- Details
- Category: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
- Published: Thursday, 30 November 2023 07:58
- Hits: 3175
การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่เป็นวาระแห่งชาติ
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมงานแถลงนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในเชิงรุกเพื่อที่จะต่อสู้กับปัญหาหนี้นอกระบบของประชาชนในทุกมิติอย่างครบวงจรและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปราบปรามเจ้าหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง เป็นตัวกลางในการช่วยไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ และจัดให้มีแหล่งสินเชื่อในระบบ สำหรับในส่วนของกระทรวงการคลังจะเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือดูแลลูกหนี้นอกระบบให้เข้ามาเป็นลูกหนี้ในระบบเพื่อให้หลุดพ้นจากวงจรการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว
ในการนี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึงการดำเนินการในส่วนของกระทรวงการคลังว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐโดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดให้มีแหล่งเงินทุนในระบบผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการสินเชื่อธนาคารประชาชนเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบโดยธนาคารออมสิน วงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ร้อยละ 1 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 5 ปี
สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยเพื่อเป็นเงินทุนหรือเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพโดยธนาคารออมสิน วงเงินสินเชื่อไม่เกินรายละ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ร้อยละ 1 ต่อเดือน ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 8 ปี หรือ 96 งวด และสินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนโดย ธ.ก.ส. เพื่อสงวนรักษาที่ดินจากการจำนอง ขายฝาก หรือใช้ที่ดินเป็นประกัน วงเงินสูงสุด 2.5 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 20 ปี สำหรับเจ้าหนี้นอกระบบ หากต้องการจะประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์กับกระทรวงการคลังได้
โดยใบอนุญาตประเภทพิโกไฟแนนซ์มีเงื่อนไขสำคัญเบื้องต้น คือ ต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้รายละไม่เกิน 50,000 บาท และเรียกเก็บดอกเบี้ยแบบมีหลักประกันได้ไม่เกินร้อยละ 33 ต่อปี และแบบไม่มีหลักประกันได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 36 ต่อปี แบบลดต้นลดดอก สำหรับใบอนุญาตประเภทพิโกพลัสต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้รายละไม่เกิน 100,000 บาท
โดยสินเชื่อในส่วนที่เกิน 50,000 บาทขึ้นไป เก็บอัตราดอกเบี้ยสูงสุดได้ไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี แบบลดต้นลดดอก ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ไม่สามารถรับฝากเงินจากประชาชนได้ และสามารถเปิดให้บริการปล่อยสินเชื่อได้เฉพาะภายในจังหวัดที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น
ทั้งนี้ ณ เดือนตุลาคม 2566 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 1,132 ราย ใน 75 จังหวัด (ยกเว้นอ่างทองและสิงห์บุรี) และ ณ เดือนกันยายน 2566 มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยไปแล้วสะสมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 3,797,385 ล้านบัญชี รวมเป็นวงเงิน 36,431.83 ล้านบาท
โดยนิติบุคคลที่สนใจประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สามารถดูข้อมูลรายการยื่นคำขออนุญาตได้ที่ www.1359.go.th และสำหรับประชาชนที่สนใจขอกู้สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ได้ที่ www.1359.go.th เช่นกัน
กองนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลังโทร. 0 2169 7130