- Details
- Category: คลัง
- Published: Tuesday, 02 January 2018 23:37
- Hits: 10303
ชงมาตรการภาษีเที่ยวเมืองรอง หักลดหย่อน 1.5 หมื่นบาทชูคืนบัญชีพร้อมเพย์ก่อน
ไทยโพสต์ : อารีย์ * 'สรรพากร'จ่อชง ครม.เคาะมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง ชูนำค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท โยน ททท.ตีกรอบจังหวัดเมืองรองที่เข้าข่ายชูคืนภาษีผ่านระบบพร้อมเพย์สุดฉับไว
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในวันที่ 26 ธ.ค. เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยให้สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการท่องเที่ยวเมืองรอง อาทิ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าซื้อสินค้าโอท็อป เป็นต้น รวมกันแล้วไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทมาหักลดหย่อนภาษี ระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.2561 โดยใช้ใบเสร็จรับเงินจากผู้ประกอบการที่ไปรับบริการ หรือซื้อสินค้าเป็นหลักฐานเท่านั้น โดยมาตร การดังกล่าวเชื่อว่าจะช่วยสนับ สนุนให้ประชาชนที่อยู่ตามต่างจังหวัด โดยเฉพาะในเมืองรองมีรายได้เพิ่มขึ้น
สำหรับ จังหวัดเมืองรองที่เข้าข่ายมาตรการภาษีดังกล่าวนั้น ทางการท่องเที่ยวแห่งประ เทศไทย (ททท.) จะเป็นผู้กำ หนด โดยอาจมีบางอำเภอที่เข้าข่าย แม้จะอยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวหลักก็ตาม
"ยอมรับว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้จากเม็ดเงินภาษีบ้าง เบื้องต้นคาดว่าจะสูญเสียรายได้ไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วคุ้มค่า เพราะจะทำให้เกิดรายได้ที่กระจายไปทั่วประเทศโดยเฉพาะในเมืองรอง ซึ่งรากหญ้าก็จะได้ประโยชน์จากการมีรายได้เพิ่มขึ้น" นายประสงค์กล่าว
นอกจากนี้ กรมอยู่ระ หว่างการเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยได้หักเป็นค่าลดหย่อนเพิ่มขึ้นอีก 3 หมื่นบาท จากมาตรการเดิมที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อปีภาษี 2560 ที่ให้หักลดหย่อนบุตรได้ 3 หมื่นบาท รวมเป็น 6 หมื่นบาท สำหรับบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป และกำหนดให้ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนสำหรับรายจ่ายเป็นค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 6 หมื่นบาทต่อปี สำหรับการจ่ายตั้งแต่ 1 ม.ค.2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้คนไทยมีบุตรเพิ่มขึ้น
พร้อมกันนี้ กรมจะดำ เนินการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2560 ที่ยื่นขอคืนปี 2561 ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.2561 เข้าบัญชีผู้ยื่นภาษีผ่านระบบพร้อมเพย์เป็นลำดับแรก ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการได้รับคืนเงินภาษีรวดเร็วขึ้น ซึ่งทันทีที่ยื่นขอคืนภาษี ระบบจะวิเคราะห์แบบแสดงรายการภาษี หากไม่ติดเกณฑ์ หรือมีความผิดปกติ ก็จะได้รับเงินภาษีคืนเข้าบัญชีพร้อมเพย์ภายในไม่กี่นาที หรือช้าสุดไม่เกิน 1 วัน
"กรมจะโอนภาษีคืนเข้าบัญชีพร้อมเพย์เป็นลำดับแรก ไม่กี่นาทีก็ได้คืน ไม่ต้องรอถึงวัน ส่วนผู้ขอคืนภาษีที่ต้องการรับเงินคืนภาษีเป็นเช็คส่งไปรษณีย์แบบเดิมก็ยื่นขอได้ตามปกติ ซึ่งขั้นตอนระเบียบราชการไม่ต่ำกว่า 30 วัน" นายประสงค์กล่าว.
รมว.คลัง เตรียมชงแผนลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวปี 61 เข้าครม.เร็วๆนี้ เตรียมถกธปท.หามาตรการจูงใจแบงก์ไทยควบรวมกิจการ สู้แบงก์ตปท.
รมว.คลังเตรียมชงแผนลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวสำหรับปี 61 เข้าครม.เร็วๆนี้ ชี้เที่ยวเมืองรองตลอดทั้งปีลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท ส่วนมาตรการช่วยคนจนเฟส 2 คาดได้ข้อสรุปใน 1-2 สัปดาห์นี้ พร้อมเตือนลงทุนเงินบิทคอยน์ยังมีความเสี่ยงสูง ชี้ธปท.อยู่ในช่วงศึกษาผลกระทบต่อศก.ในประเทศ เตรียมถกธปท.หามาตรการจูงใจแบงก์พาณิชย์ไทยควบรวมกิจการ สู้แบงก์ตปท.ขนาดใหญ่ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในเร็วๆนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. พิจารณามาตรการหักลดหย่อนภาษีเพื่อการท่องเที่ยวหัวเมืองรอง โดยจะให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. เป็นผู้กำหนดว่าจะเป็นจังหวัดใดบ้าง โดยจะให้สิทธิการหักลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาทตลอดปี
“ภาษีท่องเที่ยวเราจะให้ทั้งปีเลยมาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท โดยททท.จะเป็นผู้ประกาศว่าจะเป็นพื้นที่ใดบ้าง โดยไม่จำเป็นต้องมีใบกำกับภาษี เพียงเป็นแค่ใบเสร็จการชำระเงินมาเป็นหลักฐานเพียงอย่างเดียว”นายอภิศักดิ์ กล่าว
ส่วนมาตรการช่วยผู้มีรายได้น้อยระยะที่ 2 นั้น ซึ่งหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอมาเรียบร้อยแล้ว แต่ยังมองว่า ยังมีเรื่องข้อปฏิบัติที่ต้องทำให้ได้ โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน เป็นต้น เพื่อหาข้อชัดเจนในทางปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งคาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้จะได้ข้อสรุป โดยเฉพาะการเก็บสถิติข้อมูลว่าจะสามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างไรบ้าง
นายอภิศักดิ์ กล่าวถึงกรณีบิตคอยน์ที่ขณะนี้เป็นกระแสที่พูดถึงกันทั่วโลก ว่า อยากเตือนนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับในเรื่องนี้ และมองว่า การลงทุนในบิทคอยน์ยังมีความเสี่ยงในเรื่องความผันผวน เนื่องจาก พบว่า บางช่วงเวลาเงินบิตคอยน์ผันผวนถึง 10% ซึ่งหากนักลงทุน หรือประชาชนที่ยังไม่มีความรู้อาจได้รับผลกระทบได้ ซึ่งขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยว่าจะมีอย่างไร
“แบงก์ชาติยังไม่ได้รับรองความปลอยภัย แต่ก็กำลังศึกษาว่าเงินบิทคอยน์จะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างไร ซึ่งผลศึกษายังไม่ออก และระบบแบงก์ไทยในปัจจุบันก็ยังไม่มีแบงก์ไหนเปิดการลงทุนในสกุลเงินดังกล่าว แต่ก็มีนักลงทุนบางกลุ่มไปลงทุนในสกุลเงินดังกล่าวในต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะ”นายอภิศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ นายอภิศักดิ์ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ปัจจุบันพบว่า มีหลายบริษัทที่กิจการเติบโตเร็วมาก ในขณะที่สถาบันการเงินเติบโตช้า ดังนั้นจึงมีแนวคิดอยากให้สถาบันการเงินหากมีโอกาส อาจควบรวมกันเป็นธนาคารขนาดใหญ่ได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าว ได้หารือกับธปท.แล้ว ซึ่งไม่ได้ขัดข้อง และในเบื้องต้นอาจให้สิทธิประโยชน์ในการจูงใจ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้ประกอบการ รวมถึงการแข่งขันกับสถาบันการเงินในต่างประเทศ
“ตอนนี้ยังไม่เห็นว่าจะมีแบงก์ไหน ที่มีแนวโน้มว่าจะควบรวมกิจการ แต่ก็ถ้าทำได้ก็ดี เพราะจะได้มีแบงก์ใหญ่ขึ้น แต่นโยบายเราก็ไม่ได้บังคับ ใครคิดจะทำก็ทำได้ ซึ่งตอนนี้แบงก์ชาติเองก็ไม่ได้ขัดข้องอะไร แต่ฐานของแบงก์เองก็มีเงื่อนไข เรื่องของการดำรงกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงด้วย ก็ให้ลองไปคิดดู”นายอภิศักดิ์ กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย