้อย่างน้อย 3 เดือน ลูกหนี้จะได้รับการพักชำระต้นเงินเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยลูกหนี้ยังคงชำระดอกเบี้ย และได้ลดดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี
1.2 กลุ่มที่มีรายได้ประจำแต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้ เช่น ข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำรวจ ทหาร เป็นต้น จะได้รับความช่วยเหลือผ่านมาตรการต่าง ๆ ดังนี้ 1) โครงการสินเชื่อสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อแก้ไขหนี้บุคลากรภาครัฐ โดยธนาคารออมสินจะสนับสนุนสภาพคล่องให้แก่สหกรณ์เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และ Refinance หนี้จากธนาคารออมสินไปรวมหนี้เป็นหนี้สหกรณ์ ระยะเวลากู้ไม่เกิน 10 ปี ปลอดชำระเงินต้น 2 ปี 2) โครงการสินเชื่อสวัสดิการข้าราชการและบุคลากรภาครัฐอัตราดอกเบี้ยพิเศษ
โดยหากหน่วยงานภาครัฐดำรงเงินฝากกับธนาคารออมสิน และข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเปิดบัญชีเงินเดือนกับธนาคารออมสินจะสามารถขอสินเชื่อสวัสดิการอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 3) โครงการคลินิกแก้หนี้สำหรับลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยและเจ้าหนี้บัตรเครดิตรายใหญ่เกือบทั้งหมด ได้ร่วมกันช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้
โดยนำเงินต้นคงค้างมาทำตารางผ่อนชำระใหม่ให้ยาวถึง 10 ปี และลดดอกเบี้ยจากร้อยละ 16-25 เหลือเพียงร้อยละ 3-5 เท่านั้น 4) การช่วยเหลือให้มีรายได้คงเหลือเพียงพอดำรงชีพ โดยผลักดันให้ส่วนราชการกำหนดหลักเกณฑ์หรือระเบียบการตัดเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ของข้าราชการในสังกัด โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือในบัญชีอย่างน้อยร้อยละ 30 เพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ
1.3 กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอนทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดย กยศ. เป็นต้น จะได้รับความช่วยเหลือผ่านมาตรการต่าง ๆ ดังนี้ 1) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เกษตรกร ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว
โดยลูกหนี้เกษตรกรที่มีต้นเงิน (Principle) รวมเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท ระยะเวลาพักชำระหนี้ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 โดยปัจจุบันมีลูกหนี้เกษตรกรแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการจำนวน 1,588,903 ราย 2) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์
โดยกระทรวงการคลังได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้ ธปท. จะมีอำนาจในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ เช่น ให้ผู้ประกอบธุรกิจประกาศข้อมูลในเรื่องอัตราดอกเบี้ย อัตราส่วนลด และค่าบริการ แจ้งและแสดงวิธีการและรายละเอียดในการคำนวณอัตราค่าบริการรายปี จัดทำบัญชี กำหนดเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการออกกฎหมาย 3) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. โดย กยศ. ได้ดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้หรือแปลงหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินเพิ่ม (เบี้ยปรับ) การยกเลิกผู้ค้ำประกันการกู้ยืม เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบัน กยศ. อยู่ระหว่างคำนวณเงินผ่อนชำระของลูกหนี้ กยศ. ตามหลักเกณฑ์ใหม่ โดยหากลูกหนี้ที่พบว่าได้ผ่อนชำระหนี้มามากกว่าจำนวนที่คำนวณใหม่แล้ว ถือว่าสามารถปิดบัญชีได้
1.4 กลุ่มที่เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินมาเป็นระยะเวลานาน โดยมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้โดยบริษัทร่วมทุนระหว่าง SFIs และบริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) (Joint Venture Asset Management Company: JV AMC) โดย ธปท. อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกระทรวงการคลังและ SFIs เพื่อให้สามารถช่วยเหลือปิดจบหนี้ให้กับลูกหนี้ได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น
2. แนวทางแก้ไขหนี้นอกระบบ ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้มีโครงการลงทะเบียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อให้ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยนั้น กระทรวงการคลังจึงมีมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ได้แก่
2.1 มาตรการช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบที่ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ในโครงการแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาลด้วยมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบ โดยธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อวงเงินวงเงินสินเชื่อให้ลูกหนี้นอกระบบที่ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ในโครงการแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาล รายไม่เกินรายละ 20,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน (Flat Rate) ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 6 งวดแรก (ชำระดอกเบี้ยปกติ) หรือเป็นไปตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ระยะเวลาชำระคืนเงินงวดสูงสุดไม่เกิน 3 ปี
2.2 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบที่ดำเนินการโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ประกอบด้วย 1) โครงการสินเชื่อธนาคารประชาชนเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ โดยธนาคารออมสิน วงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ร้อยละ 0.75 ต่อเดือน ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี หรือ 60 งวด พร้อมผ่อนปรนเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อ 2) สินเชื่อเพื่อชำระหนี้สินนอกระบบ โดย ธ.ก.ส. วงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 200,000 บาท กรณีสงวนรักษาที่ดินวงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น Minimum Retail Rate (MRR) ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 12 ปี 3) สินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อสงวนรักษาที่ดินจากการจำนอง ขายฝาก หรือใช้ที่ดินเป็นประกัน วงเงินสูงสุด 2.5 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี และลดลงในปีต่อไป ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 20 ปี และ 4) บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด เพื่อให้บริการขายฝากหรือให้สินเชื่อจดจำนองที่ดินอย่างเป็นธรรม โดยมีอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี และปลอดชำระเงินต้น 12 เดือน
2.3 สนับสนุนให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบด้วยมาตรการสนับสนุนให้เจ้าหนี้นอกระบบขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) โดยสามารถยื่นขอใบอนุญาตสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์กับกระทรวงการคลังเพื่อประกอบธุรกิจตามกฎหมาย
3. การปรับโครงสร้างระบบการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อควบคู่กับการแก้ไขหนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อและได้รับความเป็นธรรมในการจัดการบริหารปัญหาหนี้สินของตนเองอย่างยั่งยืน โดยมีแนวทาง ดังนี้ 1) หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) และแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบุคคลที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt: PD) โดย ธปท. และ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว 2) แนวทางการยกระดับการค้ำประกันสินเชื่อ
โดยกระทรวงการคลังร่วมกับ ธปท. อยู่ระหว่างเสนอแนวทางดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น 3) การขยายขอบเขตข้อมูลเครดิตบูโรฯ โดยสนับสนุนให้สถาบันการเงินสามารถใช้ข้อมูลอื่น (Alternative Data) ประกอบการพิจารณาสินเชื่อได้ เช่น ประวัติชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ-ค่าไฟ ข้อมูลรายได้ เป็นต้น เพื่อให้สะท้อนความตั้งใจและความสามารถในการชำระสินเชื่อจริง และ 4) การสนับสนุนให้สหกรณ์ส่งข้อมูลให้แก่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (National Credit Bureau: NCB) และปรับปรุงหลักการบุริมสิทธิของสหกรณ์ในการตัดเงินเดือนหรือค่าจ้างเพื่อชำระหนี้ที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และเหมาะสมกับต้นทุนทางการเงินของผู้ให้สินเชื่อแต่ละราย
นอกจากนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ให้สำเร็จและมีผลอย่างยั่งยืน หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันเสริมความรู้และพัฒนาทักษะการบริหารจัดการเงิน ตั้งแต่เยาวชนจนถึงวัยทำงาน และเพิ่มตัวช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ประชาชน เช่น สร้างคนให้คำแนะนำการแก้หนี้ (Debt Counsellor) คนไกล่เกลี่ยหนี้ (Debt Mediator) เป็นต้น เพื่อช่วยให้ลูกหนี้ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง รวมทั้งการส่งเสริมวินัยการออม เช่น บริการ “ออมเพลิน” ซึ่งเป็นโครงการนำร่องให้ประชาชนสามารถสะสมเงินออมแบบอัตโนมัติในทุกครั้งที่ใช้จ่ายชำระค่าสินค้า เป็นต้น เพื่อลดการเป็นหนี้ และส่งเสริมให้ประชาชนมีเงินออมที่เพียงพอหลังเกษียณอายุ
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ รวมถึงการปรับโครงสร้างระบบการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อ จะสามารถช่วยเหลือประชาชนที่เป็นหนี้ในระบบได้ประมาณ 10.3 ล้านราย และช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบได้ประมาณ 1.6 ล้านราย ท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลคาดหวังว่า มาตรการต่าง ๆ จะช่วยแบ่งเบาภาระหรือตัดจบปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน ช่วยให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมในการจัดการบริหารปัญหาหนี้สิน และได้รับโอกาสในการประกอบอาชีพและมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
1. ธนาคารออมสิน โทร. 02 299 8000 หรือสายด่วน 1115
2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร. 02 555 0555
3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โทร. 02 645 9000
4. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โทร. 02 265 3000 หรือสายด่วน 1357
5. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร. 02 169 9999
6. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โทร. 02 650 6999 หรือสายด่วน 1302
7. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โทร. 02 890 9999
8. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา โทร. 02 016