- Details
- Category: กรมศุลกากร
- Published: Saturday, 10 April 2021 10:02
- Hits: 13771
กรมศุลกากร ชี้แจงประเด็นไม้พะยูงของกลาง มีผู้โต้แย้งสิทธิถึง 7 ราย ยังไม่ทราบว่า ผู้ใดเป็นเจ้าของที่แท้จริง
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 สถานีโทรทัศน์ช่องเวิร์คพอยท์ 23 ในรายการ 'บรรจงชงข่าว' ได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับ 'นักธุรกิจชาวลาวขอคืนไม้พะยูง 160 ล้าน หลังโดนอายัด 16 ปี' โดยมีการกล่าวอ้างถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ที่ยังไม่สามารถคืนไม้พะยูงของกลางแก่ผู้ที่อ้างกรรมสิทธิ์ได้
นายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร กรมศุลกากร ได้เปิดเผยว่า กรณีไม้พะยูงของกลางดังกล่าว เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2549 โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่สถานทูตลาวประจำประเทศไทย ผู้ขนส่งสินค้าผ่านแดน และเจ้าของตู้สินค้า ร่วมกันตรวจสอบไม้พะยูงผ่านแดนบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 11 ตู้ ที่อยู่ในอารักขาของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ตามที่ได้รับแจ้งขออายัดจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดมุกดาหาร ในเบื้องต้น ไม่พบตรา ปมล. ซึ่งเป็นตราป่าไม้ของลาว พบเพียงตราอักษร ต ซึ่งเป็นตราป่าไม้ของไทยประทับไว้เพียงบางท่อน จึงสันนิษฐานว่า ไม้ดังกล่าวถูกลักลอบตัดในไทย และปลอมใบอนุญาตผ่านแดน
ต่อมา เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 7 แจ้งคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาเพราะพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง โดยไม่ได้ขอให้ศาลริบไม้ของกลาง แต่แจ้งกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดการเกี่ยวกับของกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 อย่างไรก็ดี กรมป่าไม้ได้รื้อฟื้นคดี เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่ โดยพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม สำนักงานอัยการสูงสุด จึงแจ้งให้ด่านศุลกากรเก็บรักษาไม้ไว้จนกว่าคดีอาญาจะถึงที่สุด
ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ส่วนศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอม และเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2562 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา ที่ 3665 - 3666/2562 พิพากษาแก้ โดยให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง แต่มิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับไม้ของกลางแต่อย่างใด เป็นเหตุให้มีบุคคล/นิติบุคคล ยื่นหนังสือต่อกรมศุลกากรเพื่ออ้างสิทธิในการดำเนินการเกี่ยวกับไม้ของกลางดังกล่าว รวม 7 ราย ดังนี้
- นายสอนแก้ว สิทธิไช อ้างว่า เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนวิสาหกิจส่วนบุคคล โรงเลื่อยพงสะหวัน
- นายคำสะไหว พมมะจัน อ้างว่า ได้รับมอบอำนาจจากผู้อำนวยการบริษัท วิสาหกิจส่วนบุคคล พงสะหวัน อุตสาหกรรมไม้ จำกัด
- บริษัท ที.แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ (1991) จำกัด ผู้ดำเนินการพิธีการศุลกากรผ่านแดน
- นายสมสัก แก้วผาลี อ้างว่า เป็นผู้รับมอบอำนาจจาก สปป.ลาว
- บจก. ที่ปรึกษากฎหมายยูเนี่ยนลอว์ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก นายคำสะไหวฯ
- นางสาวิตรี นันท์ภิวัฒน์ อ้างว่า เป็นผู้รับมอบอำนาจจากวิสาหกิจส่วนบุคคลพงสะหวันอุตสาหกรรมไม้
- นายสุเทพ อุ่นศรี ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก นางอรัญญา อุปัติสิงห์ ผู้ประกอบกิจการนำเข้าไม้จากลาว
กรมศุลกากร พิจารณาเห็นว่า เพื่อให้การส่งมอบไม้พะยูงของกลางคืนให้แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง และเป็นไปด้วยความรอบคอบ ถูกต้องตรงตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางถนนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลของอนุสัญญาบาร์เซโลนาที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามโดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกให้กับประเทศที่ไม่มีพรมแดนออกสู่ทะเล ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา ความตกลงฯ กำหนดให้ ผู้รับจัดการขนส่งสินค้าผ่านแดน และผู้ประกอบการขนส่งสินค้าผ่านแดนต้องได้รับอนุญาตและรับรองจากรัฐบาลของภาคีคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย
คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติให้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 2 ราย และบริษัทเอกชนจำนวน 3 ราย เป็นผู้รับจัดการขนส่งสินค้าผ่านแดนไปสู่ สปป.ลาว โดยคณะรัฐมนตรี ลงมติให้ บริษัท ที.แอล.เอ็นเตอร์ไพร์ส (1991) จำกัดเป็นผู้รับจัดการขนส่งสินค้าผ่านแดน เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2534 อีกทั้ง เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการผ่านแดนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 รวมทั้งอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับมีบัญชาของนายกรัฐมนตรี จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้
- หนังสือสำนักเลขานายกรัฐมนตรี ที่ นร 0402/1962 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 สรุปได้ว่า กรณีนี้ ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวแล้วว่า หากผิด ก็ยึดได้เลย หากคืนก็คืนให้รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไม่คืนให้กับบริษัทฯ
- หนังสือสำนักเลขานายกรัฐมนตรี ที่ นร 0402/2039 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 สรุปได้ว่า มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศประสานกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อแจ้งความคืบหน้าของคดีให้นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวทราบ พร้อมขอทราบแนวทางการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจากนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
กรมศุลกากร จึงมีหนังสือถึงกรมเอเชียตะวันออกเพื่อขอความอนุเคราะห์กรมเอเชียตะวันออกแจ้งไปยังสถานทูตลาวในการประสานรัฐบาล สปป.ลาว เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารการผ่านแดนและเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง รวมถึงดำเนินการรับมอบไม้พะยูงของกลาง และปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่อไป
นายชูชัย อุดมโภชน์ กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของเนื้อหาข่าวรายการบรรจงชงข่าว โดยนายบรรจง ชีวมงคลกานต์ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 เวลา 17.00 น. ที่มีข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง กรมศุลกากร จึงขอชี้แจงในแต่ละประเด็น ดังนี้
- กรณีที่นายคำสะไหว กล่าวอ้างว่า สงสัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่กล่าวถึงเบื้องต้นว่าทำไมต้องทำหนังสือคัดค้านและทำไมถึงไม่เห็นดีด้วย ในเมื่อศาลพิพากษาฎีกาบอกชัดเจนเรื่องเอกสารต่างๆ ที่เขาถาม และ บก.ปทส. เขาก็ตรวจสอบถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย มีคณะกรรมการและก็ให้คืนแล้ว เขาก็ไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ข้อเท็จจริงคือ ศาลยกฟ้องในคดีปลอมแปลงเอกสาร โดยศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอม และศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง แต่มิได้มีคำสั่งคืนไม้ของกลางแต่อย่างใด
- กรณี ที่นายคำสะไหว กล่าวอ้างว่า กรมศุลกากรก็มีหนังสือไปที่ ทสจ. ที่มุกดาหาร ก็ถึงได้เกิดเรื่องเมื่อวันที่ 24-25 ที่ผ่านมามีการเรียกรับเงิน ประเด็นนี้ กรมศุลกากร ขอเรียนว่า กรมศุลกากรและหน่วยงานในสังกัดไม่เคยมีหนังสือถึงสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดมุกดาหาร แต่อย่างใด กรณีเป็นการกล่าวเท็จทั้งสิ้น
- กรณี นายคำสะไหว กล่าวอ้างว่า ปริมาณไม้ จำนวนไม้ก็ลดหายไป กรมศุลกากร ขอเรียนว่า ไม้ดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของ บริษัท เอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง ยืนยันว่า ยังอยู่ครบถ้วนถูกต้อง ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากรลงพื้นที่ตรวจสอบ เมื่อวันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม 2563
- กรณี นายคำสะไหว ขอเข้าตรวจสอบดูไม้พะยูงของกลาง โดยอ้างว่า มีคำสั่งจากที่ปรึกษาฯ กรมศุลกากร ห้ามเข้าไปดูไม้ ห้ามใครเข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่องไม้ โดยเฉพาะชื่อผมที่ระบุในการรับไม้ ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยว กรมศุลกากรขอเรียนว่า ไม้พะยูงของกลางดังกล่าวมีผู้โต้แย้งสิทธิถึง 7 ราย ยังไม่ทราบว่า ผู้ใดเป็นเจ้าของที่แท้จริง การขอเข้าดูและตรวจวัดไม้ จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะยังไม่ทราบว่า ไม้ของกลางเป็นของผู้ใด
- ดังนั้น ควรรอความชัดเจน หากมีผู้ไม่สุจริตมาตรวจสอบดูไม้ และถ่ายรูปนำไปเสนอขายที่ต่างประเทศ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศไทย ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นแล้ว
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ