WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

01 Cบญชเดยว ดจรงหรอ

SMEs ตอบรับมาตรการบัญชีเดียวของกรมสรรพากร

       กรมสรรพากร ได้จัดการเสวนา 'บัญชีเดียว ดีจริงหรือ'ณ ห้องพระอุเทน 1 ชั้น 2 อาคารกรมสรรพากร ในวันที่ 1 เมษายน 2562 โดยมี ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เป็นประธานในการเปิดงาน ภายในงานมีการสาธิตวิธีการลงทะเบียนแจ้งใช้สิทธิ ตามพระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2562 และในโอกาสนี้ นายเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ รองอธิบดีกรมสรรพากร ได้ร่วมเสวนากับผู้แทนจาก 4 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย ผศ.ดร.ธีรชัย อรุณเรืองศิริเลิศ กรรมการและประธานอนุกรรมการด้านการพัฒนาวิชาชีพบัญชี ผู้แทนจากธนาคารพาณิชย์

      โดย คุณพจนารถ แสงพฤกษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานผลิตภัณฑ์ และผู้ประกอบการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการ Start-up โดย ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท Legal Drive จำกัด และผู้ประกอบการ SMEs โดย คุณฉัตรชัย ตั้งจิตตรง CEO บริษัท Dreambase Interactive จำกัด เพื่อให้มุมมองและประสบการณ์ รวมทั้งให้ความเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ของการจัดทำบัญชีเดียว ทำให้มีงบการเงิน ที่สะท้อนถึงผลประกอบการที่แท้จริง

     ในการเสวนา คุณฉัตรชัย ตั้งจิตตรง ผู้ประกอบการ SMEs และ ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ ผู้ประกอบการ Start-up มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า การจัดทำบัญชีชุดเดียวสามารถกระทำได้ง่ายกว่า และไม่ได้เป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่ธุรกิจ เพราะต้นทุนส่วนใหญ่ของธุรกิจ Start up และ SMEs จะมาจากต้นทุนบุคลากรมากกว่าต้นทุนจากการจัดทำบัญชี หรือภาษี ซึ่งประโยชน์ของการจัดทำบัญชีชุดเดียวนอกจากจะเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ตัวเอง และต่อผู้ที่จะมาลงทุนกับตนเองแล้ว การมีงบการเงินที่ถูกต้อง ยังสามารถสะท้อนให้เห็นภาพการขยายตัวของธุรกิจเอง เป็นแนวทางสำหรับทุกคนในบริษัทในการขับเคลื่อนให้ไปในทิศทางเดียวกัน และใช้เป็นข้อมูลประกอบการขยายการลงทุน และการได้รับสินเชื่อจากธนาคารที่สะดวกขึ้นได้อีกด้วย

       ในขณะเดียวกัน ผศ.ดร.ธีรชัย อรุณเรืองศิริเลิศ ผู้แทนจากสภาวิชาชีพบัญชี ให้ความเห็นว่า การจัดทำบัญชีชุดเดียวเป็นสิ่งที่ง่ายและใช้ต้นทุนน้อยกว่า เพราะที่ผ่านมาการทำบัญชีหลายชุดมีความยุ่งยาก ก่อให้เกิดปัญหาไม่ว่าจะเป็นการลาออกจากงานของนักบัญชี การทุจริตภายในองค์กร การถูกตรวจสอบ โดยเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร และที่สำคัญต้นทุนที่สูงขึ้นจากการทำบัญชีหลายชุด ซึ่งสูงกว่าต้นทุนจากการจัดทำบัญชีเดียว นอกจากนี้ การที่บริษัทถือเงินสดไว้มากเกินความจำเป็นเพื่อเลี่ยงการส่งข้อมูลสถานะทางการเงินของธนาคารไปให้กรมสรรพากรนั้น จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี กล่าวคือ ผู้สอบบัญชีของบริษัทอาจมีข้อสังเกตเกิดความสงสัยในการทำธุรกรรม ความไม่โปร่งใส ซึ่งอาจส่งผลต่อการไม่รับรองงบการเงินได้

      นอกจากนี้ คุณพจนารถ แสงพฤกษ์ ผู้แทนจากธนาคารพาณิชย์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า กิจการที่มีการจัดทำบัญชีชุดเดียวนั้น ผู้ประกอบการจะได้รับผลประโยชน์โดยตรง นอกจากธุรกิจจะทราบสถานะการเงินที่แท้จริง งบการเงินมีความโปร่งใสแล้ว ยังจะส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน นอกจากนี้ ในการขยายตัวของธุรกิจสามารถทำได้ง่าย และสะดวกยิ่งขึ้น ธนาคารพาณิชย์จะจัดระดับว่า เป็นผู้ประกอบการที่ดี จะมีการแข่งขันกันในการเสนอให้สินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการจะสามารถนำไปขยายธุรกิจ ให้เป็นผู้ประกอบการที่มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

     นายเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ รองอธิบดีกรมสรรพากร ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) บางส่วนมีความเข้าใจผิดว่า ‘ภาษีเป็นต้นทุนของกิจการ’ จึงได้ทำการหลบเลี่ยงโดยการจัดทำบัญชีหลายชุด ซึ่งแต่ละชุดมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน และการจัดทำบัญชีหลายชุดนั้นจะส่งผลให้งบการเงินของกิจการเกิดข้อผิดพลาด และไม่สะท้อนสภาพที่แท้จริงของกิจการ และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 การทำธุรกรรมกับธนาคารจะต้องใช้งบการเงินที่ยื่นต่อกรมสรรพากร ซึ่งผู้ประกอบการจำนวนมากไม่สามารถแก้ไขงบการเงินให้มีความถูกต้อง และเป็นปัจจุบันได้

     อีกทั้ง กรมสรรพากรได้นำเทคโนโลยี มาใช้ร่วมในการวิเคราะห์ รวมทั้งช่วยในการตรวจสอบภาษี ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่พบว่า ผู้ประกอบการมีการหลีกเลี่ยงภาษี จึงต้องรับภาระทั้งเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และความรับผิดทางอาญา ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระของผู้ประกอบการ SMEs กรมสรรพากรจึงมีมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ จัดทำบัญชี รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้จัดทำงบการเงินที่ถูกต้องและสอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ซึ่งประโยชน์ ของบัญชีชุดเดียวนั้น นอกจากจะทำให้ผู้ประกอบการทราบถึงสถานะกิจการของตนเองแล้ว ยังช่วยผู้ประกอบการในการมีงบการเงินที่มีความถูกต้อง เชื่อถือได้ และใช้ในการยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารได้อีกด้วย

      รองอธิบดีกรมสรรพากร นายเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ กล่าวโดยสรุปว่า มาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้ถูกต้องและสอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการนี้ ไม่ใช่มาตรการที่มุ่งหวังการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นมาตรการที่เปิดโอกาสให้ ผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังมีความเข้าใจผิดหรือทำบัญชีไว้ไม่ถูกต้อง ทำการปรับปรุงตนเอง โดยกรมสรรพากรได้เปิดให้ผู้ประกอบการ SMEs ลงทะเบียน ใน ‘ระบบส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ’ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติ ยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากรฯ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพื่อปรับปรุงรายการและชำระภาษีให้ถูกต้องได้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 กรณีที่มีผลกระทบต่องบการเงินจะได้ปรับปรุงงบการเงินให้ถูกต้องต่อไปด้วย มาตรการนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการที่พร้อมจะปรับตัวให้ถูกต้อง ทำให้การจัดเก็บภาษีมีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น และจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการและกรมสรรพากร สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มที่ยังมีเจตนาหลบเลี่ยงภาษี กรมสรรพากรจะมีมาตรการเข้มงวดต่อผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อไป

       กรมสรรพากร สำนักงานเลขานุการกรม ส่วนประชาสัมพันธ์   โทร. 0 2272 9529-30   โทรสาร 0 2617 3324 หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร 1161 (RD Intelligence Center)

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!