- Details
- Category: คลัง
- Published: Sunday, 17 December 2017 20:21
- Hits: 1410
จ่อลดภาษีท่องเที่ยวคลังเล็งชงครม.หักได้ 1.5 หมื่นบ.
แนวหน้า : นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในเดือนธันวาคม 2560 นี้ กระทรวงการคลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง หลังจากได้มีการหารือ และสรุปแล้วเบื้องต้นกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) โดยจะให้สิทธินำรายจ่ายจริงที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2561 หรือท่องเที่ยวตั้งแต่ปีหน้า มาหักลดหย่อนภาษีได้ แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
สำหรับ เงื่อนไขจะใช้เพียงใบเสร็จรับเงินเท่านั้นที่จะนำมาแสดงเป็นหลักฐานต่อกรมสรรพากร ไม่เหมือนกับมาตรการ ช็อปช่วยชาติ หรือมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวอื่นที่ต้องใช้ ใบกำกับภาษีรูปแบบเต็มเท่านั้น เนื่องจากบางร้านค้าในเมืองรอง เป็นร้านเล็กๆ ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งต้องการ ช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมและร้านค้าตามเมืองรอง เพื่อกระจาย รายได้ไปสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ
นอกจากนี้ ทาง ททท.จะต้องกำหนดและประกาศออกมาว่าจังหวัดใด เมืองใด ที่เป็นสถานที่ที่ท่องเที่ยวแล้วได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษี ซึ่งจะต้องพิจารณาจากนักท่องเที่ยว ที่ท่องเที่ยวว่ามีจำนวนมากเท่าไร เพราะกรมสรรพากรไม่มีข้อมูลด้านการท่องเที่ยว และเพื่อเป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติให้มีความชัดเจน
"กระทรวงการคลังจะเร่งเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาโดยเร็ว เพื่อให้ทันการท่องเที่ยวปี 2561 โดยให้สิทธิลดหย่อนภาษีในวงเงินไม่เกิน 15,000 บาท"นายอภิศักดิ์ กล่าว
รมว.คลัง ยังกล่าวถึงขณะที่โครงการสวัสดิการ แห่งรัฐ ระยะที่ 2 ของผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียน หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารายงานเบื้องต้นแล้ว คาดว่า จะมีการเสนอครม.ในเดือนธันวาคมนี้ เช่นเดียวกัน เพื่อให้สามารถเริ่มโครงการระยะที่ 2 ได้ทันที ในปี 2561 โดยจะเป็นสวัสดิการที่พัฒนาคน ฝึกอาชีพ และสร้างรายได้ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและ หลุดพ้นความยากจน
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำถึงแนวทางการปฏิบัติ เมื่อสวัสดิการ ระยะที่ 2 ออกมาจะต้องทำให้ปฏิบัติได้ ไม่ใช่แค่เป็นเพียงทฤษฎี จึงได้สั่งการให้กระทรวง การคลังหารือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และกระทรวงพาณิชย์ เพิ่มเติม รวมทั้งสวัสดิการ ที่ออกมาต้องให้ผู้มีรายได้น้อยได้พัฒนาตนเอง และต้องมีการเก็บสถิติว่าทำได้จริงแค่ไหน
นายอภิศักดิ์ ยังกล่าวเตือนประชาชนที่ลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล "บิทคอยท์" ว่า เป็นการเล่นพนัน เพราะเป็นการแทงว่า ค่าเงินจะขึ้นหรือลง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กำลังศึกษาอยู่ว่าหากมีการลงทุนในลักษณะนี้จะเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจหรือไม่ ซึ่งผลการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ และเบื้องต้น ธปท. ยังไม่รับรองบิทคอยท์ หรือสกุลเงินดิจิทัลอื่น เป็นเงินที่ใช้ในการชำระหนี้ตามกฎหมายได้
"เป็นเหมือนการพนัน ยังไม่มีใครที่รู้จริงๆ จังๆ กันเท่าไร ซึ่งทาง ธปท. ยังไม่รับรองว่า ซื้อขายได้ตามกฎหมาย กระทรวงการคลังก็มีหน้าที่ต้องเตือนประชาชน หากอยากลงทุนก็ให้ไปลงทุนผ่านกองทุนหรือซื้อหุ้น จะดีกว่า พยายามอย่าไปซื้ออะไรที่ยังไม่เข้าใจ" นายอภิศักดิ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหลายที่พัฒนารูปแบบเงินดิจิทัล เช่น ประเทศสิงคโปร์ ที่การกำหนดสกุลเงินดิจิทัลในการทำธุรกรรมระหว่างแบงก์ชาติกับสถาบันการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกในการโอนเงินทำธุรกรรมระหว่างองค์กรต่อองค์กรเท่านั้น ยังไม่มีการใช้กันในระหว่างประชาชน แต่ในอนาคตเมื่อมีการ พัฒนารูปแบบที่เหมาะสมก็อาจเปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้ได้