WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สศค.โชว์เศรษฐกิจฟื้นแล้วตัวเลขสวยหมดเร่งเบิกจ่ายกระตุ้นใช้เงินต่อเนื่อง

      บ้านเมือง : สศค. โชว์สัญญาณปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หลัง คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ปลดล็อกประเทศ-ดึงเชื่อมั่นบริโภคลงทุนเอกชนคัมแบ็ก ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐเร่งตัวดีต่อเนื่อง ดันเศรษฐกิจชาติผงกหัว มั่นใจจีดีพีไตรมาส 3 ขยายตัวดีแน่นอน พร้อมแนะที่เหลือของปี ต้องเร่งเบิกจ่ายงบ-ทำแผนลงทุนภาครัฐให้ชัดเจน ด้าน ธปท.คาด GDP ปีนี้มีโอกาสโตเกิน 1.5% หากครึ่ง ปีหลัง โตสูงกว่า 4%

    นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจการคลัง ประจำเดือน ก.ค.57 ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนล่าสุด เริ่มมีสัญญาณปรับตัวไปในทิศทางดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ในส่วนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรม สำหรับอุปสงค์จากต่างประเทศ พบว่ามูลค่าการส่งออกหักสินค้าในหมวดทองคำขยายตัวได้เล็กน้อย แม้การส่งออกสินค้าโดยรวมกลับมาหดตัวอีกครั้ง ส่วนเสถียรภาพของเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกยังคงแข็งแกร่ง

    "เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค. ซึ่งถือเป็นเดือนแรกของไตรมาสที่ 3 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ และเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากเดิมที่คาดว่าภาคการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น แต่ข้อเท็จจริงกลายเป็นปัจจัยภายในประเทศที่เริ่มปลดล็อกและสามารถเดินหน้า การเมืองผ่อนคลาย ส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นด้านการบริโภค รวมถึงการใช้จ่ายเงินภาครัฐเร่งตัวดีขึ้น ดังนั้น ในภาพรวม สศค.จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 จะเร่งขึ้นและเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 แต่ สศค.ก็ต้องจับตาดูสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป" นายเอกนิติ กล่าว

    นายเอกนิติ กล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2557 การเร่งรัดเบิกจ่ายเม็ดเงินภาครัฐถือเป็นสิ่งสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยขณะนี้ สศค.กำลังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการปลดล็อกในด้านการเบิกจ่ายเงินภาครัฐ

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ 2558 เพื่อทำให้เงินที่มีอยู่นั้น สามารถออกสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน การเร่งดำเนินการทำแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ให้มีความชัดเจนทั้งในส่วนของโครงการลงทุน และแผนการเบิกจ่ายเม็ดเงิน ก็จะยิ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนให้เดินหน้าลงทุนตามเช่นเดียวกัน โดยในปีนี้ สศค.ยังเชื่อว่าการส่งออกทั้งปี น่าจะยังอยู่ที่ 1.5%

    นอกจากนั้น ด้านเสถียรภาพในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่เสถียรภาพต่างประเทศยังคงแข็งแกร่งโดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.2% ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศที่อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งนั้น สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 169.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.7 เท่า สามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้

     นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ ธปท.ยังคงประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจปี 57 ไว้ที่ 1.5% และมีโอกาสที่จะปรับประมาณการได้หากเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 57 เติบโตได้ในระดับ 4% ซึ่งจากการติดตาม ธปท.มีความเชื่อมั่นว่าภาวะเศรษฐกิจในช่วง 4 ไตรมาสหลังจากนี้ หรือช่วงไตรมาส 3-4/57 และไตรมาส 1-2/58 ก็มีแนวโน้มที่ขยายตัวต่อเนื่องในระดับ 4-5% และจะมีการปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจใหม่เพิ่มขึ้นหรือไม่ คงจะต้องรอผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบเดือน ก.ย.57

    สำหรับ การปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการคลังเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น นโยบายด้านภาษี ตามความเห็นของนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.นั้น มีปัจจัยที่ต้องติดตาม 2 เรื่อง คือ 1.เรื่องของระยะเวลาการปรับนโยบาย และ 2.ภาพรวมทั้งแพ็คเกจนโยบายว่าจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไร หากมีการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการคลัง ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นก็อาจจะมีผลกระทบไม่มากนัก

     ขณะนี้ มีปัจจัยที่ต้องเป็นห่วง 2 เรื่อง คือ ปัจจัยเศรษฐกิจภายนอกประเทศที่ประเทศต่างๆ เริ่มมีการฟื้นตัว ส่งผลให้อาจเริ่มมีการเคลื่อนย้ายเงินทุน และ 2.ปัญหาเรื่องหนี้สินภาคครัวเรือน ที่ขณะนี้เกิดการกังวลเกินกว่าเหตุ โดยขณะนี้ปัญหาดังกล่าวอยู่ในช่วงคลี่คลาย เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ขณะที่นโยบายสนับสนุนให้ประชาชนใช้จ่ายก็หมดไปแล้ว

    ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท.ได้พบปะหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักลงทุนต่างชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ ก็ได้มีการสอบถามถึงทิศทางเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไป และต้องการให้นโยบายสนับสนุนมีความต่อเนื่อง รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งได้ชี้แจงว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงที่สามารถปฏิรูประบบต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ ธปท.ก็จะดูแลเรื่องของเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจและการเงินให้มีความเหมาะสม

    ส่วนนโยบายลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อลดราคาน้ำมันขายปลีกนั้น จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน และไม่ได้มีนัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมากนัก เพราะเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้อยู่แล้ว แต่ก็อาจจะส่งผลในแง่ของการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!