- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 23 December 2017 19:21
- Hits: 5788
ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรับเงินล้าน โครงการแจกโชคจากการใช้บัตรเดบิต ครั้งที่ 7
กระทรวงการคลังมอบโชคเงินล้านในโครงการแจกโชคจากการใช้บัตรเดบิตครั้งที่ 7 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนและผู้ประกอบการลดใช้เงินสดและปรับพฤติกรรมหันมาใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในการชำระสินค้าและบริการ
กระทรวงการคลังมอบโชคเงินล้านในโครงการแจกโชคจากการใช้บัตรเดบิตครั้งที่ 7 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนและผู้ประกอบการลดใช้เงินสดและปรับพฤติกรรมหันมาใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในการชำระสินค้าและบริการ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดในภาพรวมของประเทศ พร้อมทั้งช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดในอนาคต โดยตั้งแต่ดำเนินโครงการ มีกระแสตอบรับที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยจำนวนครั้งการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตโดยเฉลี่ยต่อเดือนขยายตัวในอัตราสูงและมูลค่าการใช้จ่ายต่อรายการโดยเฉลี่ยลดลง สะท้อนพฤติกรรมการของประชาชนที่มีแนวโน้มหันมาใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตในรายการย่อยในชีวิตประจำวันมากขึ้น อีกทั้ง มีการกระจายวางเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้โครงการนี้อย่างต่อเนื่อง
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การแจกโชคจากการใช้บัตรเดบิตประจำเดือนธันวาคม2560(ข้อมูลการใช้จ่ายเดือนพฤศจิกายน 2560) ได้ขยายสิทธิ์เป็นครั้งแรกไปถึงผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 11.4 ล้านคน ให้สามารถลุ้นโชคได้โดยการใช้จ่ายผ่านบัตร 1 ครั้ง เท่ากับ 1 สิทธิ์ สำหรับผู้ที่ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบการเกษตร (ไม่รวมค่าใช้จ่ายในสวัสดิการเดินทางผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) และเป็นที่น่ายินดีกับผู้มีรายได้น้อยที่ใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคือ คุณเหน็ง คำจำรัส เป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลที่ 1 มูลค่า 1,000,000 บาท ในส่วนของร้านค้าที่ได้รับรางวัลที่ 1 มูลค่า 1,000,000 บาท คือร้านคุณสมคิด แก่นนอก ซึ่งเป็นร้านค้าที่รับชำระเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นอกจากนี้ ได้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์ได้รับรางวัลอื่นๆ บนเว็บไซต์ www.epayment.go.th โดยธนาคารจะติดต่อผู้มีสิทธิ์ได้รับรางวัลโดยตรงต่อไป
ทั้งนี้ โครงการแจกโชคจากการใช้บัตรเดบิตมีกำหนดการแจกโชคทุกเดือนเป็นระยะเวลา 1 ปี (เดือนมิถุนายน 2560 ถึงเดือนพฤษภาคม 2561) รวมเงินรางวัล 84 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งในแต่ละเดือนผู้ใช้บัตรเดบิตจะมีรางวัลสูงสุด 1,000,000 บาท 1 รางวัล และรางวัลอื่น ๆ ลดหลั่นกันลงมาตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 2,000 บาท รวมทั้งสิ้น 1,001 รางวัล ในส่วนของร้านค้าจะมีรางวัลสูงสุด 1,000,000 บาท 1 รางวัล และมีรางวัลย่อยรางวัลละ 30,000 บาท อีก 5-30 รางวัลต่อเดือน
เลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการการให้ความรู้และส่งเสริมธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โทร 02 273 9020 ต่อ 3289 3229 และ 3315
กรมบัญชีกลางเผยยอดการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กว่า 8,651 ล้านบาท
กรมบัญชีกลางเผยยอดการใช้จ่ายเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม – 17 ธันวาคม 2560 เป็นยอดเงิน 8,651 ล้านบาท พร้อมเร่งติดตั้งเครื่อง EDC ร้านก๊าซหุงต้มให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2560 นี้
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้แจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้มีสิทธิอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้มีสิทธิได้ใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มมากขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 17 ธันวาคม 2560 กรมบัญชีกลางได้จ่ายเงินแล้วเป็นเงินกว่า 8,651 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการจ่ายให้ร้านธงฟ้าประชารัฐ เป็นเงินกว่า 8,603 ล้านบาท จ่ายเป็นค่าซื้อก๊าซหุงต้ม เป็นเงิน 2.14 ล้านบาท ค่าโดยสารรถ บขส. เป็นเงิน 19.69 ล้านบาท และค่าโดยสารรถไฟ เป็นเงิน 25.97 ล้านบาท
สำหรับ ความคืบหน้าในการติดตั้งเครื่อง EDC นั้น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ติดตั้งเครื่องที่ร้านธงฟ้าประชารัฐครอบคลุมทุกตำบลรวมทั้งรถโมบายแล้ว จำนวนกว่า 18,000 เครื่อง และได้ติดตั้งเครื่อง EDC ให้กับร้านก๊าซหุงต้ม จำนวน 819 ร้านค้า จากจำนวน 984 ร้านค้า (ข้อมูลที่ได้รับจากกระทรวงพลังงานครบถ้วนพร้อมติดตั้ง) ส่งคืนข้อมูลร้านค้าก๊าซหุงต้มที่ไม่ครบถ้วนถูกต้องให้กระทรวงพลังงานปรับปรุงแก้ไข จำนวน 1,386 ร้านค้า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 และวันที่ 6 ธันวาคม 2560 แล้ว ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้แจ้งให้กระทรวงพลังงานเร่งแก้ไขข้อมูลพร้อมทั้งจัดส่งข้อมูลของร้านก๊าซหุงต้มที่พร้อมติดตั้งเครื่อง EDC กลับมายังกรมบัญชีกลางโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถติดตั้งได้ครบตามเป้าหมายจำนวน 7,000 เครื่อง ภายในเดือนธันวาคม 2560 นี้
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า การให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้แก่ผู้มีสิทธิ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีสิทธิได้อย่างยั่งยืน และยังช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่มากขึ้นด้วย