- Details
- Category: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
- Published: Tuesday, 19 October 2021 21:50
- Hits: 13837
สรุปผลการจัดงานครบรอบวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ปีที่ 60 'ก้าวข้าม COVID-19 สู่วิถี Endemic'
ในงานครบรอบวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปีที่ 60 สศค. ได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อ ‘นโยบายเศรษฐกิจจาก Pandemic สู่ endemic’ ซึ่งถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook Live และ Youtube Live ของ สศค. โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เกิดขึ้นทั่วโลก (Pandemic) รวมถึงประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนในทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยว โรงแรมและภัตตาคาร การคมนาคมขนส่ง และส่งผลกระทบถึงภาคการเกษตร
รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้นนโยบายการคลัง จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือ บรรเทา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบผ่านโครงการที่สำคัญต่างๆ อาทิ เราไม่ทิ้งกัน เราชนะ ขณะที่นโยบายการเงิน ให้ความสำคัญกับการเพิ่มสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยดำเนินการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และธนาคารพาณิชย์ เพื่อประคับประคองธุรกิจและรักษาระดับการจ้างงานในระยะต่อไป เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ช่วงที่โรคโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) สิ่งสำคัญที่จะช่วยในการป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ คือ ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจในทุกระดับ
ได้แก่ 1) ภูมิคุ้มกันระดับมหภาค คือ วิธีการหารายได้ของรัฐ ซึ่งจำเป็นต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ เพื่อให้ภาครัฐมีทรัพยากรเพียงพอรับมือวิกฤตในอนาคต 2) ภูมิคุ้มกันระดับหน่วยธุรกิจหรือภาคเอกชน คือ ภาคธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการการดำเนินธุรกิจ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงต้องมีการผลิตและการให้บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของโลกในปัจจุบัน และ 3) ภูมิคุ้มกันระดับประชาชน คือ ประชาชนจำเป็นต้องมีเงินออม และมีการวางแผนการเงินของตัวเองในระดับหนึ่ง ภาครัฐควรจัดให้มีสวัสดิการตลอดช่วงอายุวัย (Life Cycle Welfare) เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะโครงสร้างประชากรกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
โดยในส่วนของภาครัฐจำเป็นต้องเร่งสนับสนุนให้มีการลงทุนในสาขาสาธารณสุข การแพทย์และพยาบาล และสุขอนามัยด้วย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังจำเป็นต้องสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจจากเครื่องยนต์อันใหม่ (New Engine of Growth) โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งจะช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ในระยะต่อไป
สำหรับ การเสวนาวิชาการภายใต้หัวข้อ 'เพิ่มมุมคิด เติมมุมมอง ก้าวข้ามวิกฤต Covid-19' ซึ่งถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook Live และ Youtube Live ของ สศค. โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา 4 ท่าน ประกอบด้วย ดร. สมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการ บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) ดร. สมชัย สัจจพงษ์ ประธานกรรมการ บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ดร. นิตินัย สิริสมรรถการ ประธานกรรมการ บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมี ดร. พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญของการเสวนาวิชาการได้ ดังนี้
ดร. พรชัย ฐีระเวช กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้วิถีชีวิตและการทำงานของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และเป็นการปรับเข้าสู่วิถีแบบใหม่ ที่เรียกว่า New Normal หรือ Next Normal อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 เริ่มมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยจะเห็นได้จากความคืบหน้าในการจัดหาและการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน และการประกาศแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป
ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะช่วยให้เศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจการค้าพาณิชย์ ภาคการขนส่ง ธุรกิจพักผ่อนหย่อนใจและบันเทิง รวมถึงภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถประคับประคองธุรกิจและฟื้นตัวได้ ดังนั้น บทบาทของนโยบายการคลังในระยะต่อไปจะให้ความสำคัญกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและการฟื้นฟูภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง
ดร. สมชัย ฤชุพันธุ์ กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันได้ผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤติโควิด-19 มาแล้ว และกําลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว ภาคบริการได้รับผลกระทบมากที่สุด จากแรงงานที่มีอยู่จำนวนมาก อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจที่สูงโดยเฉพาะพื้นฐานทางการคลังที่ดี ระบบธนาคารยังมีความเข้มแข็ง และทุนสํารองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง รวมถึง Credit Rating ของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ดี ขณะที่การเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยในระยะถัดไป
ดร.สมชัย สัจจพงษ์ กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ได้สร้างแผลเป็นให้กับเศรษฐกิจไทย จึงเป็นความท้าทายสำหรับภาครัฐในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ โดยภาครัฐควรดำเนินนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ 1) การส่งเสริมผู้ว่างงานให้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง โดยสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอโครงการสร้างงานในท้องถิ่นและชุมชนได้ 2) การส่งเสริม SMEs ให้กลับมาดําเนินธุรกิจได้อีกครั้ง 3) การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ด้วยการสร้างรายได้และสร้างงานให้กับประชาชน 4) การเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในการลดปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน และ 5) การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีความสมดุลมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจากต่างประเทศ
ดร.นิตินัย สิริสมรรถการ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการบิน ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมนี้ฟื้นตัวช้ากว่าปกติ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมามีสายการบินบางแห่งเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ส่งผลให้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินอาจจะมีลักษณะเป็นรูปสแควรูท ภายหลังจากการเปิดน่านฟ้าแล้ว เห็นว่าภาครัฐควรมีนโยบายในการสนับสนุนธุรกิจสายการบิน เนื่องจากอุตสาหกรรมสายการบินจำเป็นต้องใช้เงินทุนสูง เพื่อให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้เป็นปกติ
ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร กล่าวว่า สถานการณ์ของตลาดทุนทั่วโลกในปัจจุบัน เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 แล้ว อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของตลาดเงินตลาดทุนไปในหลายด้าน ได้แก่ 1) การปรับตัวของผู้ประกอบการในตลาดทุน โดยในปี 2563 ผู้ประกอบการเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นไทยสูงสุดเป็นประวัติการ ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน และอันดับ 8 ของโลก
โดยบริษัทที่เข้ามาระดมทุนหลายแห่งเป็นบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์และบริการสอดคล้องกับวิถีแบบใหม่ หรือ New Normal อาทิ บริษัทที่เกี่ยวกับเครื่องมือการแพทย์ บริษัทด้านเทคโนโลยีและ Digital Transformation และบริษัทด้านโลจิสติกส์ e-Commerce เป็นต้น 2) พฤติกรรมของนักลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีจํานวนนักลงทุนที่อยู่ในช่วง Gen Y เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสในการเสริมสร้างการเข้าถึงการลงทุนของประชาชน 3) การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพของตลาดทุน เช่น ระบบเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-AGM) e-AGM
สำหรับ การประชุมออนไลน์ของบริษัทจดทะเบียน ระบบการชำระอากรแสตมป์สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Stamp) และ 4) แนวโน้มการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ตลาดทุนไทยต้องเร่งปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้ในระดับภูมิภาคและระดับโลกมากยิ่งขึ้น
ดร. พรชัย ฐีระเวช ได้กล่าวสรุปผลการเสวนาว่า วันนี้เราได้ทราบถึงความท้าทายและปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่สำคัญๆ หลายประการ โดยในระยะต่อไป สศค. จะได้นำข้อคิดเห็นดังกล่าวมาปรับใช้ประกอบการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินการคลังอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญบทบาทของนโยบายการคลังในการใช้จ่ายเงินเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเศรษฐกิจไทย และเพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ