- Details
- Category: คลัง
- Published: Thursday, 19 October 2017 16:56
- Hits: 2272
คลัง เผย สนช.เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝากแล้ว มีเงินอยู่ในกองทุนคุ้มครองเงินฝากรวม 1.2 แสนลบ.
คลังเผย สนช.เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝากแล้ว เผยอยู่ระหว่างรอลงราชกิจจาฯ ชี้จะลดเวลาคืนเงินจาก 120-160 วัน เหลือ 30 วันหากแบงก์ล้ม ระบุปัจจุบันปัจจุบันมีเงินอยู่ในกองทุนคุ้มครองเงินฝากรวม 1.2 แสนลบ. ชี้แบงก์ที่เป็นสมาชิกส่งเข้ากองทุนฯ 1,200 ล้านบาทต่อปี ยันสถาบันการเงินไทยยังแกร่ง แต่ต้องใช้กฎหมายนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน - สร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสถาบันการเงิน
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. วาระ 2 และ 3 แล้ว และได้รับความเห็นชอบให้ตราเป็นกฎหมายในการประชุม สนช. เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนี้รอลงราชกิจจาฯ ก่อนประกาศใช้ในลำดับต่อไป
สำหรับ กฎหมายดังกล่าวนั้นมีมาตราทั้งสิ้น 11 มาตรา โดยแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝากและขั้นตอนกระบวนการจ่ายคืนเงินฝากให้แก่ผู้ฝากเงิน ในกรณีที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาตให้มีความเหมาะสมและก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากขึ้น ประกอบด้วย การยกเลิกกระบวนการให้ผู้ฝากเงินต้องยื่นคำขอรับเงินภายหลังจากที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะจ่ายคืนเงินฝากแก่ผู้ฝากเงินภายใน 30 วันหลังจากที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต จากเดิมที่กระบวนการจ่ายเงินจะใช้เวลา 120-160 วัน
นอกจากนี้ เงินฝากที่จ่ายคืนแก่ผู้ฝากเงิน หากผู้ฝากเงินมีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระเป็นจำนวนแน่นอนก่อนหรือในวันที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอน ให้ สคฝ. มีอำนาจหักหนี้ดังกล่าวออกก่อนการจ่ายคืนเงินฝากแก่ผู้ฝากเงิน และกำหนดให้ สคฝ. มีอำนาจกู้ยืมเงินโดยตรง นอกจากการออกตราสารทางการเงิน เพื่อให้มีแหล่งเงินเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการจ่ายคืนผู้ฝากเงิน และการดำเนินการอื่นๆตามพันธกิจ
สำหรับ ปัจจุบันมีเงินอยู่ในกองทุนคุ้มครองเงินฝากทั้งสิ้น 120,000 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการเก็บจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 2551 โดยปัจจุบันเรียกเก็บในอัตรา 0.01% หรือที่ประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี
“ขณะนี้ยืนยันว่า การออกกฎหมายดังกล่าว ไม่ใช่เพราะว่าสถาบันการเงินมีปัญหา แต่เพราะเป็นขั้นตอนที่เราเตรียมการแล้ว และยืนยันว่า การตรากฎหมายนี้ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่า หากสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต จะสามารถจ่ายเงินคืนแก่ผู้ฝากเงิน และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสถาบันการเงินแห่งอื่นๆได้ด้วย รวมถึงสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสถาบันการเงินด้วย”นายพรชัย กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย