- Details
- Category: กรมศุลกากร
- Published: Friday, 23 December 2022 11:10
- Hits: 2328
กรมศุลการกร ตรวจพบการนำเข้าและส่งออกสารเสพติดและสินค้าผิดกฎหมาย ในรอบเดือนธันวาคม 2565
วันนี้ (วันที่ 23 ธันวาคม 2565) นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากร มีการดำเนินงานเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าและส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ของประเทศ การส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศด้วยมาตรการทางศุลกากรและข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ การเพิ่มขีดความสามารถในการปกป้องสังคมให้ปลอดภัยด้วยระบบควบคุมทางศุลกากร และการจัดเก็บภาษีอากรอย่างเป็นธรรม โปร่งใส อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในเดือนธันวาคม 2565 มีผลงานที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ผลการตรวจพบการกระทำความผิดประจำเดือนพฤศจิกายน 2565
กรมศุลกากร มีนโยบายในการเร่งรัดปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงการนำเข้าและส่งออกสินค้าจากราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงให้หน่วยงานในสังกัดพร้อมหน่วยปฏิบัติการวางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สินค้าเกษตร น้ำมัน ยาเสพติด IPRs และสินค้าละเมิดอนุสัญญา CITES โดยสืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนด้วยรถยนต์ ตรวจค้นรถบรรทุก โกดัง แหล่งจำหน่าย สถานที่เก็บรักษาที่เชื่อได้ว่ามีของผิดกฎหมายเก็บซุกซ่อนอยู่ อีกทั้งยังมีแผนการป้องกันและปราบปรามสินค้าดังกล่าวในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงในการลักลอบนำเข้า-ส่งออกสินค้า นอกจากนี้ มีการบูรณาการกับหน่วยงาน และพันธุ์พืช สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่างๆ องค์การตำรวจสากล (Interpol) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (Drug Enforcement Administration: DEA) เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวระหว่างกัน โดยในเดือนพฤศจิกายน 2565 มีจำนวน 2,859 คดี คิดเป็นมูลค่ารวม 261.61 ล้านบาทมีผลงานที่น่าสนใจ ดังนี้
1.1 ผลการจับกุมยาเสพติด
ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายเดินหน้าปราบปรามยาเสพติดทั้งการผลิต การนำเข้า การนำผ่าน และการลักลอบจำหน่าย โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวด ด้านกระทรวงการคลังโดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง เพิ่มความเข้มงวดและเดินหน้าปราบปรามการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักรทุกเส้นทาง กรมศุลกากรจึงเพิ่มการเฝ้าระวังการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งทางบก ทางเรือและทางอากาศ รวมถึงการลักลอบนำยาเสพติดซุกซ่อนมากับสินค้าที่ส่งทางพัสดุไปรษณีย์ โดยมีผลการจับกุม ดังนี้
- เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ตรวจพบพัสดุด่วนพิเศษระหว่างประเทศต้องสงสัย ซึ่งเป็นสินค้าและเส้นทางในกลุ่มเสี่ยงที่ถูกใช้ในการซุกซ่อนยาเสพติด สำแดงเป็น SILK ปลายทางประเทศออสเตรเลีย ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ กรมศุลกากรจึงได้ร่วมกับ ชุดปฏิบัติการ Airport Interdiction Task Force (AITF) ทำการตรวจสอบ พบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน (Heroine) ลักษณะเป็นผงสีขาว บรรจุพลาสติกใส ด้านหนึ่งปิดด้วยเทปกาวสีดำซุกซ่อนอยู่ในสาบเสื้อและชายเสื้อพื้นเมือง น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 1,973 กรัม มูลค่า 5,919,000 บาท จึงได้ยึดและประสานศุลกากรออสเตรเลีย เพื่อสืบสวนเครือข่ายต่อไป
กรณีนี้ ถือเป็นความผิดฐานพยายามลักลอบส่งออกยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน ออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 มาตรา 252 ประกอบมาตรา 166 และ 167
- เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร พร้อมด้วยทหาร กองกำลังผาเมือง และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. เข้าตรวจสอบ บริษัทขนส่ง (สาขาป่าเหมือด) อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พบพัสดุและสิ่งของที่อายัดไว้จำนวนหนึ่งก่อนหน้านี้ ซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ มีลักษณะต้องสงสัย โดยหีบห่อและน้ำหนักผิดปกติ จึงได้ทำการตรวจสอบ ผลการเปิดตรวจกล่องพัสดุ จำนวน 8 หีบห่อ พบกล่องสุราต่างประเทศ ภายในบรรจุยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) รวม 387,840 เม็ด มูลค่า 31,027,200 บาท
กรณีนี้ ถือเป็นความผิดฐาน ห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ตามมาตรา 90 ประกอบมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และมาตรา 242 มาตรา 246 ประกอบมาตรา 252 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560
- เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เจ้าหน้าที่ศุลกากรพบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ประเภทพัสดุไปรษณีย์ทางอากาศ ต้นทางจากประเทศโปรตุเกส จำนวน 1 หีบห่อ มีลักษณะที่น่าสงสัย จึงร่วมกับ พนักงาน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ภายในพบกล่องเครื่องเล่น Play Station VR ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าปกติ ใต้กล่องพบว่ามีการซุกซ่อนถุงสีดำ ภายในพบห่อด้วยกระดาษคาร์บอนสีน้ำเงิน หลังจากแกะกระดาษคาร์บอนสีน้ำเงินพบถุงพลาสติกใสบรรจุผงสีขาว เจ้าหน้าที่จึงนำผงสีขาวดังกล่าวไปทดสอบด้วยน้ำยา COBALT THIOCYANATE REAGENT พบว่าทำปฏิกิริยากับน้ำยาทดสอบพบเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคคาอีน น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 2.31 กิโลกรัม มูลค่า 11,000,000 บาท
กรณีนี้ ถือเป็นความผิดฐานนำของต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตามมาตรา 244 และมาตรา 252 ประกอบมาตรา 60 และมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ในข้อหา “นำยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคคาอีน เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต”
สำหรับ สถิติการตรวจยึดยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในเดือนพฤศจิกายน 2565 มีจำนวน 15 คดี มูลค่า 108.45 ล้านบาท
1.2 ผลการจับกุมบุหรี่
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร เข้าตรวจค้นห้องแถว ถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ 1 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พบบุหรี่ต่างประเทศมีถิ่นกำเนิดต่างประเทศ ไม่ปิดแสตมป์ตามกฎหมาย ขณะตรวจค้นไม่พบเอกสารการปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรโดยถูกต้อง จำนวน 32,350 ซอง มูลค่า 2,588,000 บาท
กรณีนี้เป็นการลักลอบหนีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตามมาตรา 242, 244 และมาตรา 246 ประกอบกับมาตรา 166 และ 167 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่น ที่เกี่ยวข้อง จึงยึดของกลางส่งด่านศุลกากรท่าอากาศยานหาดใหญ่ และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีต่อไป
ทั้งนี้สถิติการจับกุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเดือนพฤศจิกายน 2565 ได้แก่ 1. บุหรี่ จำนวน 138 คดี มูลค่า 6,457,186 ล้านบาท 2. บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์ จำนวน 37 คดี มูลค่า 3,360,536 บาท
1.3. ผลการจับกุมสินค้าเกษตร
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เจ้าหน้าที่ศุลกากร ได้ตรวจค้นรถยนต์บรรทุก 12 ล้อ เนื่องจากสงสัยว่ามีสิ่งของที่ยังไม่ได้เสียภาษีอากร หรือมีของต้องห้ามต้องกำกัดซุกซ่อนมาในรถยนต์ ในพื้นที่ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร พบกระเทียม มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร บรรจุกระสอบ กระสอบละ 20 กิโลกรัม จำนวน 750 กระสอบ น้ำหนักรวม 15,000 กิโลกรัม มูลค่า 900,000 บาท
กรณีดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 242, 246และมาตรา 247 ประกอบ กับมาตรา 166 และ 167 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560
ทั้งนี้ สถิติการจับกุมสินค้าเกษตรในเดือนพฤศจิกายน 2565 มีจำนวน 60 คดี มูลค่า 1,863,166 บาท
2. การนำเข้าของเร่งด่วน (Express) จากต่างประเทศ ผ่านทางอากาศยานและการนำเข้าของทางไปรษณีย์
กรมศุลกากรมีแนวทางในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับผู้ที่นำเข้าของเร่งด่วน (Express) จากต่างประเทศ ผ่านทางอากาศยานและการนำเข้าของทางไปรษณีย์ โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
2.1 ของที่ไม่ต้องเสียภาษี ของที่รวมมูลค่าแล้ว ไม่เกิน 1,500 บาท โดยรวมจาก ราคาของ + ค่าขนส่ง + ค่าประกันภัย = ราคา CIF ซึ่งของทุกชิ้นจะถูกตรวจสอบโดยการ X – Ray และบันทึกภาพด้วย CCTV ตลอดเวลา
ทั้งนี้ของบางประเภทจะไม่สามารถนำเข้ามาในประเทศได้ หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามพระราชบัญญัติกรมศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีตัวอย่างของที่ห้ามนำเข้าประเทศ ดังนี้ บุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ สินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา วัตถุหรือสื่อลามก สัตว์ป่าสงวน และสารเสพติด
สำหรับของบางประเภทต้องขอใบอนุญาตนำเข้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ส่วนต่างๆ ของพืช ต้องขออนุญาตจากกรมวิชาการเกษตร, สัตว์เลี้ยงและสัตว์น้ำต้องขออนุญาตจากกรมปศุสัตว์และกรมประมง, ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ อาหาร วัตถุอันตราย และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), วิทยุสื่อสาร และโดรน ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
หากขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อย ผู้รับของต้องจัดทำใบขนสินค้าขาเข้า โดยส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เข้าระบบคอมพิวเตอร์กรมศุลกากร ณ สำนักงาน/ด่านศุลกากร
2.2 ของที่ต้องเสียภาษี
ราคาของ ตั้งแต่ 1,500 บาท ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 40,000 บาท
ของจะถูกเลือกโดยระบบบริหารความเสี่ยงของกรมศุลกากรเพื่อตรวจสอบโดยการเปิดตรวจทางกายภาพ ซึ่งหีบห่อถูกเปิดและปิดโดยพนักงานของผู้ประกอบการของเร่งด่วน หรือเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทย และบันทึกภาพด้วย CCTV ตลอดเวลา ตัวอย่างอัตราอากรขาเข้าของสินค้า ได้แก่ นาฬิกา 5%, ของเล่น 10%, เครื่องดนตรี 10%, กระเป๋า 20%, รองเท้า 30%, เสื้อผ้า 30%
วิธีการคำนวณค่าภาษีอากร
อากรขาเข้า = ราคา CIF x อัตราอากรขาเข้าของสินค้า
ภาษีมูลค่าเพิ่ม = (ราคา CIF + อากรขาเข้า) x อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตัวอย่าง การคำนวณค่าภาษีสินค้ากระเป๋าถือสตรี ราคา CIF 10,000 บาท, อัตราอากร 20%
อากรขาเข้า = 10,000 x 20% = 2,000 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม = (10,000 + 2,000) x 7% = 840 บาท
ดังนั้น ต้องเสียภาษีอากรทั้งหมด 2,840 บาท
กรณีราคาของ (FOB) เกินกว่า 40,000 บาท ผู้รับของ ต้องจัดทำใบขนสินค้าขาเข้า โดยการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากร ณ สำนักงาน/ด่านศุลกากร
A12898