- Details
- Category: กรมสรรพสามิต
- Published: Wednesday, 05 October 2022 10:29
- Hits: 2512
สรรพสามิต จัดการประชุมวิชาการระดับอาเซียน ยกระดับการบริหารการจัดเก็บภาษีด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมเดินหน้ายุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เดินหน้าประเทศสู่ความยั่งยืน
กรมสรรพสามิตเป็นเจ้าภาพการประชุม The ASEAN Director-General Meeting on Digital Technologies to Enhance Excise Tax Administration and Moving Forward to Carbon Neutrality โดยได้รับเกียรติ จาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม พร้อมด้วย ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ประธานจัดงาน และอธิบดีที่กำกับดูแลหน่วยงานด้านสรรพสามิตจากประเทศสมาชิกอาเซียน ผู้แทนจากธนาคารการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ผู้แทนจากคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UN ESCAP) และผู้แทนจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท SICPA SA และบริษัทจันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นท์ติ้ง จำกัด ร่วมงาน โดยการประชุมจัดขึ้นในวันที่ 2 - 4 ตุลาคม 2565 ณ โรงแรม รอยัล คลิฟ (Royal Cliff) จังหวัดชลบุรี
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัลและห่วงโซ่อุปทาน กระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิตดำเนินนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศเพื่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน จากสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์วิกฤตพลังงานในปัจจุบัน ซึ่งภาครัฐพยายามแก้ไขปัญหาทั้งด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดภาระทางการคลัง
ดังนั้น การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างฐานะทางการคลังที่มั่นคง โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ตลอดจนการบูรณาการในทุกภาคส่วน สำหรับการประชุมในครั้งนี้ การสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านนโยบายภาษีสรรพสามิตกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่การดำเนินการแบบบูรณาการร่วมกันเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศสมาชิกอาเซียนโดยรวม
ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและรับรองวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2568 (ASEAN Economic Blueprint 2025) ในการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ประสบการณ์ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้
เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ตลอดจนเกิดความโปร่งใส แม่นยำ และตรวจสอบได้ อีกทั้งยังจะนำไปสู่การลดการกระทำผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านภาษีสรรพสามิตระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะช่วยให้การค้าและการลงทุนระหว่างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ การก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เป็นอีกประเด็นที่ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญ ซึ่งกรมสรรพสามิตจะเป็นหน่วยงานที่จะช่วยสนับสนุนและผลักดันให้ประเทศไทยสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
ในการประชุมมีการนำเสนอการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีผ่านระบบติดตามและแกะรอย (Tracking and Tracing System) ที่ช่วยในการบริหารการจัดเก็บภาษี เช่น การพิมพ์รหัสควบคุมบนบรรจุภัณฑ์ (Direct Coding) แสตมป์อิเล็กทรอนิกส์ (E-stamp) และการเติมสารมาร์คเกอร์ (Marker) นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอทิศทางการสนับสนุนอุตสาหกรรการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (Zero emission vehicle: ZEV) เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย 30 @ 30 ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นส่วนผลักดันเศรษฐกิจและสามารถช่วยลดปัญหาด้านมลภาวะทางอากาศและปัญหาโลกร้อน โดยผู้แทนจาก UN ESCAP ได้นำเสนอเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ในการสร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่เข้าถึงได้ที่จะนำไปสู่ Carbon Neutrality
ซึ่งแต่ละประเทศจำเป็นต้องมีการลงทุนและส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน และผู้แทนจาก ADB ได้นำเสนอกระบวนการและขั้นตอนที่ประเทศต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนในรูปแบบของตลาดการค้าคาร์บอน (Emission Trading System: ETS) และการจัดเก็บภาษีคาร์บอน โดยในช่วงสุดท้ายของการประชุม ประเทศสมาชิกอาเซียนมีการนำเสนอประสบการณ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและแนวนโยบายในการลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อมุ่งสู่ Carbon Neutrality
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตพร้อมยกระดับการบริหารการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสู่เทคโนโลยีดิจิทัล และการก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ทั้งยังพร้อมส่งเสริมให้การค้าของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ตามยุทธศาสตร์ EASE EXCISE ของกรมสรรพสามิต ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิตโดยมุ่งเน้นแนวคิดการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment Social Governance: ESG) สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวปิดท้าย
ttps://webdev.excise.go.th/act2560/suppress-news/42-2565/866-45