- Details
- Category: กรมบัญชีกลาง
- Published: Friday, 06 October 2023 22:38
- Hits: 4041
กรมบัญชีกลางก้าวสู่ปีที่ 133 มุ่งมั่นขับเคลื่อนภารกิจด้านการเงินการคลัง 'กำกับดูแล และบริหารการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด'
นางสาวทิวาพร ผาสุข รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า วันที่ 7 ตุลาคม 2566 กรมบัญชีกลางครบรอบวันสถาปนา ปีที่ 133 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางดำเนินภารกิจด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส เพื่อกำกับดูแลและบริหารการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด
พร้อมขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลังอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผลการดำเนินงานที่สำคัญในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของกรมบัญชีกลางสรุป ดังนี้
1. การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
กรมบัญชีกลางได้มอบหมายให้คณะทำงานเฉพาะกิจในการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ทั้งส่วนกลาง และสำนักงานคลังจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด เพื่อติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการให้สามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัว และเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด ได้แก่ การเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวม ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 93 การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำ ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 98
และการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุน ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 75 ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรมบัญชีกลางสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของหน่วยรับงบประมาณต่างๆ เกินเป้าหมายที่กำหนด โดยในภาพรวมเบิกจ่ายแล้ว 3,088,435 ล้านบาท คิดเป็น 96.97% ของวงเงินงบประมาณ 3,185,000 ล้านบาท จำแนกเป็น รายจ่ายประจำเบิกจ่ายแล้ว 2,610,245 ล้านบาท คิดเป็น 101.60% ของวงเงินงบประมาณ 2,569,220 ล้านบาท
รายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายแล้ว 478,190 ล้านบาท คิดเป็น 77.66% ของวงเงินงบประมาณ 615,780 ล้านบาท สำหรับเงินงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปีเบิกจ่ายแล้ว 173,958 ล้านบาท คิดเป็น 91.48% ของวงเงินงบประมาณ 190,168 ล้านบาท
2. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรมบัญชีกลางได้พัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) โดยนำเทคโนโลยี Blockchain มาเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูลราคา สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยเริ่มใช้งานตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา
ซึ่งการพัฒนาระบบดังกล่าว จะช่วยป้องกันความเสี่ยงในการรั่วไหลของข้อมูลการเสนอราคา ทำให้ไม่มีผู้ใดสามารถเข้าถึงข้อมูลราคาได้ หากยังไม่ถึงเวลาที่กำหนด อีกทั้ง ลดระยะเวลาการเสนอราคา จากเดิม 8 ชั่วโมง เหลือ 3 ชั่วโมง และยกเลิกขั้นตอนการซื้อเอกสารประกวดราคาฯ ก่อนการเสนอราคาด้วย
สำหรับ การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ e-bidding ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565-31 สิงหาคม 2566) หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและก่อหนี้แล้วจำนวนทั้งสิ้น 5,447,024 โครงการ โดยมีมูลค่าที่จัดหาได้ 1,156,135.30 ล้านบาท สามารถประหยัดงบประมาณได้ 60,209.18 ล้านบาท หรือประหยัดได้ร้อยละ 4.95 ของวงเงินงบประมาณในการจัดหา
และวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่สามารถประหยัดงบประมาณได้มากที่สุดในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ได้แก่การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-market) ซึ่งประหยัดงบประมาณได้ร้อยละ 15.43 ของวงเงินงบประมาณในการจัดหา และการจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่ามากที่สุด
ได้แก่ การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) มีมูลค่า 547,436.06 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 47.35 ของมูลค่างบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด รองลงมาคือวิธีเฉพาะเจาะจง และวิธีคัดเลือกตามลำดับ เมื่อจำแนกปริมาณการจัดซื้อจัดจ้างตามวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง พบว่าหน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงมากที่สุด เป็นจำนวน 5,333,804 โครงการ
สำหรับ กฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลางยังคงพัฒนาและปรับปรุงให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งกระทรวงการคลัง
โดยกรมบัญชีกลางได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐที่ใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ. .... เพื่อลดปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐล่าช้า เนื่องจากที่ผ่านมามีเรื่องอุทธรณ์เข้ามาเป็นจำนวนมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางในฐานะที่ดำเนินงานด้านความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรมบัญชีกลางได้เป็นตัวแทนประเทศไทย นำเสนอผลงานการดำเนินโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency Initiative : CoST) ของประเทศไทย และได้รับรางวัล The CoST Awards ประจำปี 2022 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565
ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก CoST International ทั้งสิ้น 19 ประเทศ เข้าร่วมการประกาศผลรางวัลดังกล่าว โดยประเทศไทยได้รับรางวัล HONORABLE MENTION ซึ่งรางวัลดังกล่าวจะมอบให้แก่ประเทศสมาชิกที่มีผลการดำเนินงานโครงการ CoST ที่โด่ดเด่น โปร่งใส และมุ่งสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างดีเลิศ
3. สวัสดิการรักษาพยาบาล
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรมบัญชีกลางได้กำหนดแนวปฏิบัติการเบิกจ่ายตรงเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกผ่านกระเป๋าสุขภาพ บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกสำหรับช่องทางการยืนยันตัวตนของผู้มีสิทธิ จากเดิมที่สามารถยืนยันตัวตนผ่านเครื่อง EDC ได้เพียงช่องทางเดียว และขยายบริการรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมถึงกรณีการเข้ารับบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่ผู้มีสิทธิไม่ต้องเดินทางมายังสถานพยาบาล
และรอรับยาที่สถานพยาบาลจะจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางยังมีการดำเนินการขยายสิทธิการเข้าถึงยาราคาสูง โดยได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้มีสิทธิสามารถเบิกจ่ายค่ายาที่มีราคาแพง สำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ได้แก่ โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งไทรอยด์ โรคมะเร็งผิวหนัง และโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยเป็นการปรับปรุงเงื่อนไขการใช้ยา
รวมทั้งกำหนดเพิ่มรายการยาและข้อบ่งชี้ของยา จำนวนทั้งสิ้น 11 รายการ 13 กลุ่มโรค (โปรโตคอล) และได้กำกับดูแลการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาล โดยการกำหนดอัตราเบิกจ่ายค่ายาเพิ่มขึ้นอีก 4 รายการ ซึ่งเป็นยาที่มีจำหน่ายทั้งยาต้นแบบและยาสามัญที่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน
ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มีผู้มีสิทธิได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ จำนวนทั้งสิ้น 4,772,296 คน แบ่งเป็นเจ้าของสิทธิ จำนวน 2,244,102 คน และบุคคลในครอบครัว จำนวน 2,528,194 คน และมีผลการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่าย งบกลางรายการค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง
และพนักงานของรัฐ เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 96,508 ล้านบาท แบ่งเป็นค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอก จำนวน 69,120 ล้านบาท และค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยใน จำนวน 27,388 ล้านบาท
สำหรับ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กรมบัญชีกลางมีแผนการดำเนินการ เพื่อให้การพัฒนาระบบเบิกจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาลมีความครบถ้วนในทุกมิติ สามารถอำนวยความสะดวกด้านการเบิกจ่ายตรง เพื่อให้การใช้จ่ายเงินภาครัฐเกิดประโยชน์สูงสุด มีความรวดเร็ว และโปร่งใส ดังนี้
1. การปรับรอบการประมวลผลข้อมูลการขึ้นสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล จากเดิมที่จะดำเนินการทุก 15 วัน เป็นการดำเนินการทุก 7 วัน เพื่อให้ผู้มีสิทธิได้รับความสะดวก รวดเร็ว ในการใช้สิทธิในระบบเบิกจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาลเพิ่มมากยิ่งขึ้น และคาดว่า จะเริ่มดำเนินการในรอบการขึ้นสิทธิข้อมูลในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป
2. การดำเนินการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยบูรณาการร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้ประชาชนไทยทุกกลุ่มมีสุขภาวะที่ดีห่างไกลจากโรค ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศลดลง และสามารถลดความซ้ำซ้อนของการเบิกจ่ายเงินระหว่างกองทุนสุขภาพ
3. การกำหนดอัตราการเบิกจ่ายค่ายา (Reimbursement Price) สำหรับยาสามัญที่สามารถทดแทนยาต้นแบบได้ และมีปริมาณการใช้เป็นจำนวนมาก เพื่อลดภาระงบประมาณ
4. การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับตรวจจับความผิดปกติของข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล
4. นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนากระบวนงานด้านต่าง ๆ
4.1 พัฒนาระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ หรือ New GFMIS Thai ซึ่งจะช่วยให้การเบิกเงินจากคลัง รับเงิน จ่ายเงิน และนำเงินส่งคลัง ของหน่วยงานภาครัฐมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รองรับจำนวนผู้ใช้งานในระบบที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถเชื่อมโยงกับระบบต่าง ๆ ได้มากขึ้น
โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 28 กันยายน 2566 การใช้งานในระบบ New GFMIS Thai สามารถรองรับหน่วยเบิกจ่ายในระบบทั้งสิ้น 16,434 หน่วยเบิกจ่าย (ที่ไม่ใช่ อปท. 8,583 หน่วยเบิกจ่าย และที่เป็น อปท. 7,851 หน่วยเบิกจ่าย) มีจำนวนผู้เข้าใช้งาน (User) ที่เข้าใช้งานในระบบเฉลี่ยต่อวัน จำนวน 18,713 Users และเข้าใช้งานพร้อมกัน (Concurrence) เฉลี่ยต่อวัน จำนวน 5,300 User และมีหน่วยงานต่างๆ เบิกจ่ายเงินผ่านระบบ New GFMIS Thai แล้ว เป็นจำนวนเงิน 3,072,404.65 ล้านบาท
4.2 พัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญและสวัสดิการรักษาพยาบาล หรือ Digital Pension ซึ่งเป็นการบูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐของกรมบัญชีกลาง โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบจ่ายตรงเงินเดือนและค่าจ้างประจำ (e-Payroll) กับระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้มีสิทธิรับเงินและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนลดกระบวนงานอนุมัติสั่งจ่าย การขอหนังสือรับรองสิทธิในบำเหน็จตกทอด เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ประกันการกู้เงิน
นอกจากนี้ ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพัฒนา Mobile Application ชื่อว่า “Digital Pension” เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ผู้รับบำนาญได้ติดตามข่าวสาร ตรวจสอบสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล ตรวจสอบหนังสือสั่งจ่ายบำเหน็จบำนาญ ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินในแต่ละเดือน รวมถึงตรวจสอบทะเบียนประวัติของตนเอง เช่น รายชื่อบุคคลในครอบครัว หรือรายชื่อผู้แสดงเจตนาระบุตัวผู้รับบำเหน็จตกทอดได้อีกด้วย
4.3 พัฒนาระบบการรับชำระเงินกลางของบริการภาครัฐ หรือ e-Payment Portal of Government เพื่อผลักดันให้ระบบการชำระเงินของประเทศไทยเข้าสู่ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร ซึ่งจะเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และลดต้นทุนในการทำธุรกรรมระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทางการเงินการคลังของส่วนราชการให้มีความถูกต้อง รวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้
ตลอดจนสามารถนำส่งเงินรายได้เข้าคลังได้อย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันมีส่วนราชการที่ใช้งานระบบการรับชำระเงินกลางฯ ครอบคลุมหน่วยงานที่มีสำนักงานในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค จำนวน 27 หน่วยงาน โดยมีการให้บริการในระบบฯ จำนวน 806 รายการ เช่น ค่าธรรมเนียมมัดจำรังวัด ค่าธรรมเนียมโรงงาน และ ค่าจดทะเบียนการค้า เป็นต้น
5. การดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงการคลัง
กรมบัญชีกลางได้จัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็น 2 รอบ ประกอบด้วย 1) หน่วยงานข้อมูลรายจ่ายและหนี้ (กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)/กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำของส่วนราชการ (กสจ.)/กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) /กรมส่งเสริมสหกรณ์) และ 2) กลุ่มสถาบันการเงินต่างๆ เกี่ยวกับหนี้และการโอนเงินเข้าบัญชี
โดยสรุปแนวทางการดำเนินงานเบื้องต้น ดังนี้
1. เป็นการเลือกโดยสมัครใจ
2. ให้ส่วนราชการผู้เบิกดำเนินการเดือนละ 1 รอบตามเดิม โดยปรับระยะเวลาในการส่งข้อมูลให้กรมบัญชีกลางผ่านระบบ e-Payroll เร็วขึ้น
3. กรมบัญชีกลางจะดำเนินการตรวจสอบและประมวลผลข้อมูลเงินเดือน โดยจะหักยอดรายจ่ายและหนี้ (กบข./กสจ./กยศ./ภาษี/สหกรณ์/หนี้สถาบันการเงิน) คงเหลือยอดสุทธิ นำมาหาร 2 และแบ่งจ่ายรอบ 1 และรอบ 2 เพื่อโอนเงินเข้าบัญชีให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ
4. กรมบัญชีกลางจะออกหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติให้ส่วนราชการดำเนินการตามแนวทาง รวมถึงจัดประชุมชี้แจงให้ส่วนราชการต่าง ๆ ได้รับทราบแนวทางปฏิบัติ และจัดฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2566 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจ่ายเงินเดือนให้แก่ข้าราชการรอบที่ 1 ในวันที่ 16 มกราคม 2567 และสำหรับลูกจ้างประจำคาดว่าจะเริ่มจ่ายได้ตั้งแต่ 18 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป
“นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางยังคงสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการเงินการคลังภาครัฐ โดยจัดให้มีการมอบรางวัลเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านการเงินการคลังของหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เช่น (1) รางวัลคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.) ดีเด่น ซึ่งเป็นการมอบรางวัลให้แก่คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานในกำกับของกระทรวงการคลังในส่วนภูมิภาค
โดยมีคลังจังหวัดเป็นประธาน ในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงการคลังสู่การปฏิบัติในส่วนภูมิภาคจนเกิดผลเป็นรูปธรรม (2) รางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ซึ่งมอบให้แก่ทุนหมุนเวียนที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น เป็นไปตามกรอบหลักเกณฑ์การพิจารณาและการประเมินผลการดำเนินงานของทุนหมุนเวียนในแต่ละปี
และ (3) รางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศในการบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่หน่วยงานที่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานตามขั้นตอนการบริหารด้านการเงินการคลัง 5 มิติ ได้แก่ มิติด้านการจัดซื้อจัดจ้าง มิติด้านการเบิกจ่าย มิติด้านการบัญชีภาครัฐ มิติด้านการตรวจสอบภายในภาครัฐ และมิติด้านปลอดความรับผิดทางละเมิด” โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าว
โฆษกกรมบัญชีกลางกล่าวย้ำในตอนท้ายว่า กรมบัญชีกลางยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนา ปรับปรุงระบบงานของกรมบัญชีกลางให้มีความทันสมัย สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่สำคัญยังต้องมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลังอย่างเต็มความสามารถ ภายใต้กฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และวิสัยทัศน์ “กำกับดูแลและบริหารการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด”