- Details
- Category: กรมสรรพสามิต
- Published: Monday, 02 May 2016 17:49
- Hits: 6162
สตง.ร่อนหนังสือจี้'สรรพสามิต'เอาผิดเพิ่มพมบคืนภาษี'รถคันแรก'มั่ว
แนวหน้า : สตง.สุ่มตรวจเอกสารหลักฐานของผู้ได้สิทธิได้คืนภาษีในโครงการ ‘รถคันแรก’พบพิรุธอีกเพียบ ระบุหากพบเป็นการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ ให้ “กรมสรรพสามิต”ดำเนินการตามควรแก่กรณี แต่หากเป็นการกระทำผิดของผู้ขอใช้สิทธิ ก็ขอให้เรียกเงินภาษีคืน
มีรายงานจาก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า สตง.ได้รายงานผลตรวจสอบการดำเนินงาน โครงการรถคันแรกของกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ตั้งแต่เริ่มโครงการปีงบประมาณ พ.ศ. 2554-2558 (ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2554 วงเงินงบประมาณ 4.73 หมื่นล้านบาท กำหนดระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2554 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2555) พบว่า ผู้ขอใช้สิทธิไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. และแนวทางที่กำหนด และไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในหลายกรณี
ทั้งนี้ จากการสุ่มตรวจสอบผู้ขอใช้สิทธิจากโครงการฯจำนวน 4,340 ราย ของสรรพสามิตพื้นที่สาขาจำนวน 7 แห่ง พบว่ามีผู้ขอยื่นเอกสารหลักฐานไม่ครบภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2555 ตามมติ ครม. ที่กำหนดไว้ จำนวนถึง 1,640 ราย คิดเป็น 37.79% ของจำนวนที่สุ่มตรวจสอบ แต่ กรมสรรพสามิตได้อนุมัติสิทธิและจ่ายเงินภาษีคืนคิดเป็นจำนวนเงิน 121.79 ล้านบาท และมีผู้ที่ยื่นเอกสารโดยไม่มีใบจอง หรือยื่นเพิ่มเติมเกิน 90 วัน ตามที่มติ ครม. กำหนด จำนวน 2 ราย ซึ่งกรมสรรพสามิตได้อนุมัติสิทธิและจ่ายเงินภาษีจำนวนเงิน 1.8 แสนบาท
นอกจากนี้ ยังมีผู้ขอใช้สิทธิไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยมีอายุไม่ถึง 21 ปี ทะเบียนบ้านคนละชื่อกับผู้ขอใช้สิทธิรับรถยนต์ไม่ตรงรุ่น หมายเลขเครื่องยนต์และใบจองรถยนต์คนละชื่อกับผู้ขอใช้สิทธิ มีจำนวน 6 ราย ซึ่งกรมสรรพสามิตได้อนุมัติจำนวนเงิน 2.6 แสนบาท ส่งผลให้รัฐจ่ายเงินคืนภาษีไม่ถูกต้องให้กับผู้ขอใช้สิทธิทั้ง 3 กรณีรวม 1,648 ราย คิดเป็นจำนวนเงินภาษี 122.23 ล้านบาท
รายงานข่าว สตง. ยังระบุอีกว่า สาเหตุที่โครงการนี้มีข้อผิดพลาด เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ตรวจรับเอกสารขาดความรอบคอบและความระมัดระวังและเข้าใจว่าหากผู้ขอใช้สิทธิมายื่นใบจองรถยนต์เจ้าหน้าที่จะนับระยะ เวลาการให้สิทธิ 90 วัน โดยนับถัดจากวันรับมอบรถยนต์โดยไม่พิจารณาถึงวันที่จดทะเบียนรถยนต์
ทั้งนี้ สตง. ได้ทำข้อเสนอแนะให้ อธิบดีกรมสรรพสามิต สั่งให้สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ พื้นที่สาขาทุกแห่งตรวจสอบเอกสารหลักฐานของผู้ได้สิทธิทั้งหมด หากพบไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. และแนวทางที่กำหนด โดยเฉพาะผู้ที่ขอใช้สิทธิจำนวน 1,648 ราย ที่เป็นปัญหาดังกล่าว ให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิต ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม หากพบเป็นการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ ให้ดำเนินการตามควรแก่กรณี แต่หากเป็นการกระทำผิดของผู้ขอใช้สิทธิ ก็ขอให้เรียกเงินภาษีคืน
สตง.ยังระบุว่า ในส่วนผู้ขอใช้สิทธิที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขเมื่อครบกำหนดไม่ได้นำเงินส่งคืน ให้กับรัฐจำนวน 1,239 ราย เป็นจำนวนเงิน 72.79 ล้านบาท นั้น ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตได้ส่งกรมบัญชีกลางให้ดำเนินการฟ้องแล้ว 399 ราย คิดเป็น 32.20% ของจำนวนผู้ขอใช้สิทธิที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขและยังไม่ชำระเงินคืนให้กับรัฐจำนวน 1,239 ราย เป็นจำนวนเงิน 22.82 ล้านบาท ดังนั้น สตง.จึงเสนอแนะให้อธิบดีกรมสรรพสามิต สั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการเรียกเงินคืน กรณีจ่ายเงินเกินสิทธิและผิดเงื่อนไขเร่งรัดการดำเนินการโดยเร็ว โดยเฉพาะการส่งให้กรมบัญชีกลางดำเนินการฟ้องร้อง
ส่วนการนำส่งเงินคืนกรณีผิดเงื่อนไขไม่เป็นไปตามระเบียบ จากการสุ่มตรวจสอบพบว่าเจ้าหน้าที่การเงินของสรรพสามิตพื้นที่ขอนแก่น สาขาพล มีการส่งหลักฐานการรับเงินคืนจากผู้ใช้สิทธิเกินระยะเวลาที่กำหนดจำนวน 14 ราย เป็นเงิน 5.6 หมื่นบาท ซึ่งกรณีดังกล่าวกรมสรรพสามิตได้ดำเนินการลงโทษแล้ว
ขณะที่เจ้าหน้าที่การเงินของสรรพสามิตพื้นที่พิจิตรมีการดำเนินการส่งเงินล่าช้าจำนวน 10 รายเป็นเงิน 6,470 บาท แต่ยังไม่ได้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริง