WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOF พรชย ฐระเวชสศค.เผย ณ สิ้นก.ย. 60 มีบ.ยื่นขอทำพิโกไฟแนนซ์ 369 ราย ได้ใบอนุญาตแล้ว 153 ราย - ยอดสินเชื่อคงค้าง 55.12 ลบ.

      คลัง รายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือนกันยายน 2560 ชี้ มีบ.ยื่นขอทำพิโกไฟแนนซ์ 369 ราย ได้ใบอนุญาตแล้ว 153 ราย ใน 46 จังหวัด ยอดสินเชื่อคงค้าง 1,733 บัญชี เป็นเงิน 55.12 ล้านบาท จับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับสินเชื่อผิดกฎหมาย 1,499 คน

        นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือนกันยายน 2560 ว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้แก่ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลมีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของลูกหนี้นอกระบบ ผ่านสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) และสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

        สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ได้รับความสนใจจากภาคประชาชนเป็นอย่างมาก และมีการกระจายตัวครอบคลุมเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ซึ่งกระทรวงการคลังเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ถึงสิ้นเดือนกันยายน 2560 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาต 369 ราย ใน 63 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุดตามลำดับ ได้แก่ นครราชสีมา 40 ราย กรุงเทพมหานคร 32 ราย และร้อยเอ็ด 27 ราย ทั้งนี้ มีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว 153 ราย ใน 46 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้ ได้เปิดดำเนินการแล้ว 83 ราย ใน 36 จังหวัด และมีผู้ปล่อยสินเชื่อแล้ว 51 ราย ใน 32 จังหวัด

       ในด้านการปล่อยสินเชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถปล่อยสินเชื่อได้ภายในเขตจังหวัดให้แก่ผู้มีภูมิลำเนาหรือ ถิ่นที่อยู่ภายในจังหวัดนั้น ๆ วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี (Effective Rate) ทั้งนี้ ณ เดือนสิงหาคม 2560 มีสินเชื่ออนุมัติสะสม 1,859 บัญชี เป็นเงิน 58.58 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย 31,513.61 บาทต่อบัญชี โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 97.23 ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

         การอนุมัติสินเชื่อประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกัน 1,336 บัญชี เป็นเงิน 42.91 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 73.25 ของจำนวนสินเชื่อที่อนุมัติ และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน 523 บัญชี เป็นเงิน 15.67 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 26.75 ของจำนวนสินเชื่อที่อนุมัติ โดยมียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,733 บัญชี เป็นเงิน 55.12 ล้านบาท  อย่างไรก็ดีมีสินเชื่อที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน จำนวน 65 บัญชี เป็นเงิน 2.27 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.12 ของสินเชื่อคงค้างรวม ทั้งนี้ ยังไม่มีสถิติสินเชื่อค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน (NPL)

        อนึ่ง สำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะเริ่มลงพื้นที่ตรวจสอบและให้คำแนะนำการประกอบธุรกิจของผู้ได้รับอนุญาต ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมาตรฐาน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของกระทรวงการคลังต่อไป

        สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้อนุมัติสินเชื่อเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินให้เป็นทางเลือกของประชาชนในการเข้าถึง แหล่งเงินทุนในระบบแทนหนี้นอกระบบ รายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.85 ต่อเดือน โดยได้เร่งกระจายความช่วยเหลือด้านสินเชื่อดังกล่าวแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ  ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 มีการอนุมัติสินเชื่อรวม 150,226 ราย เป็นเงิน 6,791.73 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 67.92 ของวงเงินโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจำนวน 10,000 ล้านบาท สามารถจำแนกเป็นสินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชนทั่วไป 97,414 ราย เป็นเงิน 4,336.01 ล้านบาท และสินเชื่อที่อนุมัติแก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 จำนวน 52,812 ราย เป็นเงิน 2,455.72 ล้านบาท

       การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่องโดยผลการดำเนินการสะสมของปีงบประมาณ 2560 ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2560 มีการจับกุมผู้กระทำผิด 1,499 คน

        การขับเคลื่อนกลไกการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน กระทรวงการคลังได้ลงพื้นที่ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัด คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจำจังหวัด และหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง ตลอดจนได้เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์แก่บริษัทห้างร้านและประชาชนทั่วไป โดยได้มีการลงพื้นที่ดังกล่าวครอบคลุมจังหวัด 19 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุดรธานี พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว สระบุรี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ศรีสะเกษ หนองคาย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ  นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการทุกจังหวัดในการกำหนดให้นโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระงานสำคัญของจังหวัดอีกด้วย

       ทั้งนี้ ประชาชนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบสามารถพิจารณาสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เป็นแหล่งทุนทางเลือกทดแทนหนี้นอกระบบ โดยตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการแล้วในปัจจุบัน ได้จากเว็บไซต์ www.1359.go.th ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือแก้ไขปัญหา

         หนี้นอกระบบได้ ณ สาขาของธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ ซึ่งจะมีการให้คำปรึกษาแนะนำตลอดจนพิจารณาความช่วยเหลือด้วยสินเชื่อของธนาคารในเบื้องต้น แต่หากพบว่ามีหนี้นอกระบบที่ไม่เป็นธรรมหรือประชาชนรายใดยังขาดศักยภาพในการชำระหนี้ ธนาคารจะประสานความช่วยเหลือด้านการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบให้เกิดความเป็นธรรม หรือจะประสานความช่วยเหลือด้านการฟื้นฟูอาชีพและสร้างรายได้ ไปยังคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัดแต่ละจังหวัดต่อไป

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!