- Details
- Category: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
- Published: Friday, 12 November 2021 12:43
- Hits: 16575
ชี้แจงประเด็นข้อเรียกร้องชะลอการเรียกเงินคืน จากกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำผิดเงื่อนไขโครงการ ‘เราชนะ’
โครงการเราชนะ (โครงการฯ) มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และมีส่วนช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ระลอกใหม่ โดยในการเข้าร่วมโครงการฯ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้จัดทำหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และความยินยอม (หลักเกณฑ์ฯ)
สำหรับ ผู้ประกอบการและประชาชนที่เข้าร่วมโครงการฯ เผยแพร่หลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าวในเว็บไซต์เราชนะ (http://www.xn--b3c4a2a6ch6f.com/) เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ได้รับทราบและเข้าใจหลักเกณฑ์ฯ ในการเข้าร่วมโครงการฯ และจะต้องให้ความยินยอมที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าวก่อนเข้าร่วมโครงการฯ
ทั้งนี้ เมื่อประชาชนและผู้ประกอบการได้ให้คำยินยอมที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ ในขั้นตการสมัครแล้ว ประชาชนจะได้รับวงเงินสิทธิช่วยเหลือจำนวนไม่เกิน 9,000 บาท ตลอดโครงการ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ และบัตรประจำตัวประชาชน และสามารถใช้สิทธิเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการที่มีการซื้อขายหรือรับบริการกันจริงผ่านแอปพลิเคชัน ‘ถุงเงิน’ หรือเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่อง EDC) ของผู้ประกอบการร้านค้าที่ได้สมัครและให้คำยินยอมในการเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 1.3 ล้านราย ซึ่งกระทรวงการคลังจะได้โอนเงินให้ผู้ประกอบการโดยตรงในวันถัดไปตามยอดธุรกรรมการใช้จ่าย
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนและออกแถลงข่าวกระทรวงการคลัง ขอความร่วมมือให้ประชาชนและผู้ประกอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ มาโดยตลอด เพื่อควบคุมและป้องกันการกระทำผิดวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เช่น การรับแลกวงเงินสิทธิเป็นเงินสด เป็นต้น
นอกจากนี้ ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปแจ้งเบาะแสการกระทำที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีประชาชนแจ้งเบาะแสให้ทราบมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้รับการแจ้งเบาะแสหรือตรวจพบความผิดปกติของธุรกรรมที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ จะดำเนินการระงับสิทธิชั่วคราวการใช้แอปพลิเคชัน ‘ถุงเงิน’ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับภาครัฐ
และแจ้งให้ผู้ประกอบการติดต่อกลับเพื่อชี้แจงโต้แจ้ง ภายใน 14 วัน ซึ่งเมื่อครบกำหนดแล้ว จะได้นำเอกสารชี้แจงโต้แย้งของผู้ประกอบการเข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการในการตรวจสอบการดำเนินการที่เข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการเราชนะ (คณะทำงานฯ) ที่มีองค์ประกอบคณะทำงานฯ จากหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และกรมบัญชีกลาง เพื่อตรวจสอบ พิจารณา และวินิจฉัยข้อมูลของผู้เข้าร่วมโครงการฯ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการฯ ให้เป็นไปด้วยความรอบคอบ
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและขยายผลการสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย เมื่อคณะทำงานฯ ได้ติดตามตรวจสอบและพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ประกอบการกระทำการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าวจริง หรือกรณีที่ผู้ประกอบการไม่ชี้แจงโต้แย้งพร้อมส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาที่กำหนด จะมีหนังสือประทับตราแจ้งผลวินิจฉัยและขอให้ชำระเงินคืนให้แก่โครงการฯ และผู้ประกอบการสามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือประทับตรา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนดังกล่าวนี้ ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ออกหนังสือประทับตราแจ้งผู้ประกอบการ จำนวน 2,099 ราย เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564
ทั้งนี้ เมื่อพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์แล้ว กรณีไม่มีการชี้แจงหรือไม่ส่งข้อมูลหลักฐานประกอบการอุทธรณ์ หรือไม่มีการชำระเงินคืนให้แก่โครงการฯ รวมถึงกรณีอุทธรณ์มาแต่คณะทำงานฯ พิจารณาแล้วเห็นว่ายังมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ ก็จะมีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการอีกครั้ง ดังนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลังจึงขอประชาสัมพันธ์แจ้งให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ส่งหนังสืออุทธรณ์ ขอให้เร่งดำเนินการส่งคำอุทธรณ์หรือข้อมูลหลักฐานชี้แจงให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อนำสู่กระบวนการพิจารณาของคณะทำงานฯ และกระบวนการเรียกร้องตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
ความคืบหน้าโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 25.83 ล้านราย จากผู้ได้รับสิทธิจำนวน 27.98 ล้านราย โดยมียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 128,897.8 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายสะสม 65,515.5 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 63,382.3 ล้านบาท และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีประชาชนผู้ใช้สิทธิจำนวน 87,298 คน จากผู้ได้รับสิทธิจำนวนกว่า 4.8 แสนราย
โดยมียอดใช้จ่ายสะสมส่วนประชาชนรวม 2,981 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายสะสมที่นำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher 2,395 ล้านบาท และคิดเป็นมูลค่าสะสม e-Voucher ทั้งสิ้นกว่า 265 ล้านบาท และมูลค่าการใช้จ่ายส่วน e-Voucher 152 ล้านบาท
สำหรับ ข้อมูลการใช้จ่ายผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มล่าสุด (ณ วันนี้ เวลา 8.11 น.) โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มีการใช้จ่ายสะสมประมาณ 1,215 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนใช้จ่าย 627.7 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 587.3 ล้านบาท สำหรับ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้มีการใช้จ่ายสะสมกว่า 973,000 บาท และในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ที่ขายอาหารและเครื่องดื่มผ่านผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มล่าสุดขณะนี้ มีจำนวนกว่า 71,000 ราย
ประชาชนสามารถใช้จ่ายใน 2 โครงการดังกล่าวได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ สำหรับ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้ .com หรือผ่าน g-Wallet บนแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ จนกว่าจะครบ 1 ล้านสิทธิ ซึ่งยังมีสิทธิเหลือกว่า 5 แสนสิทธิ โดยประชาชนสามารถใช้จ่ายเพื่อรับ e-Voucher ได้ถึง 30 พฤศจิกายน 2564 และใช้จ่ายในส่วน e-Voucher ได้ถึง 31 ธันวาคม 2564
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง [email protected] , [email protected] ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-111-1122 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ